นิยายโรงงานปลากระป๋อง ตอนที่ 1 – 179

ย้อนรอยวิกฤติ 10 ปี: นิยายในตำนาน “โรงงานปลากระป๋อง” หรือ “นิยายยายไฮ” (แจก pdf รวมครบทุกตอน)
เมื่อเร็วๆนี้ ผมนั่งนึกอะไรเรื่อยเปื่อย แล้วก็นึกขึ้นมาถึง “นิยายในตำนาน” เรื่องนี้
ความจริง ตั้งแต่หลังรัฐประหารครั้งหลังมา ผมก็นึกถึงเป็นพักๆ ในแง่ที่ว่า แปลกใจเหมือนกันว่า คสช ตามไล่ล่ากวาดจับแทบทุกกรณีที่เกี่ยวกับเรื่องหมิ่นฯ (คฑาวุธ, บรรพต และอีกหลายกรณี) แต่ไม่ยักมีข่าวการตามจับเรื่องนี้ หรือว่า (ก) คสช ไม่รู้จัก (ข) รู้จัก แต่ตามล่าไม่ได้ หรือ (ค) เป็นไปตามที่มีการลือๆกันว่า คนเขียน “เส้นใหญ่”? (ที่พูดนี้ ไม่ได้ต้องการให้ คสช ตามจับตัวคนเขียนมานะครับ ตามจับไม่ได้ หรือไม่รู้จักก็ดีแล้ว แต่ยอมรับว่า อดแปลกใจไม่ได้เหมือนกัน)
สำหรับท่านที่ไม่รู้จัก “นิยาย” เรื่องนี้เลย นี่เป็นข้อเขียนในลักษณะที่กึ่งเรื่องจริง กึ่งเรื่องแต่ง ที่โพสต์ทางบอร์ด “ฟ้าเดียวกัน” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อบอร์ดเป็น “คนเหมือนกัน”) แบบเป็นตอนๆ สมัยที่โพสต์ประจำมีคนติดกันเยอะมาก ถึงขนาดว่า ช่วงที่มีการโพสต์ประจำทุกวันหรือแทบทุกวัน จะมีคนมาเฝ้าออนไลน์เพื่อรออ่านเป็นพันๆคน (มีตัวเลขจำนวนคนออนไลน์ขึ้นมาให้เห็น) “ยอดวิว” ในช่วงท้ายๆก่อนที่บอร์ดจะเลิกไป สูงกว่าล้านครั้ง – เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า นี่เป็นกระทู้เว็บบอร์ดที่ยอดวิวสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ (ถ้าผมจำไม่ผิด “ยอดวิว” คร้้งสุดท้าย อาจจะมากถึงกว่า 3 ล้าน แต่ระบบนับ “ยอดวิว” ของบอร์ด “ฟ้าเดียวกัน-คนเหมือนกัน” มีลักษณะ “หลอกตา” อยู่เหมือนกัน คือถ้าเป็นกระทู้ที่ต่อเนื่องยาวๆหลายหน้า – ซึ่งกระทู้นี้ สุดท้ายยาวกว่าร้อยหน้า – ทุกครั้งที่มีการ “วิว” มันจะนับรวมพร้อมกันทุกหน้า ดังนั้น ตัวเลข “ยอดวิว” จะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการวิวที่เป็นจริงอยู่เยอะเหมือนกัน แต่ต่อให้เอาปัจจัยนี้เข้ามาพิจารณา การวิวจริงก็ยังสูงมากเป็นประวัติการณ์อยู่นั่นเอง)
ที่ว่า “กึ่งเรื่องจริง กึ่งเรื่องแต่ง” คือ คนเขียนเล่าในลักษณะใช้ “ชื่อปลอม” เช่น “ลุง” “ป้า” “จ่า” “เมพ” ฯลฯ แต่ทุกคนที่อ่านก็รู้ดีว่า กำลังพูดถึงในหลวง พระราชินี พระบรมฯ พระเทพ ฯลฯ หรือ “โรงงาน” หมายถึงประเทศไทย “ลูกจ้าง” หมายถึงประชาชน “ผู้จัดการคนก่อน” (หรือ “แมว”) หมายถึง ทักษิณ ฯลฯ
ข้อเขียนหรือที่เรียกกันว่า “นิยาย” นี้ เริ่มปรากฏครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 เมื่อมีผู้ใช้ชื่อล็อคอินว่า “Hi s” โพสต์ “กระทู้” ทางบอร์ดฟ้าเดียวกันในชื่อกระทู้ว่า “รายงานความคืบหน้าอาการป่วยของ xxx” นี่คือระยะเริ่มต้นที่ในหลวงเริ่มพระอาการประชวรยืดเยื้อและเข้ารับการรักษาที่ศิริราช คำว่า xxx ในชื่อและเนื้อหาของกระทู้ก็หมายถึงในหลวงนั่นเอง ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ผมเองเป็นคนเริ่มใช้การเขียนแบบนี้ก่อนทางบอร์ดฟ้าเดียวกัน โดยแทนในหลวงว่า xxx แทนพระราชินีว่า yyy ต่อมาคนที่มาเขียนทางเว็บบอร์ดดังกล่าว ก็หันมาใช้กันโดยแพร่หลาย ในแง่นี้ การที่มีใครมาตั้งกระทู้แบบนี้ ก็ไม่ถึงกับเป็นอะไรที่แปลกพิเศษนัก (มีกระทู้ที่ตั้งโดยมีคำว่า xxx ในชื่อกระทู้หลายอัน) แต่ว่าภายในเวลาอันรวดเร็ว ชาวบอร์ดก็เริ่มรู้กันว่า กระทู้นี้เป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน คือมีลักษณะเป็นทำนอง “ข้อมูลวงใน” ทั้งในเรื่องอาการป่วยของในหลวงเอง (ป่วยอะไรบ้าง หาหมอชื่ออะไร ฯลฯ) ไปจนถึงเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวในครอบครัวระหว่างเจ้าองค์ต่างๆ (ผมเองซึ่งเป็นคนเขียนเรื่องเกี่ยวกับเจ้าเป็นหลักที่บอร์ด ไม่เขียนถึงประเด็นเหล่านี้)
ในช่วง 10 วันแรกหลังการเริ่มกระทู้ คือจนถึงต้นเดือนตุลาคม (ยกเว้นวันที่ 29 กันยายน) ผู้เขียนได้เข้ามาล็อคอินเขียนทุกวัน (ที่ว่า “นิยาย” นี้มีลักษณะเป็น “ตอนๆ” คือแต่ละครั้งที่มีล็อคอินและโพสต์ใหม่) หลังจากนั้น ก็เริ่มมีการเว้นระหว่างแต่ละครั้งบ้าง วันเว้นวันหรือเว้น 2-3 วันบ้าง แต่โดยรวมแล้ว ตลอดเดือนตุลาคมก็ยังเป็นการโพสต์ในลักษณะเกือบทุกวัน (บางวันมากกว่า 1 ครั้ง)
เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม ผู้เขียนได้หันมาใช้ “ชื่อ” แทนตัวอักษร เช่น “สมชาย” (แทน xxx) หรือ “รัศมีจันทร์” (ที่การโพสต์ในเดือนนั้นเกือบทั้งหมดเป็นการเล่าเรื่องของเธอ) ซึ่งคนอ่านทุกคนรู้ว่าหมายถึงหม่อมศรีรัศมิ์ในขณะน้้น หรือ “จูลี่” ซึ่งคนอ่านรู้ว่าหมายถึงทูลกระหม่อมอุบลรัตน์ – ลักษณะการสมมุติชื่อขึ้นมาแทนตัวคนจริงๆนี้ จะกลายเป็น “เสน่ห์” สนุกๆของข้อเขียนนี้ คือบางครั้งที่มี “ตัวละคร” เพิ่มขึ้นมา แล้วชื่อที่ตั้งไม่สามารถเห็นชัดทันทีว่าหมายถึงใคร ก็จะมีการเดา-ถามๆกันว่า ผู้เขียนกำลังพูดถึงใคร ปลายเดือนธันวาคม มีการกลับไปใช้คำ xxx อีกเป็นช่วงสั้นๆ (แทน “สมชาย”) แต่จากกลางเดือนมกราคม 2553 เป็นต้นไป ก็หันไปใช้คำว่า “ลุง” และคำนี้จะกลายเป็นคำเรียกในหลวงประจำไปตลอดที่เหลือของ “นิยาย” นี้
ความ “ดัง” ของ “นิยายยายไฮ” (นี่คือชื่อที่ชาวเว็บบอร์ดเริ่มหันมาเรียกกัน โดยเอามาจากชื่อล็อคอินคนเขียน “Hi s”) โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2553 มีมากขนาดไหน นอกจากดูที่ยอดวิวและยอดผู้มาคอย “เฝ้ากระทู้” ตามอ่านเป็นประวัติการณ์แล้ว ยังแสดงออกในที่ที่ไม่คาดคิดด้วย วันที่ 13 สิงหาคมปีนั้น “ปอง” อัญชะลี ไพรีรัก ได้เขียนในคอลัมภ์ “เด็ดดอกไม้รายทาง” ของเธอใน นสพ.ผู้จัดการ โดยขึ้นหัวชื่อข้อเขียนในวันนั้นว่า “โรงงานปลากระป๋อง” (ขณะนี้ ไม่สามารถเข้าถึงบทความดังกล่าวทางออนไลน์ได้แล้ว ผมได้แค็พเช่อร์เป็นรูปมาแสดงให้ดู ตัวหนังสืออาจจะเล็กหน่อย แต่น่าจะพออ่านได้) เธอได้บรรยายถึง “นวนิยายใต้ดิน ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างสูงในสังคมออนไลน์” เรื่องนี้ ดังนี้
นวนิยายเรื่องนี้ใช้วิธีการเขียนเหมือนข่าวซุบซิบ ด้วยการผูกเรื่องราวของคนดังผู้มีชีวิตจริงๆในสังคมไทย มาผสมกับเรื่องจินตนาการที่เคยซุกซ่อนตามซอกตามพรม แล้วนำมาปะติดปะต่อกันจนคนอ่านเข้าใจไปได้ว่า นี่คือเรื่องจริงแสนลึกที่ล้วงมาให้รู้ เป็นความลับหลังม่านไทรทองของคนชนชั้นสูงที่ถูกปิดบังมาช้านาน และกาลเวลาพาเรื่องจริงมาตีแผ่เพื่อให้สังคมไทยได้รู้ว่า [...] คนพวกนี้ใช้ชีวิตเหลวแหลกน่าขยะแขยงไม่ได้ดีเด่อะไรอย่างที่เคยเคลือบไว้ให้พวกเราได้ชื่นชม [...]

ตัวละครในโรงงานปลากระป๋องจึงใช้เรื่องจริงปนข่าวลือและมีชื่อคนจริงๆ ยศถาบรรดาศักดิ์จริง ทุกคนล้วนเป็นคนในชนชั้นที่ผู้เขียนสาธยายว่า “ผู้ดีแแปดสาแหรก เก้าไม้คาน” แต่ก็มีที่ตัวละครบางตัวใหญ่โตโอ่อ่ามากมาย จนต้องหยิบบุคคลิกมาผสมกับ “นามสัญลักษณ์” ที่พยายามอธิบายความมีตัวตนเสียจนคนอ่านสามารถนึกไปได้ว่า เป็นคน...คนนั้นจริงๆ...เข้าใจว่าผู้เขียนคงเกรงขามในบุญบารมีจนมิกล้าแม้จะระบุ “ชื่อจริง”
ฉากหลักของโรงงานปลากระป๋อง จึงเป็นอาคารสูงของโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง [...]
ความน่าสนุกของนวนิยายเรื่องนี้ อยู่ตรงที่ผู้เขียนตีแผ่ตัวละครทุกตัว ด้วยถ้อยคำเจ็บแสบ แดกดัน และฉีกหน้ากากให้คนอ่านเข้าถึงอารมณ์เกรี้ยกราด หงุดหงิด จิตริษยา ชิงดีชิงเด่น โป้ปดตลบตะแลง และอยากได้ใคร่ดี ... คนเหล่านี้ซุกซ่อน "ตัวตน" ไว้ภายใต้หน้ากากแสนสวย สูงส่งของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า "ผู้ดี"
ผมคิดว่า ทุกคนที่เคยอ่าน “นิยายยายไฮ” คงอดสงสัยเหมือนผมไม่ได้ว่า ในขณะที่คุณ “ปอง” เขียนข้อความนี้ เธอรู้ตัวหรือไม่ว่า ที่เธอกำลังบรรยายอยู่นี้ โดยสรุปมาจาก “นิยาย” เรื่องนั้น คือเรื่องราวของในหลวงและครอบครัว? โดยส่วนตัว ผมสังหรณ์ว่าเธออาจจะไม่รู้ตัวจริงๆก็ได้ ไม่เช่นนั้นคงไม่กล้าเขียนไปขนาดนั้น แม้จะฟังดูเหลือเชื่อที่เธอจะไม่รู้ตัว (ใครที่เคยอ่าน “นิยายยายไฮ” แม้สัก 1-2 ตอน จะไม่รู้เชียวหรือว่ากำลังบรรยายถึงใคร?) แต่ผมคิดว่าคงเป็นเช่นนั้นจริงๆ สามปีต่อมา ในเดือนกรกฎาคม 2556 เมื่อมีกรณี “คลิปถั่งเช่า” อันอื้อฉาว คุณ “ปอง” ได้เขียนพาดพิงถึง “นิยายยายไฮ” อีกครั้ง คราวนี้ชัดเจนว่าเธอรู้ตัวแล้วว่า “นิยาย” เรื่องนั้นพูดถึงใคร (บทความของเธอยังสามารถอ่านได้ออนไลน์ ที่นี่)
ก่อนหน้านี้ไปอีกสักปี-สองปี แก๊งเสื้อแดงใต้ดินฉบับล้มเจ้า เคยเขียนเรื่อง โรงงานปลากระป๋อง ลงในเฟซบุ๊คเป็นตอนๆ หลายตอนจบ จบแล้วก็พิมพ์จำหน่ายจ่ายแจกกันในหมู่เสื้อแดงล้มเจ้าด้วยกันหนีบรักแเร้คนละชุดสองชุด
นวนิยายเรื่องโรงงานปลากระป๋องว่าด้วยเรื่อง ความแออัดยัดเยียดบนชั้น 16 ศิริราช ที่เต็มไปด้วยผู้รับใช้ใกล้ชิดอันอุดมไปด้วยความอิจฉา ริษยา นินทาว่าร้ายซึ่งกันและกัน ผสมกับความคืบหน้าของพระอาการ ผู้เขียนเหมือนนั่งอยู่บนชั้น 16 รพ.ศิริราช เลยทีเดียว เพราะบรรยายถึงห้องหับ-คณะแพทย์–การใช้ยารักษาพระอาการ-ใครเข้า ใครออก ใครว่าใคร ใครร้าย ใครเลว และใครทรยศ!!!
“ความดัง” ของ “โรงงานปลากระป๋อง” นอกจากไปโผล่ที่คอลัมภ์ของคุณ “ปอง” ในหน้า “ผู้จัดการ” ในลักษณะดังกล่าวแล้ว ยังได้ “โกอินเตอร์” เมื่อ ดร.แอนดรู วอล์คเกอร์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้เขียนบทความเล่าเรื่อง “นิยาย” นี้ เผยแพร่ทางเว็บไซต์ New Mandala ในวันสงกรานต์ปี 2554 (ดูได้ที่นี่)
……..
“นิยายยายไฮ” เริ่มปรากฏตัวครั้งแรกวันที่ 21 กันยายน 2552 การโพสต์ครั้งสุดท้ายของ “นิยาย” คือวันที่ 25 มีนาคม 2556 หรือ 3 ปีครึ่งต่อมา รวมการโพสต์ทั้งหมด 199 “ตอน” (ครั้ง) แต่ความเป็นจริง ช่วง “พีค” ของ “นิยาย” นี้ คือช่วงที่มีการโพสต์อย่างประจำ (ชนิดแทบทุกวัน บางวันมากกว่าหนึ่งคร้้ง และเวันระหว่างแต่ละครั้งไม่กี่วัน) และมีคนติดตามอย่างล้นหลาม คือช่วงตั้งแต่เริ่มโพสต์จนถึงประมาณครึ่งปีแรกของปี 2553 ในจำนวน 199 ตอน 150 ตอนแรก ได้รับการโพสต์ถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2553 (คือภายใน 10 เดือนแรกของการโพสต์) 42 ตอนถัดไป (ตอนที่ 151-192) โพสต์ระหว่างสิงหาคม 2553 ถึงสิงหาคม 2554 หลังจากนั้น ก็เรียกได้ว่า “นิยาย” นี้ แทบ “หาย” ไปเลย (ซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นความบังเอิญหรือไม่ ที่ตรงกับช่วงเริ่มต้นของรัฐบาลยิ่งลักษณ์พอดี) 7 ตอนสุดท้าย โพสต์แบบทิ้งระยะห่างมาก คือ ตุลาคม 2554 โพสต์ 1 ครั้ง พฤศจิกายน 2554 อีก 1 ครั้ง แล้วตลอดทั้งปี 2555 มีโพสต์เพียง 4 คร้้งคือ มิถุนายน 1 ครั้ง และกันยายน 3 ครั้่ง แล้วหายไปอีกครึ่งปี จู่ๆก็มาปรากฏตัวเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 25 มีนาคม 2556ผมได้ทำตารางวันที่มีการโพสต์ “นิยาย” ของ “Hi s” ทั้งหมดให้ดูกันดังนี้
ข้างล่างนี้ คือ links สำหรับดาวน์โหลด “นิยายยายไฮ” ทั้ง 199 ตอน รวมกันในรูปไฟล์ pdf สองไฟล์
ไฟล์แรก มีใครไม่ทราบทำขึ้นน่าจะประมาณต้นปี 2554 โดยรวม “นิยายยายไฮ” ่จนถึงสิ้นปี 2553 คือตั้งแต่ตอนที่ 1 ถึงตอนที่ 169 (27 ธันวาคม 2553) ผมเซฟเก็บไว้ และไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงใดๆ – ดาวน์โหลดได้ที่นี่
ส่วนไฟล์ที่สอง ผมเพิ่งทำขึ้นใหม่ รวบรวมตอนที่เหลือทั้งหมดไว้ด้วยกัน (ตอนที่ 170-199) – ดาวน์โหลดได้ที่นี่