เผยแพร่ |
---|
21 มกราคม ค.ศ. 1793 พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ถูกตัดสินประหารด้วยกิโยติน
นับเป็นอีกหนึ่งโศกนาฏกรรมในประวัติศาสตรการล้มล้างกษัตริย์โดยประชาชน ก่อนที่ฝรั่งเศสจะเข้าสู่ความโกลาหล การนองเลือด และสงครามที่มาจากทั้งภายนอกและภายในประเทศ จนถูกขนานนามว่าเป็นยุคแห่งความหวาดกลัว (The Terror)
เหตุการณ์การประหารพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 พร้อมพระนาง มารี อังตัวเนต พระมเหสี ถูกนักประวัติศาสตร์การเมืองวิเคราะห์ว่ามีจุดเริ่มต้นมาจาก “การแก้ปัญหาทางการคลังของประเทศ”
พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ขึ้นครองราชย์ในปี 1774 นโบายในช่วงต้นรัชสมัยอย่างการฟื้นฟูอำนาจของรัฐสภา ทำให้พระองค์ได้รับการยอมรับระดับหนึ่ง แต่การดำเนินนโยบายด้านการทหาร และให้การสนับสนุนการตั้งอาณานิคมในอเมริกาได้ทำให้ฝรั่งเศสประสบกับวิกฤตทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และพระองค์ก็ไม่อาจจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสมนำไปสู่การเสื่อมความนิยมในหมู่ประชาชน จนเป็นอันตรายต่อราชบัลลังก์
ย้อนกลับไปในช่วงสิงหาคม ปีค.ศ. 1774 รัชสมัยของพระองค์ ตูร์โกต์ได้รับตำแหน่งเป็นเสนาบดีคลัง โดยเขามีเป้าหมายที่จะให้ไม่มีการล้มละลายของท้องพระคลัง ไม่มีการเก็บภาษีเพิ่ม และไม่มีการกู้ยืมเงิน นั่นคือการลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในส่วนที่ฟุ่มเฟือยลง ซึ่งต้องมาจากความเห็นชอบของตูร์โกต์ แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดวิกฤตผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน จนถึงปีค.ศ.1775 ตูร์โกต์ร่างนโยบายเพื่อปฏิรูประบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ คือ พระ ขุนนาง และสามัญชน ต้องเสียภาษีตามฐานะของตนเอง ยกเลิกสมาคมช่างฝีมือซึ่งมีอภิสิทธิ์ควบคุมคนงานในภาคอุตสาหกรรม ยกเลิกภาษีเกณฑ์แรงงานและภาษีข้าว
นโยบายดังกล่าวได้รับการรับรองโดยสภาปาลมองต์ในเดือนมีนาคน ค.ศ. 1776 แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากสมาชิกที่เป็นชนชั้นขุนนาง และไม่เห็นด้วยกับนโยบายทั้งจาก พระ ขุนนาง ข้าราชการ และราชสำนัก ทำให้ตูร์โกต์ต้องลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม
ผู้ที่เข้ามารับตำแหน่งต่อจากตูร์โกต์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1777 คือฌาค เนคเกร์ (Jacques Necker) ซึ่งเขาได้สร้างนโยบายใหม่ขึ้นมา นั่นคือการไม่ขึ้นภาษี แต่ใช้การกู้เงินโดยให้ดอกเบี้ยสูงแทน นโยบายดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อพระ และขุนนาง แถมยังเอื้อประโยชน์ต่อชนชั้นกระฎุมพี อีกทั้งเนคเกร์ สนับสนุนให้รัฐบาลฝรั่งเศสกู้เงินเพื่อไปใช้จ่ายในสงครามอิสรภาพของอเมริกา โดยเข้าร่วมสงครามข้างฝ่ายอเมริการบกับรัฐบาลอักฤษจนได้รับชัยชนะ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ได้กลับเป็นผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า ซ้ำยังต้องชำระหนี้ให้กับเนเธอร์แลนด์เนื่องจากกู้ยืมโดยบวกกับเงินของรัฐบาลฝรั่งเศสเพื่อนำไปให้กับสหรัฐอเมริกาใช้ในการสงคราม จากปัญหาที่เกิดขึ้นเนคเกร์ ถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1781
และผู้ที่มารับตำแหน่งแทนคืน กาลอน ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1783 โดยเขาค้นคว้าและได้ทำแผนปฏิรูปการคลังถวายแด่พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ซึ่งมีสาระสำคัญ 5 ประการ คือ 1. ตัดรายจ่ายรัฐบาล 2. ส่งเสริมมาตรการที่ก่อให้เกิดการค้าเสรี ลดภาษีเกลือ ภาษีสรรพสามิต ยกเลิกกำพงภาษีระหว่างแคว้น 3. จัดให้มีการขายที่ดินของวัดได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 4. ยกเลิกระบบเกณฑ์แรงงาน และ 5. เก็บภาษีที่ดินจากผู้มีกรรมสิทธิ์ไม่มีการยกเว้นบุคคล
นโยบายดังกล่าวถูกต่อต้านโดยเฉพาะชนชั้นสูงในสภาปาลมองต์ กาลอนจึงขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 เรียกประชุมสภาขุนนาง เพื่อขอแรงสนับสนุน แต่ปรากฏว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1787 สภาขุนนางไม่เห็นด้วยกับนโยบายของกาลอน จึงทำให้กาลอนโต้กลับ ตีพิมพ์รายงานค้นคว้าของเขาต่อสาธารณะ นั่นจึงทำให้เขาถูกปลดออกจากตำแหน่งในเดือนเมษายน ค.ศ. 1787 พร้อมกับเนรเทศไปแคว้นลอเรน ส่วนพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 นั้นถอดพระองค์ออกจากราชกิจการแก้ปัญหาดังกล่าว หันไปล่าสัตว์ หรือจัดงานเลี้ยงรับรอง
เบรียน เข้ามารับตำแหน่งแทนกาลอน เขาคือคนที่ทำให้สภาปาลมองต์ จดทะบียนกฎหมายหลายฉบับที่เอื้อประโยชน์ต่อการค้าเสรี และการยกเลิกระบบการเกณฑ์แรงงาน แต่เมื่อสภาปาลมองต์ ปฏิเสธนโยบาย เบรียนจึงขอให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ใช้พระราชอำนาจของพระองค์บังคับสภาปาลมองต์ ซึ่งพระองค์ก็ทรงเนรเทศสภาปาลมองต์ ไปทรอยส์ กระทั่งเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1788 สภาปาลมองต์ได้รับอนุญาตให้กลับ ในปีถัดมา เบรียนได้ขอให้สภาปาลมองต์รับรองกฤษฎีกากู้เงิน แต่สภาปาลมองต์ปฏิเสธทำให้มีการประชุมสภาฐานันดรเพื่อแก้ไขปัญหาของแผ่นดิน
การสั่งปลดฌาค เนกเกอร์ (Jacques Necker) รัฐมนตรีกระทรวงการคลังซึ่งมีท่าทีสนับสนุนการปฏิรูป บวกกับการสะสมกำลังของฝ่ายกษัตริย์สร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนจำนวนมาก นำไปสู่การบุกทลายคุกบาสติลในเดือนกรกฎาคม 1789
ในเดือนมิถุนายน 1791 การต่อต้านสถาบันได้ขยายตัวจนพระเจ้าหลุยส์และครอบครัวตัดสินใจหลบหนีออกจากกรุงปารีสโดยหวังรวบรวมกำลังและการสนับสนุนจากออสเตรียและชาติอื่นๆ เพื่อกลับมาต่อกรกับฝ่ายปฏิวัติ แต่ไม่สำเร็จทรงถูกจับกุมตัวระหว่างทางและทรงถูกพาตัวกลับปารีส
ในเดือนสิงหาคม 1792 พระเจ้าหลุยส์และพระนางมารีอองตัวเนต พระชายาถูกจับกุม ก่อนสถาบันกษัตริย์จะถูกสั่งยกเลิก พร้อมกับประกาศการก่อตั้งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
นอกจากนี้ ในเดือนพฤศจิกายนแผนการที่พระองค์ทรงวางแผนร่วมมือกับต่างชาติเพื่อต่อต้านฝ่ายปฏิวัติยังถูกเปิดเผยทำให้พระองค์ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาทรยศต่อชาติ โดยมีการเปิดเผยเอกสารลับจากตู้เก็บเอกสารของพระองค์ที่มีเนื้อหาต้องการยึดพระราชอำนาจคืน ซึ่งพระองค์ก็มิได้แก้ข้อกล่าวหาอย่างหนักแน่นในการพิจารณาคดีในสภากงวองซีอง
พระองค์ถูกตัดสินว่ามีความผิด สมาชิกสภาเห็นชอบกับโทษประหาร 387 คน ส่วนอีก 334 คนเห็นว่าควรลงโทษด้วยวิธีอื่น สุดท้ายพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ทรงถูกประหารด้วยกิโยตินในวันที่ 21 มกราคม 1793 จากนั้นอีก 9 เดือน พระนางมารีอองตัวเนตก็ต้องพบจุดจบเช่นเดียวกับพระสวามี
วันที่ 21 มกราคมยังถือเป็นวันเชิงสัญลักษณ์ที่ฝรั่งเศสเข้าสู่สถานการณ์แตกเป็น 2 ฝ่ายคือนิยมกษัตริย์ และนิยมสาธารณรัฐ