ลุงสนามหลวง : การหายตัวไปและเสียชีวิตของนักกิจกรรมที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์สร้างความหวาดกลัวให้แก่กลุ่ม “คนหมิ่นเจ้า” ในต่างแดน
รูป “เมอร์ไลออน” หรือสิงโตทะเล โรงละครเอสพลานาด และโรงแรมมารีน่า เบย์ แซนด์ส เป็นหนึ่งในหลายสถานที่สำคัญที่เป็นสัญลักษณ์แห่งประเทศสิงคโปร์ที่ นายกฤษณะ ทัพไทย นักกิจกรรมที่ใช้ชื่อจัดตั้งว่า “สหายยังบลัด” ส่งไปยังสหายที่หลบภัยในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวผ่านแอปพลิเคชันไลน์เมื่อ 13 ธ.ค. 2561 เพื่อบอกสถานที่หลบภัย ก่อนหายตัวไปอย่างลึกลับในเดือนต่อมา
ครั้งสุดท้ายที่สหายในลาวติดต่อ ยังบลัด ได้ คือ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา หลังจากนั้นยังบลัดไม่อ่านข้อความหรือรับโทรศัพท์อีกเลย
เขาหายตัวไปพร้อมกับนายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ “ลุงสนามหลวง” แกนนำกลุ่มสหพันธรัฐไท ที่มีแนวคิดล้มสถาบันกษัตริย์ และ นายสยาม ธีรวุฒิ หรือ “สหายข้าวเหนียวมะม่วง”
“ปกติผมกับสหายยังบลัด ถ้าไม่อ่าน [ข้อความ] วันนี้ พรุ่งนี้จะต้องตอบกลับมา โทรไปปุ๊ปต้องรับ เพราะแต่ก่อนอยู่บ้านอาจารย์สุรชัยด้วยกัน นอนเฝ้าหน้าห้องอาจารย์สุรชัย” สหายคนดังกล่าวบอกกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ โดยอ้างอิงถึงนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน ที่หายตัวไปพร้อมกับผู้ติดตามอีก 2 คนเมื่อ ธ.ค. 2561
- สุรชัย แซ่ด่าน : ภรรยาสุรชัย แซ่ด่าน ยื่นหนังสือร้อง กสม. ช่วยตรวจสอบการหายตัวไปของสามี
- สุรชัย แซ่ด่าน : ภรรยาไม่ปักใจสามีคือ 1 ใน 2 ศพนิรนาม แต่เชื่อสามี “ถูกอุ้ม” ในลาว
- มาตรา 112 : เฟซบุ๊กเผยถอดเนื้อหาหมิ่นเบื้องสูง 700 ชิ้นตั้งแต่ปี 2559 ตามคำขอรัฐบาลไทย
- ครม.เยอรมนีมีมติยกเลิกกฎหมายหมิ่นผู้นำต่างชาติ
- รายงานแอมเนสตี้ฯ : รัฐบาลทหารไทยปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างเป็นระบบ
จนกระทั่งเมื่อ 9 พ.ค. ดร.เสน่ห์ ถิ่นแสน หรือ “ดร.เพียงดิน รักไทย” ประธานบอร์ดของภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกแถลงการณ์ผ่านยูทิวบ์โดยอ้างถึงแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ 2 คน ว่านักกิจกรรมทั้ง 3 คนได้ถูกทางการเวียดนามส่งตัวกลับไทยเมื่อวันที่ 8 พ.ค. พร้อมทั้งแสดงรูปหนังสือเดินทางที่อ้างว่าเป็นพาสปอร์ต “ปลอม” ที่พวกเขาใช้เดินทางออกนอกประเทศ
พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ปฏิเสธว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะยังไม่มีการจับกุมตัวลุงสนามหลวงแต่อย่างใด อีกทั้งจากการตรวจหลักฐานข้อมูลการเข้าออกประเทศของทั้ง 3 คน จากทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองก็ยังไม่พบ รวมถึงยังไม่ได้รับการประสานจากประเทศเพื่อนบ้านเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีกด้วย
ด้านรัฐบาลเวียดนาม โดย น.ส.เล ที ทู ฮัง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของเวียดนาม ได้ตอบคำถามบีบีซีไทยผ่านอีเมลว่า “เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนี้”
จากข่าวที่ปรากฏทางสื่อ ลุงสนามหลวงเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์รายที่ 8 ที่หายตัวไปในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา โดยข่าวคราวดังกล่าวได้สร้างความสะเทือนขวัญให้แก่นักกิจกรรมในหลายประเทศที่ยังเคลื่อนไหวอยู่ แม้ว่าทาง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และตำรวจ ได้ออกมาปฏิเสธการมีส่วนร่วมในการหายตัวไปของแต่ละคนก็ตาม
นักกิจกรรมทางการเมืองที่หายตัวไปในรอบ 3 ปี | ||
---|---|---|
ช่วงที่หายตัวไป | ชื่อ | ฉายา |
มิ.ย. 2559 | นายอิทธิพล สุขแป้น | ดีเจซุนโฮ หรือ ดีเจเบียร์ |
ก.ค. 2560 | นายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ | โกตี๋ |
ธ.ค. 2561 | นายไกรเดช ลือเลิศ | กาสะลอง |
ธ.ค. 2561 | นายชัชชาญ บุปผาวัลย์ | ภูชนะ |
ธ.ค. 2561 | นายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ | สุรชัย แซ่ด่าน |
พ.ค. 2562 | นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ | ลุงสนามหลวง |
พ.ค. 2562 | นายสยาม ธีรวุฒิ | ข้าวเหนียวมะม่วง |
พ.ค. 2562 | นายกฤษณะ ทัพไทย | ยังบลัด |
ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวมจากข่าวที่ปรากฏทางสื่อ
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับนักกิจกรรมทางการเมืองที่หายตัวไป และ คสช. ไม่มีการติดตามตัวผู้ต้องหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ในต่างประเทศ
เก่าไป ใหม่มา
ในขณะเดียวกัน น.ส.จรรยา ยิ้มประเสริฐ นักเคลื่อนไหวทางการเมืองแถบยุโรป กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แม้นมีคนหายตัวไป เธอเชื่อว่าจะมีคนใหม่ขึ้นมาแทน เนื่องจากขบวนการจัดรายการวิทยุได้ช่วยให้ “คนรากหญ้า” ที่ไม่เป็นที่รู้จัก ได้เข้ามาใช้เครื่องมือทางสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น
“คนดำเนินรายการส่วนใหญ่คร่ำหวอดในการติดตามนักพูดใต้ดินหลายคน อย่างกลุ่มสนามหลวงมีฟอลโลเวอร์ [ผู้ติดตาม] อย่างแนบแน่น” เธอกล่าว “คิดว่าถ้าการเมืองไม่นิ่ง คนพวกนี้จะกลับมาเคลื่อนไหวได้ และพี่เองจะกลับมาเคลื่อนไหวและเคลื่อนไหวหนักขึ้น ถ้าเอเชียเคลื่อนไหวไม่ได้ เราในยุโรปต้องไม่ปล่อยให้กระแสดาวน์ [ลดลง] โดยที่คนไม่ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับโครงสร้างระบบของประเทศไทยทั้งระบบ”
กลุ่มวิจารณ์เจ้าไทยในลาว
กลุ่มที่เคลื่อนไหวต่อต้านสถาบันกษัตริย์ไทยหลัก ๆ ในลาวมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ แดงสยาม สหพันธรัฐไท และไฟเย็น ซึ่งส่วนมากจะหลบภัยมาอยู่ที่นั่นตั้งแต่รัฐประหารปี 2557
นักเคลื่อนไหวเหล่านี้บอกกับบีบีซีไทยว่า ทั้ง 3 กลุ่มทำงานร่วมในการเผยแพร่แนวคิดสาธารณรัฐนิยม (republicanism) นั่นคือ การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยแบบไร้กษัตริย์ และการรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
กลุ่มคนในประเทศลาวที่เคลื่อนไหวต่อต้านสถาบันกษัตริย์ไทย | ||
---|---|---|
ชื่อกลุ่ม | ผู้นำ | แนวคิด |
แดงสยาม | สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ สุรชัย แซ่ด่าน | ‘ปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมเสรี’ โดยที่ปลายทางคือสาธารณรัฐ แต่ระบอบเศรษฐกิจยังเป็นทุนนิยมเสรี |
สหพันธรัฐไท | ชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง | ล้มสถาบันกษัตริย์ และแบ่งไทยเป็นรัฐเล็ก ๆ ที่มีอิสระในการปกครอง |
ไฟเย็น | นายไตรรงค์ สินสืบผล หรือ ขุนทอง | มีแนวคิดร่วมกันคือสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ได้ |
ที่มา: บีบีซีไทยรวบรวม
กลุ่มที่ลาวเป็นกลุ่มหลักที่จัดกิจกรรมออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ แต่เหตุการณ์การหายตัวไปของนักกิจกรรมร่วมอุดมการณ์ทำให้กิจกรรมการเมืองออนไลน์แทบจะหายไปเลย เหลือเพียงแต่รายการของสหพันธรัฐไทที่ยังคงดำเนินอยู่ เนื่องจากทางกลุ่มได้สร้างเครือข่ายไว้เป็นจำนวนมาก
“กลุ่มสนามหลวงมีการพูดที่เก่งที่สุด พูดโน้มน้าวใจเก่งที่สุด และได้รับการสนับสนุนจากพ่อยกแม่ยกทางการเมือง ยุทธวิธีการผลักดันของเขาได้ใจคนรากหญ้า ได้ใจกลุ่มคนที่อยากเห็นแอคชั่น [การกระทำ]” น.ส.จรรยา กล่าว
กลุ่มสหพันธรัฐไทจึงมีสถานีเครือข่ายดำเนินการต่อไป เนื่องจากทางกลุ่มจะสนับสนุนให้มวลชนที่ศรัทธาในระบบสหพันธรัฐไทสร้างช่องในยูทิวบ์ของตนเอง เพื่อที่เวลาที่ออกอากาศทุกสถานีจะนำรายการของลุงสนามหลวงไปออกอากาศสดในช่องของตัวเองด้วย
น.ส.รมย์ชลีญ์ สมบูรณ์รัตนกูล หรือ “แยม ไฟเย็น” หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มไฟเย็นวัย 32 ปี กล่าวกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่า ตั้งแต่ปลายปี 2557 สมาชิกทั้ง 4 คนของกลุ่มได้จัดรายการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กและยูทิวบ์ทุกวัน โดยพูดถึงประเด็นการเมืองและสถาบันกษัตริย์เป็นหลัก แต่หลังจากการหายตัวไปของนายสุรชัยและสหายอีกสองคน ไฟเย็นก็ได้รับคำสั่งจากผู้ดูแลให้ยุติการจัดรายการทั้งหมด
“เคสของอาจารย์สุรชัยรุนแรงมาก และเราพบเห็นเป็นศพและพิสูจน์ชัดเจนว่าศพที่เกิดมาจากการฆาตกรรมทีมของอาจารย์สุรชัย มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ๆ ไม่ใช่เรื่องที่มโน เราเห็นว่าชะตากรรมของคนที่หายตัวไปคือมีถูกฆาตกรรมด้วย” น.ส.รมย์ชลีญ์ กล่าว
กลุ่มไฟเย็น เป็นวงดนตรีที่เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 โดยปัจจุบันมีสมาชิก 4 คน คือ น.ส.รมย์ชลีญ์; นายไตรรงค์ สินสืบผล หรือ ขุนทอง; นายปริญญา ชีวินกุลปฐม หรือ พอร์ท และ นายนิธิวัต วรรณศิริ หรือ จอม โดย น.ส.รมย์ชลีญ์ มาเป็นนักร้องนำหญิงของวงตั้งแต่ปี 2559 หลังจากที่หลบภัยในลาวตั้งแต่ปี 2558
แต่การที่เธอและเพื่อน ๆ ยังไม่ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ หรือ UNHCR ทำให้เธอรู้สึกว่าเป็นบุคคลที่ “ไร้ตัวตน” ในประเทศเพื่อนบ้าน นั่นคือ ถ้าหายตัวไปหรือเสียชีวิต เธอมองว่าทางการที่นั่นก็ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น
“เราจะอะเลิร์ท [ตื่นตัว] ขึ้น มีการวางแผนว่าเกิดอะไรฉุกเฉินควรทำไง ดูทางหนีทีไล่” น.ส.รมย์ชลีญ์กล่าว
ถึงคราวฝั่งตะวันตก
เมื่อผู้ที่หลบภัยในประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศเหล่านั้น ก็ต้องพึ่งเพื่อนนักกิจกรรมที่อยู่ทางทวีปยุโรปและสหรัฐฯ ในการออกไปทำกิจกรรมเคลื่อนไหวเรียกร้องแทนพวกเขา
หนึ่งในนั้นคือ น.ส.จรรยา หญิงวัย 53 ปีที่ลี้ภัยอยู่ที่ประเทศแห่งหนึ่งในยุโรปตั้งแต่ปี 2553 หลังจากที่เขียนบทความที่ทำให้เธอถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา 112 และภายหลังได้เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม แอคชั่นเพื่อประชาธิปไตยประชาชนในประเทศไทย
นอกจากถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กและยูทิวบ์แล้ว น.ส.จรรยายังร่วมการประท้วงหลายครั้ง เช่น ประท้วงต่อต้านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2557 ที่เขาไปร่วมประชุมเอเชีย-ยุโรปที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี และเรียกร้องให้ปล่อยตัวนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องหาคดี 112 เมื่อปี 2560 รวมถึงส่งจดหมายเรียกร้องความเป็นธรรมหลายฉบับ
“หลังปี 2557 กลุ่มก้อนของผู้ลี้ภัยมาทางประเทศเพื่อนบ้านเยอะขึ้นเพื่อเป็นการใช้พื้นที่ทางการเมือง พอเขาทำเป็นหลัก กลุ่มประเทศอื่น ๆ ที่ทำมาก่อนเลยวางมือ แต่ตอนนี้ถ้าทางเอเชียสถานการณ์มันลำบากไปหมดเลย มันก็ต้องมีคนลุกมาทำในพื้นที่ ๆ อาจจะปลอดภัยได้” น.ส.จรรยา กล่าว
ส่วนกลุ่มที่มีการจดทะเบียนเป็นองค์กรไม่สังกัดรัฐ หรือ เอ็นจีโอ เมื่อปี 2555 ในสหรัฐฯ อย่าง ภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ก็ได้มีบทบาทในการออกแถลงการณ์ต่าง ๆ และถ่ายทอดสดผ่านยูทิวบ์
แม้ว่าภาคีจะเผยแพร่วิดีโอที่เกี่ยวข้องกับหลายประเด็นในสังคมไทย โดยการถ่ายทอดสดผ่าน 4 สถานีบนยูทิวบ์ที่มียอดคนดูแต่ละครั้งเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10,000 ครั้ง แต่วิดีโอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดจะเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ โดยวิดีโอที่มีผู้ชมสูงที่สุดกว่า 4 ล้านครั้งตั้งแต่เผยแพร่เมื่อปี 2559 คือ วิดีโอที่เกี่ยวกับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล หรือ รัชกาลที่ 8
แม้กระนั้นก็มีวิดีโอหลายชิ้นที่ไม่สามารถดูได้ในไทยเนื่องจากถูกคำสั่งศาลให้ระงับการเผยแพร่ และมีหลายความคิดเห็นที่ต้องถูกซ่อนเนื่องจากใช้คำพูดหยาบคายหรือเป็นการขยายความเกลียดชัง
“พวกเขา [รัฐบาลไทย] อาจจะปิดปากลุงสนามหลวงได้ แต่เขาไม่สามารถปิดปากผู้ติดตามของเขาได้ ซึ่งบางคนอาศัยอยู่ในสหรัฐฯ และพวกเขาคงไม่ปิดปากฉันหรือสมาชิกของภาคี” นางแอน นอร์แมน รองประธานบริหารภาคีชาวอเมริกัน กล่าวกับบีบีซีไทย
นักสิทธิมนุษยชนเรียกร้องให้ไทยติดตามการหายตัว
เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ 4 คน ประกอบด้วยคณะทำงานด้านบังคับบุคคลสูญหายฯ ผู้รายงานพิเศษด้านการสังหารนอกกระบวนการกฎหมาย ผู้รายงานพิเศษด้านการทรมาน และผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ได้ส่งจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยมีการเรียกร้องให้รัฐบาลตรวจสอบการหายตัวไปและการเสียชีวิตของนายสุรชัย กาสะลอง ภูชนะ และดีเจซุนโฮ
เจ้าหน้าที่ผู้หนึ่งที่ไม่เปิดเผยนามจากสหประชาชาติบอกกับบีบีซีไทยว่า สาเหตุที่ไม่ได้รวมโกตี๋ด้วย เนื่องจากไม่สามารถติดต่อครอบครัวของเขาได้ ซึ่งปกติแล้วสหประชาชาติจะไม่ทำหนังสือถึงรัฐบาลถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากญาติ
ทางรัฐบาลไทยได้ตอบรับจดหมายฉบับนี้วันที่ 14 มี.ค. แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ให้คำตอบใด ๆ แก่สหประชาชาติ
ล่าสุดองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรท์วอทช์ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำของมาเลเซียที่ส่งตัวนางประพันธ์ พิพัธนัมพร สมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท กลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 พ.ค. แม้ว่าเธอจะได้การรับรองเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยจาก UNHCR แล้ว
ฮิวแมนไรท์วอทช์อ้างว่า ก่อนหน้าที่เธอจะหนีไปมาเลเซีย เธอถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยถูกจับกุมหลายครั้งระหว่างเดือน ก.ย. และ ธ.ค. 2561
เธอบอกกับฮิวแมนไรท์วอทช์ว่า ภัยคุกคามนั้นหนักขึ้นหลังจากที่เธอเข้าร่วมกิจกรรมต้านสถาบันกษัตริย์ในวันที่ 5 ธ.ค. โดยในวันนั้น เธอสวมเสื้อสีดำที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่มของเธอ และแจกใบปลิวที่มีเนื้อหาวิจารณ์ระบอบกษัตริย์ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
“องค์กรต่าง ๆ ของสหประชาชาติและรัฐบาลที่มีความห่วงใยควรจะออกมาพูดเกี่ยวกับการปราบปรามผู้ที่มีความเห็นต่างและการบังคับสูญหายที่เพิ่งเกิดขึ้นในไทยเร็ว ๆ นี้” นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าว “ประเทศเพื่อนบ้านไม่ควรจะส่งเสริมการละเมิดสิทธิมนุษยชนของไทยโดยการส่งผู้แสวงหาที่ลี้ภัยกลับไปสู้ภัยอันตราย”
ความรุนแรงออนไลน์
นอกจากการระมัดระวังตัวในการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว นักกิจกรรมทางการเมืองที่วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ยังต้องเผชิญกับการโจมตีผ่านตัวหนังสือทางสื่อสังคมออนไลน์
หนึ่งในนั้นคือ น.ส.รมย์ชลีญ์ แห่งกลุ่มไฟเย็น ซึ่งหลังการหายตัวไปของกลุ่มนายสุรชัย ก็มีทั้งคนที่โพสต์ความเห็นลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ และส่งข้อความมาทางเฟซบุ๊กในทำนองข่มขู่ว่า “รายต่อไปคือวงไฟเย็น” และให้เธอ “เตรียมตัวตายได้เลย” หากไม่หยุดวิจารณ์พระมหากษัตริย์
นั่นทำให้เธอจึงตัดสินใจว่าจะรอการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในประเทศที่สาม ก่อนที่จะสานต่อกิจกรรมใด ๆ
แต่สำหรับ น.ส.จรรยา ที่ได้รับคำขู่มาอย่างต่อเนื่องผ่านคนใกล้ชิดว่าจะมีคนมาฆ่า โดยเฉพาะทุกครั้งที่เธอไปร่วมประท้วงในที่ต่าง ๆ เธอบอกว่าได้รับการโจมตีทางสื่อสังคมออนไลน์ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับยุคสมัยรัชกาลที่ 9
“แรก ๆ ก็มีคนด่าแต่หลัง ๆ มีแต่คนส่งข้อความมาขอบคุณที่ทำให้ตาสว่าง” เธอกล่าว
นายแอนดรูว์ แม็กเกรเกอร์ มาร์แชล เป็นนักเขียนและอดีตผู้สื่อข่าวซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการวิพากษ์และนำเสนอข่าวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ไทย ที่ได้รับข้อความที่ขู่ฆ่าเขาผ่านเฟซบุ๊กเป็นจำนวนมาก ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทย และมีการคุกคามมากขึ้นหลังช่วงพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา และหลังจากที่พ่อของเขาเสียชีวิตเมื่อ 10 พ.ค. การคุกคามและก่นด่าก็ลามไปถึงพ่อของเขาด้วย ทำให้เขาต้องปิดเฟซบุ๊กชั่วคราวเป็นเวลา 4 วัน
“ผมไม่เคยเห็นบรรยากาศออนไลน์ที่แย่ถึงขนาดนี้ มันแย่กว่าช่วงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่รัชกาลที่ 9 สิ้นพระชนม์เสียอีก” นายมาร์แชลกล่าว