รำลึกเดือนตุลามหาวิปโยค ตอนที่ 2 – การขับไล่จอมพลถนอม การกลับมา และกำเนิดคนเดือนตุลา

ขอขอบคุณ เนื้อหาจากหนังสือ “ไพร่สู้ บนเส้นทาง 78 ปี ประชาธิปไตย (2475-2553)”  โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ

 

การลุกขึ้นสู้และการปราบปราม (14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519)

เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2516 การอดทนอดกลั้นของประชาชนไทยก็ถึงขีดสุด กรรมกรชาวนา นักศึกษา คนชั้นกลาง นักวิชาการ คนจนเมืองหลายแสนคน ต่างพากันเดินประท้วงบนท้องถนนที่กรุงเทพมหานครเพื่อเรียกร้องให้จอมพลถนอมลาออก

ภาพการชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย บันทึกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 ที่มาภาพ https://www.khaosod.co.th/newspaper-column/in-the-news/news_47948

14 ตุลาคม 2516 ประชาชนเรือนแสนมารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแกนนํานักศึกษา 13 คนที่ถูกจับ พวกเขาพากันเคลื่อนขบวนเพื่อถวายฎีกาต่อในหลวง ในความสับสนของข้อมูลข่าวสาร และในระหว่างการสลายตัว ทหารได้ระดมยิงใส่ฝูงชนที่อยู่บริเวณพระราชวังสวนจิตรทั้งจากภาคพื้นดิน และจากเฮลิคอปเตอร์ซึ่งมีผู้ให้การว่าเห็นพันตรีณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพลถนอม เป็นคนระดมยิงด้วยตัวเอง เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตกว่าร้อยคนและหลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บสาหัส

จอมพลถนอม, จอมพลประภาส (พ่อตาของณรงค์), พ.อ.ณรงค์ จาก oknation

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประจักษ์ถึงการเดินขบวนครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ที่เคยเกิดขึ้นบนท้องถนนในกรุงเทพมหานคร จําต้องทรงแสดงพระราชอำนาจเพื่อสาธารณชน ถนอมได้รับการขอร้องให้ออกนอกประเทศ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แต่การตื่นตัวทางการเมืองที่เพิ่มข้นของภาคประชาชนกลับสร้างความรําคาญ และถูกมองว่าจะบั่นทอนอํานาจของบรรดานายทหารผู้หยิ่งทะนงที่ได้รับเลี้ยงดูจนอ้วนพีจากสหรัฐอเมริกา และกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

พอถึงปี 2519 การลอบสังหารผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่าง มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สื่อต่างๆที่ถูกควบคุมโดยทหารได้แสดงออกอย่างเปิดเผยว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นเป็นเรื่องที่กระทําได้” มันก็เช่นเดียวกับ “การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศล เหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ

วาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ ได้บุญมากกว่าบาป” โดยพระกิตติวุฑโฒ ภาพจาก https://doct6.com

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 กองกําลังเพื่อปกป้อง “ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์” ที่มีทั้งตํารวจตระเวนชายแดน กลุ่มจัดตั้งทั้งหลาย (นวพลกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้าน เป็นต้น)ได้พากันเคลื่อนเข้าโจมตีนักศึกษาที่ประท้วงการกลับมาของถนอมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ถนอมกลับมาประเทศไทยภายใต้จีวรพระ และได้รับการเยี่ยมเยียนจากวัง)

ภาพจาก http://ruch-sattahip.blogspot.com/2018/11/6-2519.html

ตัวเลขที่เปิดเผยทั่วไปถึงจํานวนผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากการกระทําอันป่าเถื่อนโหดร้ายทั้งจากอาวุธปืน การทุบตีทําร้าย และการถูกเผาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตามบริเวณสนามหลวงซึ่งสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของวังหลวงจํานวน 41 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 700 คน แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์พากันกล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นสูงกว่านี้มาก

นักศึกษาที่ไม่ได้ถูกจับกุมต่างก็พากันหนีกระจัดกระจายเข้าป่าและหมู่บ้านต่าง ๆ เพื่อไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และนักเรียนนักศึกษาจํานวนมากจากทั่วประเทศก็พากันทยอยเดินทางตามผู้นําหรือเพื่อน ๆ เข้าป่า กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ได้รับการเรียกขานว่า“คนเดือนตุลา”

กว่าสามทศวรรษแห่งความสูญเสียอันเกิดจากสงครามประชาชนได้สิ้นสุดลง เมื่อได้มีการประกาศนิรโทษกรรมในปี 2523 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ค่อยลบเลือนหายไปจากเวที และชาวเดือนตุลาได้พากันกลับคืนมาสู่ชีวิตการเมืองอีกครั้งหนึ่งในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย นักสิทธิมนุษยชน ผู้นําองค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจหลายคนเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ และท้ายที่สุดอีกหลายคนเข้าร่วมกับพรรคของทักษิณ ถนอมใช้ชีวิตอย่างสุขสบายจนถึงบั้นปลายของชีวิต และได้รับพระราชทานเพลิงศพ


ในตอนต่อไป เราจะนำเสนอรายชื่อของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม เพื่อเป็นการไว้อาลัย และสดุดีวีรชนเหล่านี้

อ่านตอนที่1 https://act4dem.net/?p=2494

อ่านตอนที่3 https://act4dem.net/?p=2516