รำลึกเดือนตุลามหาวิปโยค ตอนที่ 1 – สงครามเย็น สหรัฐอเมริกา จอมพลถนอม

เนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี 6 ตุลาคม 2519 ทาง ACT4DEM ขอจัดบทความชุดพิเศษเพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยในอดีตอันเป็นชนวนนำไปสู่การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย และโศกนาฎกรรมของชาวไทยที่เกิดขึ้นซ้ำซาก ถึงแม้ว่าเรื่องราวเหล่านี้คืออดีต คือบาดแผลของประเทศ แต่เราก็ไม่ควรลืมมัน และควรศึกษา พูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ให้ได้มาซึ่งความรู้และปัญญาเพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

ขอขอบคุณ เนื้อหาจากหนังสือ “ไพร่สู้ บนเส้นทาง 78 ปี ประชาธิปไตย (2475-2553)”  โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ

 

ขออุทิศบทความชุดนี้ให้กับดวงวิญญาณของผู้ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทุกดวง
ทั้งที่ล่วงลับไปแล้ว และยังหายใจอยู่
ขออำนวยอวยชัยให้ประเทศชาติมีประชาธิปไตยเต็มใบในเร็ววัน


เผด็จการจงพินาศ
ประชาราษฎร์จงเจริญ

 

สงครามเย็นปะทะสงครามประชาชน

นับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมาปวงชนชาวไทยต้องเผชิญหน้ากับกบฏและรัฐประหารกว่า 20 ครั้ง ต้องพยายามทําความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ และจัดงานต้อนรับนายกรัฐมนตรี 27 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทหารบก  ตลอด 77 ปีที่นับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียว ที่สามารถอยู่ในตําแหน่งจนครบวาระ 4 ปี (ปัจจุบันคืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรที่ต้องลี้ภัย ถูกตัดสินว่ากระทําความผิดและพยายามสู้เพื่อจะได้กลับมาสู่การเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง)

เมื่อกองทัพเวียดมินท์สามารถผลักไล่กองทัพฝรั่งเศสออกไปจากเวียดนามได้เป็นผลสําเร็จในปี 2497 กระแสความกลัวและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ซ่านเข้ามาครอบงําทิศทางการเมืองไทย

จอมพลสฤษดิ์และพรรคพวกบริหารประเทศ โดยมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้เพื่อที่จะใช้เป็นข้ออ้างของความชอบธรรมในการกดหัวประชาชน (และปกปิดการคอรับชันของตัวเองและพวกพ้อง) รัฐบาลทหารได้ฟื้นคืนพระราชประเพณีหลายอย่างให้เป็นกิจกรรมประจําปีของรัฐ และใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนหลายพันล้านบาทไปกับโครงการในพระราชดําริ และก่อสร้างพระราชวังและพระตําหนักตามจังหวัดต่าง ๆ โดยเฉพาะในภาคเหนือภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากประชาชนและกองกําลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อาทิ พระตําหนักภูพาน (2518) และพระตําหนักทักษิณราชนิเวศน์ (2518) และพระตําหนักเขาค้อ (2528)

ในช่วงสงครามกลางเมืองหรือบางครั้งเรียกว่าสงครามประชาชน ที่ต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงต้นทศวรรษ 2520 นี้ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายร้อยหลายพันคนที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทําอันเป็นคอมมิวนิสต์ และเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ถูกอุ้มหาย ถูกจับกุมคุมขังโดยไม่มีการไต่สวน และจํานวนไม่น้อยที่ถูกสังหารหรือล้มหายตายจากไปโดยไม่ทราบว่าศพอยู่ที่ไหน

จอมพลสฤษดิ์ผู้ปลูกปั้นสถาบันพระมหากษัตริย์จนมั่นคงดังหินผา สิ้นใจในปี 2506 และได้รับพระราชทานเพลิงศพ การเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ได้เปิดโปงให้สังคมไทยประจักษ์ถึงชีวิตที่ฉ้อฉลและคอรัปชั่น นอกจากภรรยาและเมียเก็บมากกว่า 50 คนแล้ว การต่อสู้เพื่อแย่งชิงมรดกของบรรดาเมียๆและลูกๆของจอมพลสฤษดิ์ ได้แฉให้สังคมรับทราบความจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล ที่เขาและครอบครัวได้สั่งสมมาในระหว่างเรืองอํานาจ มีทั้งบ้านหลายสิบหลัง ที่ดินกว่าสองหมื่นไร่ และเงินสดตามธนาคารต่าง ๆ อีกหลายร้อยล้านบาท

วันที่ ๒๗ พย. ๒๕๐๖ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จไปทรงเยี่ยม จอมพลสฤษดิ์ ได้ขอพระบรมราชานุญาตจับพระหัตถ์ของพระองค์นำมาทูนไว้เหนือศีรษะ เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความจงรักภักดีจนวาระสุดท้ายของชีวิต – ข้อมูลภาพ นายบวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน หนึ่งในเครือข่ายกลุ่มองค์การพิทักษ์สยามและนายดินสอไม้ ณ. ไข่มุกอันดามัน

จอมพลถนอม กิตติขจร มือขวาของจอมพลสฤษดิ์ ขึ้นครองอํานาจทางการเมืองต่อทันทีในวันที่เขาสิ้นใจ และเพื่่อสร้างภาพต่อสาธารณชน ถนอมจําต้องยึดทรัพย์จํานวน 600 ล้านบาท คืนจากครอบครัวสฤษดิ์พร้อมกับแต่งตัวเองขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งตําแหน่งจอมพล

ข่าวอื้อฉาวของเมียน้อยสฤษดิ์หลังจากเขาตายไปแล้วถูกจอมพลถนอมยึดทรัพย์

จอมพลถนอมดําเนินนโยบายทางการเมืองตามแนวทางของจอมพลสฤษดิ์ คือการโปรสหรัฐอเมริกาและต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะได้รับการตอบแทนด้วยการหนุนช่วยทางการเงิน และเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม

 

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ซ้าย) และผู้สืบทอดอำนาจ จอมพลถนอม กิตติขจร (ขวา) – ภาพจาก https://www.matichonweekly.com/column/article_5797

ระหว่างปี 2493 ถึงปี 2530 สหรัฐอเมริกา ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณทางด้านทหารต่อรัฐบาลไทยร่วมกันกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

อาจจะถือได้ว่าตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 ประเทศไทย (ที่ไม่ใช่จํากัดตัวอยู่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง) ได้ทําความรู้จักกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบตะวันตก โดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกันเป็นครั้งแรก การเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อย ๆ ของค่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา และแรงจูงใจต่าง ๆ ให้มีการพัฒนาประเทศ ให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยะประเทศ ได้สร้างแรงกดดันอย่างมหาศาลต่อประชาชนชาวไทย เงินลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเขามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเงินกู้และเงินสนับสนุนที่ให้แก่รัฐบาลทหาร ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อาทิ ถนนเขื่อนคลองชลประทาน และก่อสร้างศูนย์ราชการต่าง ๆ ในทุกจังหวัด เพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุม และกล่อมเกลาให้ประชาชนอยู่ในกรอบและหน้าที่ที่รัฐกําหนด ตลอดจนส่งเสริมระบบเกษตรเพื่อการค้าตามแนวปฏิวัติเขียว แต่เงินเหล่านี้ก็ยังได้นํามาใช้เพื่อการดํารงไว้ซึ่งอิสรภาพของประเทศ ซึ่งประเทศไทยจําเป็นต้องมีโรงพยาบาล โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2504-2532 พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงจาก 53% จนเหลือเพียง 28% จํานวนประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากประมาณ26ล้านคนในปี 2503 เป็น 54.5 ล้านคนในปี 2533

เกษตรกรหลายล้านคนในประเทศไทยที่ไม่สามารถสร้างรายได้จากวิถีเกษตรเชิงเดี่ยว เพื่อการค้าตามแนวทางปฏิวัติเขียว จําต้องละทิ้งที่นา อพยพครอบครัวเข้ามาหางานทําในเมืองกรุง หรือตามย่านนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในช่วงสงครามเย็นประเทศไทยอยู่ภายใต้การครอบงําจากการเมืองระบบทหาร ฐานทัพอเมริกัน เกษตรปฏิวัติเขียวและการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก คนไทยทั้งประเทศถูกทําให้อยู่ในความคิดความเชื่อว่า “ไม่มีอะไรที่เงินซื้อไม่ได้” (ทหารจีไอ 50,000 คน = เมียเช่าหรือเมียจีไอ 50,000 คน)

ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป แรงงานภาคการเกษตรจำนวนมากจึงหลั่งไหลเข้าเมืองและเปลี่ยนเป็นภาคบริการ – ภาพจากบาร์ในเมืองอุดร
ประกาศรับสมัครพนักงานหญิงในบาร์เมืองพัทยา – ภาพจาก http://oknation.nationtv.tv/blog/arya-tirawej/2019/07/24/entry-1

การกดขี่ขูดรีดแรงงานเลวร้ายอย่างที่สุด จนเหล่ากรรมกรที่สุดทนต่างพากันสไตรค์และประท้วงมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่กลุ่มปัญญาชนคนรุ่นใหม่ก็เพิ่มจํานวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน และต่างก็พากันวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลสนองตอบสนองนโยบายจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างสุดโต่ง พร้อมกับโจมตีการคอรัปชันที่เกิดขึ้นอย่างโจ๋งครึ่มของรัฐบาลถนอม ซึ่งบริหารประเทศแบบรวบอํานาจทุกอย่างไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ


ความไม่พอใจของประชาชนที่มีต่อการบริหารประเทศอย่างทรราชย์ของจอมพลถนอม ทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจ อันเป็นที่มาของเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และการเข้ามามีบทบาททางการเมืองของกษัตริย์ โยงไปถึงความหวาดกลัวขบวนการคอมมิวนิสต์ในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เลวร้ายกว่าเดิมอีกในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเราจะนำเสนอในตอนต่อไป

อ่านตอนที่ 2 https://act4dem.net/?p=2505