ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ “70 ปี แห่งการกดขี่และคุกคามสิทธิและเสรีภาพในประเทศไทย” โดยจรรยา ยิ้มประเสริฐ และการรวบรวมข้อมูลและบทสัมภาษณ์จากโครงการ “บันทึก 6 ตุลา”
รายชื่อผู้เสียชีวิตในวันที่ 6 ตุลาคม 2519
ฝ่ายนักศึกษาประชาชน 40 คน
วิชิตชัย อมรกุล
อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกของแข็งที่ศรีษะ ถูกแทงและถูกรัดคอ เขาถูกแขวนคอที่ใต้ต้นมะขามที่สนามหลวง ถูกคนไทยด้วยกันรุมประชาทัณฑ์ ทั้งเตะ ทั้งถีบ กระทั่งเอาเก้าอี้ฟาดร่างอันไร้วิญญาณของเขา
อรุณี ขำบุญเกิด
อายุ 19 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกกระสุนปืน หลังจากเข้ารับการรักษาพยาบาล 3 เดือน อรุณีเสียชีวิตในโรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 7 ธันวาคม 2519
ปรีชา แซ่เฮีย
อายุ 25 ปี เป็นคอลัมนิสต์ในกองบรรณาธิการและสายส่งนิตยสาร เอเชียวิเคราะห์ข่าว ถูกของแข็งและอาวุธหลายชนิด ถูกรัดคอ เขาเป็นหนึ่งในเหยื่อห้าคนที่ถูกแขวนคอบริเวณท้องสนามหลวงในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519
วิมลวรรณ รุ่งทองใบสุรีย์
อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะพยาบาลศาสตร์ โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกกระสุนปืนผ่านปอดขณะหลบหนีในแม่น้ำเจ้าพระยา
เนาวรัตน์ ศิริรังษี
อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง และทำงานเป็นพนักงานบริษัท ถูกยิงเลือดออกในช่องเยื่อหุ้มปอดจากบาดแผลกระสุนปืน และเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลศิริราช เขาเสียชีวิตในวันที่ 7 ตุลาคม 2519
ภูมิศักดิ์ ศิระศุภฤกษ์ชัย
อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกกระสุนปืนทำลายกะโหลกศีรษะ
จารุพงษ์ ทองสินธุ์
อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกกระสุนปืนทะลุช่องปอด ศพของจารุพงษ์ถูกทารุณกรรมจนกระทั่งพ่อแม่ของเขาไม่อาจจะยืนยันได้ ทิ้งให้พ่อแม่ของเขายังคงมีความหวังและตามหาร่องรอยของลูกชายต่ออีกยี่สิบปี จนกระทั่งความจริงปรากฎในที่สุด (อ่านบทความพิเศษ “ตามหาลูก” โดย ธงชัย วินิจจะกูล) พ่อและแม่ของจารุพงษ์จึงเป็นเหยื่อที่ได้รับผลกระทบจากการสังหารหมู่ครั้งนี้เช่นกัน จินดา-ลิ้ม ทองสินธุ์
มนัส เศียรสิงห์
อายุ 22 ปี นักศึกษาวิทยาลัยเพาะช่าง หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ถูกกระสุนปืนเสียชีวิตขณะอาสาเข้าไปแบกรับหน้าที่หน่วยรักษาความปลอดภัย
สุพล พาน (บุญทะพาน)
อายุ 24 ปี ถูกกระสุนปืนศีรษะและหน้าอกขณะพยายามขับรถพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาล
ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง
อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกกระสุนปืนถูกเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ต้นขา
อภิสิทธิ์ ไทยนิยม
อายุ 21 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกสะเก็ดระเบิดทำลายสมอง นอกจากนี้ ยังมีบาดแผลฉีกขาดที่ขาทั้งสองข้าง
พงษ์พันธ์ เพรามธุรส
อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกสะเก็ดเข้าช่องอกเสียชีวิตขณะทำหน้าที่รักษาความปลอดภัย
อับดุลรอเฮง สาตา
อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกกระสุนปืนที่ศรีษะทำลายสมอง
ไพบูลย์ เลาหจิรพันธ์
อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกกระสุนปืนเข้าช่องอกและคอ
อนุวัตร อ่างแก้ว
อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุวัตรเสียชีวิตจากการถูกยิงขณะพยายามกระแทกดันประตูของคณะบัญชีฯ เพื่อให้เพื่อนๆ ได้เข้าไปหลบภัยจากกระสุนปืนที่เจ้าหน้าที่ยิงกระหน่ำมาจากฝั่งพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เขาเสียชีวิตจากบาดแผลกระสุนปืนบริเวณช่องท้อง
บุนนาค สมัครสมาน
อายุ 22 ปี (รายงานการชันสูตรพลิกศพระบุว่าอายุ 18 ปี) นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง เสียชีวิตจากการถูกยิงที่ศรีษะ สมองถูกทำลาย
อัจฉริยะ ศรีสวาท
อายุ 23 ปี นักศึกษาชั้นปี 3 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อัจฉริยะเข้าร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2519 ศพของอัจฉริยะถูกพบในวันที่ 7 ตุลาคม 2519 ที่ท่าน้ำบริเวณหน้าสถานีตำรวจคลองสาน เขาเสียชีวิตจากการจมน้ำ
สุรสิทธิ์ สุภาภา
อายุ 24 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกยิงกระสุนทะลุหัวใจ เลือดตกใน และเสียชีวิตในทันที
ยุทธนา บูรศิริรักษ์
อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกกระสุนปืนทะลุขั้วปอด เลือดตกใน
กมล แก้วไกรไทย
อายุ 19 ปี ทำงานจัดส่งและขายหนังสือพิมพ์ที่ท่าช้าง ถูกสะเก็ดระเบิดเสียชีวิต
มนู วิทยาภรณ์
อายุ 22 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกกระสุนปืนทะลุผ่านหัวใจ เลือดตกใน
สัมพันธ์ เจริญสุข
อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกกระสุนปืนที่ศรีษะทำลายสมอง
สุวิทย์ ทองประหลาด
อายุ 23 ปี ถูกกระสุนปืนและบาดแผลสะเก็ดระเบิดทำลายสมอง
วีระพล โอภาสวิไล
อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถูกกระสุนปืน
สุพจน์ พันธุ์กาฬสินธุ์
อายุ 22 ปี ถูกกระสุนปืนทะลุกระโหลกศรีษะ ทำลายสมอง
ภรณี จุลละครินทร์
อายุ 19 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกกระสุนปืนทะลุผ่านหัวใจ เลือดตกใน
วัชรี เพชรสุ่น
อายุ 20 ปี นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกกระสุนปืนเข้าช่องอก
ชัยพร อมรโรจนาวงศ์
อายุ 43 ปี ประกอบธุรกิจส่วนตัว ถูกกระสุนปืนผ่านกระดูกสันหลังส่วนคอ
สงวนพันธุ์ ซุ่นเซ้ง
อายุ 23 ปี บาดแผลกระสุนปืนผ่านปอด
สมชาย ปิยะสกุลศักดิ์
อายุ 22 ปี ถูกสะเก็ดระเบิดบาดแผลระเบิดผ่านสมองและตับฉีกขาด
วิสุทธิ์ พงษ์พานิช
อายุ 20 ปี นักศึกษาชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถูกกระสุนปืน
ศิริพงษ์ มัณตะเสถียร
อายุ 21 ปี ถูกกระสุนปืน M 16 ยิงจากด้านหลัง เลือดออกในช่องท้อง
วสันต์ บุญรักษ์
อายุ 19 ปี ถูกกระสุนปืนลูกซอง เสียเลือดมาก
ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกสะเก็ดระเบิดที่ศรีษะ
ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกกระสุนปืนเข้าช่องปอด
ชายไทยไม่ทราบชื่อ ถูกกระสุนปืน
ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อที่ 1
ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อที่ 2
ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อที่ 3
ศพถูกเผาไม่ทราบชื่อที่ 4
รายชื่อเหล่านี้ยังไม่นับรวมถึงผู้สูญหายอีกจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ติดตาม หาศพไม่พบหรือมีการทำลายศพ
จากบทสัมภาษณ์ของญาติและเพื่อนผู้เสียชีวิตบางส่วน ทำให้เราตระหนักว่าความสูญเสียนั้นไม่ได้หยุดเพียงแค่จำนวนผู้เสียชีวิต แต่ยังเป็นความรู้สึก และความสะเทือนใจของคนรอบข้าง บางความตายนั้น ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของครอบครัวของเขาไปอย่างไม่อาจย้อนคืนได้
มันน่าคิดว่าหากคนเหล่านี้ที่ส่วนมากเป็นนักศึกษา และมีอายุน้อยยังมีชีวิตอยู่ ในวันนี้พวกเขาคงอยู่ในวัยเกษียณอายุ อาจจะกำลังเลี้ยงหลาน อาจจะกำลังทำงานอาสาเพื่อสังคม อาจจะกำลังชื่นชมกับผลงานที่ตัวเองได้สร้างสรรค์ไว้ให้กับสังคมในวันที่พวกเขายังทำงานอยู่
ชีวิตที่สูญเสียไป ไม่ได้เป็นเพียงตัวเลขทางสถิติให้ใครมานับว่าใครเสียหายกว่ากัน แต่เป็นลูกของใครบางคน เป็นเพื่อน เป็นพี่น้องของใครอีกหลายๆ คน และคงจะเป็นกำลังของชาติได้อีกมากมาย
เราได้แต่หวังว่า ความตายของพวกเขา จะเป็นดั่งดอกไม้ที่แม้จะถูกเด็ดทิ้งไป แต่สร้างผลให้เกิดดอกไม้ผลิบาน จากหนึ่งเป็นร้อย จากร้อยเป็นล้าน จากความรุนแรงสู่สันติภาพ จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตย
แด่วีรชนทุกคน
6 ตุลา เราจะไม่ลืม
อ่านตอนที่ 1 https://act4dem.net/?p=2494
อ่านตอนที่ 2 https://act4dem.net/?p=2505