29 ก.พ. 2020
สำนักงานทรัพย์สินฯ ชี้แจงการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นเป็นพระปรมาภิไธย ร.10
สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เผยแพร่คำชี้แจงวันนี้ (16 มิ.ย.) เรื่อง การเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
คำชี้แจงดังกล่าวระบุว่า 1) จากข้อกฎหมายตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2560 ซึ่งรวมทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เข้าด้วยกัน เป็นทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์จึงมีภาระหน้าที่ต้องถวายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ในความดูแลแต่เดิมคืนให้แด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงมีพระราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการดูแลรักษาและจัดหาผลประโยชน์ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย ดังนั้น สำหรับทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ใดที่เดิมเป็นชื่อของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เช่น การมีชื่อในผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด จึงต้องเปลี่ยนเป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2) เปลี่ยนชื่อความเป็นเจ้าของทรัพย์สินจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เป็นพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นอยู่ในบังคับของกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร และต้องมีภาระเสียภาษีอากรเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป อันเป็นการปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามพระราชประสงค์
3) สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสานพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ได้ทรงสร้างคุณูปการให้แก่ประเทศไทย ด้วยการก่อตั้งกิจการต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไทยมีฐานะมั่งคงสามารถดำเนินกิจการด้วยคนไทยและแข่งขันกับต่างประเทศได้ เช่น กิจการธนาคารไทยพาณิชย์ หรือบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) การใช้พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการเหล่านั้น จึงเป็นการยืนยันพระราชปณิธานดังกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นพระราชภาระในการดูแลกิจการเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่ากิจการเหล่านี้จะยังคงดำเนินกิจการต่อไปอย่างยั่งยืนและมีการพัฒนาให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยตลอดไป
4) การใช้พระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการที่เดิมใช้ชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ทำให้ทรงสามารถมอบหมายข้าราชบริพารหรือผู้ถวายงานใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาทดูแลกิจการต่าง ๆ เหล่านี้ได้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้กิจการเหล่านี้ดำเนินการอยู่ในกรอบการบริหารกิจการที่ดีตามพระราชประสงค์ โดยมุ่งหวังให้กิจการเหล่านี้ปฏิบัติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ อย่างเคร่งครัด และมีความยึดมั่นในหลักคุณธรรมและความถูกต้องดีงาม