พระราชประวัติกษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย
BBC ไทย : 2 ธันวาคม 2016
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร กษัตริย์พระองค์ใหม่ของไทย พระนามวชิราลงกรณมีความหมายว่า “ทรงเครื่องเพชรนิลจินดา หรืออสนีบาต” ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ทรงเป็นพระราชบุตรพระองค์ที่สอง และเป็นพระราชโอรสพระองค์เดียว ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ผู้ทรงขึ้นครองราชย์โดยมิได้คาดหมายเมื่อ 6 ปีก่อนหน้านั้น
หลังจากประเทศไทยตกอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์มานานหลายทศวรรษ การประสูติขององค์รัชทายาทชายจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสถาบันกษัตริย์ไทย โดยเฉพาะในยามที่ลำดับชั้นผู้กุมอำนาจทางการเมืองของไทยมีความไม่ชัดเจน หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในปี พ.ศ.2475 ตามด้วยการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ. 2478 และตามด้วยช่วงเวลาที่ไทยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นานถึง 11 ปี
- การกระทำต่าง ๆ ที่จะทำให้ถูกจับฐานละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
- ศาลให้ประกันตัว “ไผ่ ดาวดิน” แล้ว
- จับกุม “ไผ่ ดาวดิน” หลังแชร์รายงานข่าวบีบีซีไทย
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นจากโรงเรียนจิตรลดา และเมื่อพระชนมายุ 13 พรรษาได้เสด็จ ฯ ไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเอกชน 2 แห่งในประเทศอังกฤษเป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อจนจบระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนในนครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แล้วทรงเข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน ในกรุงแคนเบอร์รา เป็นเวลา 4 ปี
ครั้งหนึ่ง พระองค์เคยตรัสว่า ทรงประสบปัญหาในการเรียน อันเป็นผลมาจากการได้รับการเลี้ยงดูอย่างประคบประหงม นอกจากนี้ยังทรงมีผลการเรียนไม่ดีนักขณะทรงศึกษาที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงได้รับการศึกษาด้านการทหารขั้นสูงในประเทศไทย สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ทรงเข้ารับราชการในกองทัพไทย ทั้งยังทรงเป็นนักบินขับไล่และนักบินพลเรือน พระองค์มักทรงขับเครื่องบินโบอิ้ง 737 ด้วยพระองค์เองเวลาเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ. 2515 แต่ขณะนั้นได้เกิดข้อกังขาถึงความเหมาะสมของพระองค์
พระองค์มิได้แสดงความสนพระทัยในโครงการพัฒนาประเทศต่าง ๆ ของพระราชบิดาดังเช่นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระขนิษฐา ทั้งยังทรงตกเป็นข่าวลือเกี่ยวกับสตรี การพนัน และธุรกิจผิดกฎหมาย
ในปี พ.ศ.2524 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เคยตรัสเป็นนัยว่าพระราชโอรสของพระองค์ทรงคล้ายกับ “ดอน ฮวน” ที่ทรงโปรดการใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์กับเหล่าหญิงงามมากกว่าการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ
ในการพระราชทานสัมภาษณ์กับสื่อไทยเมื่อปี 2535 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงปฏิเสธข่าวลือเรื่องที่พระองค์เกี่ยวข้องกับบรรดาผู้มีอิทธิพล รวมทั้งข่าวลือเรื่องธุรกิจผิดกฎหมาย
ในปี พ.ศ.2520 พระองค์อภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ และทรงมีพระธิดาด้วยกันหนึ่งพระองค์ คือพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งประสูติในปี พ.ศ. 2521 แต่ในช่วงเดียวกันนั้นเองมีกระแสข่าวว่าพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์กับดาราสาว สุจาริณี วิวัชรวงศ์ (นามเดิม ยุวธิดา ผลประเสริฐ) มีพระโอรสและพระธิดารวม 5 พระองค์ ระหว่างปี พ.ศ.2522-2530 พระองค์อภิเษกสมรสกับหม่อมสุจาริณี ในปี พ.ศ. 2537 ทว่า ในปี พ.ศ. 2539 ได้ทรงประกาศหย่าขาดจากหม่อมสุจาริณี และถอดถอนฐานันดรศักดิ์พระโอรสทั้ง 4 พระองค์ ซึ่งขณะนั้น กำลังศึกษาในสหราชอาณาจักร
ในปี พ.ศ. 2544 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา และมีพระโอรสด้วยกันหนึ่งพระองค์ คือ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ ซึ่งประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2548
ในปี พ.ศ. 2557 พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายา ถูกถอดถอนออกจากฐานันดรศักดิ์ มาเป็นท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี ขณะเดียวกันบิดามารดาและญาติของท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์จำนวน 9 คน ถูกจับกุมในความผิดตามมาตรา 112 ฐานแอบอ้างเบื้องสูง ส่วนตำรวจนายหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ ได้เสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัว
นอกจากนี้ ข้อกล่าวหาฐานแอบอ้างเบื้องสูงได้ถูกใช้กับบุคคลใกล้ชิดกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร อีกหลายคน อาทิ นายสุริยัน สุจริตพลวงศ์ หรือ หมอหยอง และตำรวจอีกนายหนึ่งที่ถูกจับกุมในคดี มาตรา112 เมื่อปีก่อนและเสียชีวิตขณะถูกควบคุมตัว ขณะเดียวกันองครักษ์ส่วนพระองค์คนหนึ่งได้ถูกถอดยศในความผิดฐาน “ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัณฑูร” และ “เป็นภัยต่อราชวงศ์โดยการหาผลประโยชน์ส่วนตัว” ซึ่งต่อมาองครักษ์ส่วนพระองค์ผู้นี้ได้หายตัวไปและเชื่อว่าอาจเสียชีวิตแล้ว
ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงใช้ชีวิตร่วมกับพลโทหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา อดีตพนักงานต้อนรับสายการบินไทย ซึ่งได้รับพระราชยศนายทหารปฏิบัติการพิเศษสำนักงานนายทหารปฏิบัติการพิเศษ ในพระองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเคยพระราชทานยศ “พลอากาศเอก” ประจำกองทัพอากาศไทยให้แก่ “ฟูฟู” สุนัขพูเดิลทรงเลี้ยงด้วย
บทลงโทษที่รุนแรงของกฎหมาย มาตรา 112 ส่งผลให้ในประเทศไทยไม่มีผู้ใดกล้าอภิปรายอย่างเปิดเผยถึงเรื่องความเหมาะสมของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในฐานะกษัตริย์พระองค์ใหม่ ทว่ามีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่มักพูดคุยกันอย่างลับ ๆ ถึงความเป็นไปได้ที่ตำแหน่งพระประมุขของไทยจะตกเป็นของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงได้รับความนิยมจากประชาชนและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเพื่อประชาชนมากกว่า อีกทั้งก่อนหน้านี้ยังมีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ที่เปิดทางให้ผู้หญิงสามารถสืบราชสันตติวงศ์ได้ หากไม่มีองค์รัชทายาทผู้ชาย อย่างไรก็ตาม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ผู้อื่นสืบราชสมบัตินอกจากพระราชโอรสของพระองค์
ในช่วงที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระพลานามัยทรุดลง สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้ทรงปรากฏพระองค์ต่อสาธารณชน และประกอบพระราชกรณียกิจแทนพระราชบิดาบ่อยขึ้น
ในอดีตมีข่าวลือว่าพระองค์ทรงมีความสัมพันธ์ด้านธุรกิจกับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกมองว่าเป็นภัยต่อกลุ่มอำมาตย์ที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์
แต่หลังจากเหตุรัฐประหารในปี 2557 ที่ทหารยึดอำนาจจากรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รัฐบาลทหารชุดใหม่ก็ดูจะให้การสนับสนุนสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร เพื่อให้พระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ต่อจากพระราชบิดา ด้วยการจัดกิจกรรม Bike for Dad หรือปั่นเพื่อพ่อ เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ที่เป็นกันเองของว่าที่กษัตริย์พระองค์ใหม่
เป็นการยากที่จะคาดเดาได้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะทรงเป็นกษัตริย์แบบใด แม้จะทรงเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแต่พระองค์ยังคงมีพระราชอำนาจอย่างมาก และคงไม่มีผู้ใดจะกล้าปฏิเสธพระราชประสงค์หรือพระราชโองการของพระองค์
นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นสถาบันที่ร่ำรวยที่สุดในประเทศไทย ด้วยทรัพย์สินราว 30,000-40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีรายได้ต่อปีซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งยังทรงบัญชาการกองทหารรักษาพระองค์ ที่มีกำลังพลราว 5,000 นาย
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านราชวงศ์ไทยชี้ว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงไม่น่าจะมีพระบารมีและเป็นที่เคารพสักการะเท่าพระราชบิดา เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องสร้างขึ้นด้วยพระองค์เอง มิใช่สิ่งที่ทรงรับสืบทอดจากพระราชบิดา และการที่ทรงราชย์ขณะมีพระชนมพรรษาถึง 64 พรรษาแล้ว พระองค์คงมีเวลาในการสั่งสมพระบารมีไม่ยาวนานนัก
จากนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงมีพระราชกรณียกิจที่สำคัญในการจัดพระราชพิธีพระบรมศพของพระราชบิดา ซึ่งนี่อาจเป็นโอกาสดีที่จะช่วยเสริมบทบาทของพระองค์ ขณะเดียวกันพระองค์ยังคงสามารถพึ่งพาความจงรักภักดีที่พสกนิกรมีให้ต่อพระราชบิดาของพระองค์ ในการค้ำจุนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้เป็นสถาบันหลักของสังคมไทย