ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ ๑ – ข้อเรียกร้อง 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ธรรมศาสตร์และการชุมนุม
ประกาศกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ ๑

ราษฎรทั้งหลาย
.
นับตั้งแต่คณะราษฎรได้ก่อการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองนั้น ราษฎรทั้งหลายได้หวังว่าประเทศของเราจะมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอยู่เหนือระบอบการเมืองอย่างแท้จริง แต่การณ์หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เนื่องด้วยกษัตริย์ยังคงทรงอำนาจแทรกแซงเหนือการเมือง เป็นต้นว่า เมื่อเกิดการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาลอันได้มาซึ่งกระบวนการทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริงครั้งใด กษัตริย์ก็ทรงลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร อันเป็นการรับรองให้การรัฐประหารครั้งนั้น ๆ ชอบด้วยกฎหมายทุกครั้งไป
.
มิหนำซ้ำ ยังทรงโยกย้ายกำลังพล รวมถึงถ่ายโอนงบประมาณแผ่นดินจำนวนมากเข้าเป็นส่วนของพระองค์เอง นอกจากนี้ ยังทรงใช้พระราชอำนาจนอกกฎหมายแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการประชามติแล้วให้เสด็จไปประทับนอกราชอาณาจักรได้โดยไม่ต้องตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
.
เหตุที่ทำได้เช่นนี้เนื่องจากรัฐบาลเผด็จการย่อมสยบยอมอยู่ภายใต้เงาของกษัตริย์ และยังแอบอ้างสถาบันกษัตริย์เพื่อหาผลประโยชน์เข้าตัวเอง จะเห็นได้ว่าว่าพวกเขาเหล่านี้สมประโยชน์กัน การณ์เช่นนี้ย่อมเป็นปรปักษ์ต่อหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่มีประเทศประชาธิปไตยประเทศใดจะปรากฎการกระทำเช่นนี้
.
ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า กษัตริย์ประเทศเรานี้มิได้ทรงอยู่เหนือการเมือง หากแต่เป็นรากเหง้าของปัญหาทางการเมืองตลอดมา นอกจากจะทรงละเลยหน้าที่การเป็นประมุขที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชนแล้ว ยังเสด็จไปเสวยสุขประทับอยู่ต่างแดนโดยใช้เงินภาษีของราษฎร ทั้งที่ราษฎรทั้งปวงกำลังประสบความยากลำบากจากสภาวะข้าวยากหมากแพง อีกทั้งทรงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับกลุ่มกบฏผู้ก่อการรัฐประหารล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย
.
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า หากไม่มีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ดำรงอยู่ร่วมกับสถาบันราษฎรได้นั้น ราษฎรย่อมหมดศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์โดยแน่แท้
เพราะเหตุนี้ แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมจึงขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาว่าด้วยสถาบันกษัตริย์ดังต่อไปนี้
.
1. ยกเลิกมาตรา ๖ ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร
.
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน
.
3. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 และให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่เป็นของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน
.
4. ปรับลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์ ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ
.
5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์ หน่วยงานที่มีหน้าที่ชัดเจน เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น และหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็น เช่น คณะองคมนตรีนั้น ให้ยกเลิกเสีย
.
6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด
.
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ
.
8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงามทั้งหมด
.
9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎรที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความข้องเกี่ยวใด ๆ กับสถาบันกษัตริย์
.
10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก
.
ข้อเรียกร้องเหล่านี้หาใช่ข้อเสนอเพื่อล้มล้างสถาบันกษัตริย์ไม่ แต่เป็นข้อเสนอโดยความปรารถนาดีเพื่อให้สถาบันกษัตริย์ได้อยู่เป็นมิ่งขวัญให้แก่ประชาราษฎร์ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยต่อไป
.
ทั้งนี้ สถาบันกษัตริย์จะตั้งอยู่มั่นคงสถาพรในโลกยุคปัจจุบันได้นั้น จะต้องเป็นสถาบันกษัตริย์ที่ไม่มีอำนาจข้องเกี่ยวกับการเมือง ถูกควบคุมตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ และไม่เป็นภาระต่อราษฎร จึงจะนับได้ว่าเป็นสถาบันกษัตริย์ที่สง่างามตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสากล