ประชาธิปไตยเคมี VS ประชาธิปไตยอินทรีย์ (บทความชุดทางออกวิกฤตการเมืองไทย ตอนที่ 2)
สัมภาษณ์ และเรียบเรียงโดย สิริลักษณ์ ศรีประสิทธิ์
กันยายน 08, 2008
ความ ย่อ : บทสัมภาษณ์ จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวถึงการต่อสู้ของภาคประชาชนรากหญ้าที่แตกต่างจากการต่อสู้ทางการเมือง ของชนชั้นกลาง และการตีความหมายประชาธิปไตยที่มีความหลากหลาย และยั่งยืน อยู่รวมกันได้แบบเกื้อกูลกันเป็นองค์รวม มากกว่าการปะทะต่อสู้กันในระยะสั้นเพียงเท่านั้น
บทสัมภาษณ์ จรรยา ยิ้มประเสริฐ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยจรรยา ยิ้มประเสริฐ : สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้ อยู่ในภาวะที่ค่อนข้างเครียด และเป็นที่น่าวิตกเพราะทำให้เราเห็นว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ได้พูดคุยกัน มากนักเลย ถึงความเข้าใจต่อหลักการทางประชาธิปไตย อีกทั้งสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นนี้ยังเป็นการทำลายภาพของการต่อสู้ภาคประชาชน รากหญ้าที่แท้จริงต่อไปในอนาคต
เพราะการต่อสู้โดยกลุ่มประชาชนจำนวน มากที่เห็นอยู่นี้ ถูกนำมาใช้โดยคนชนชั้นกลาง ที่ทำให้ขบวนการต่อสู้นั้นดูน่าสนใจ ใช้หลักการประชาสัมพันธ์ มีการใช้ภาพที่ทำให้สังคมรู้สึกอ่อนไหวทั้งหมดเลย มีภาพของเด็กหน้าตาสวย หน้าตาดีน่ารัก ดูเซ็กซี่ มีเด็กออกมาร่วมร้องเพลงร่วมกิจกรรม ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นกลยุทธ์ของการรณรงค์ – ประชาสัมพันธ์ (PR, Public Relation – Campaign) อย่างมาก, เป็นการเล่นกับสื่อสารมวลชน เล่นกับจุดอ่อนของสังคม
ต่อประเด็นนี้ คิดว่าต่อไปขบวนการต่อสู้ต่างๆ อาจจะทำให้เป็นการเล่นกับสื่อ การพีอาร์ หรือการเล่นกับอารมณ์ของสังคมอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการทำลายความชอบธรรมของเนื้อหาของการต่อสู้เรียกร้องได้
อย่าง ที่เราเห็นแล้วว่า ในขบวนแฟชั่นของพันธมิตรฯ นั้นคล้ายกับแฟนคลับนั่งดูเชียร์ฟุตบอล มีการแต่งตัว มีการถ่ายรูปเด็กสาวเพื่อขึ้นหน้าเว็บไซต์ ตรงนี้ก็คล้ายกับการขายภาพดารา ซึ่งเป็นการใช้จุดขาย – ขายความฝัน ขายความต้องการของคนรุ่นใหม่ ถึงความเป็นซุปเปอร์สตาร์ของคนชนชั้นกลาง
“ยุทธ์การขายของพัน ธมิตรฯ …จะนำความกังวลใจมาสู่ขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนรากหญ้าจริงๆ ต่อไปในอนาคต… และ… เราก็ไม่เชื่อว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย จะต้องทำลายประชาธิปไตย ล้างไพ่ล้างบางกันไปก่อน มันไม่ใช่เช่นนั้น”
ทั้งนี้ เข้าใจว่าเป็นกลยุทธ์การขายของพันธมิตรฯ แต่มันจะนำความกังวลใจมาสู่ขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนรากหญ้าจริงๆ ต่อไปในอนาคตด้วย อย่างที่บอกว่า ขบวนการรากหญ้าจริงๆ แล้วนั้นมันไม่เซ็กซี่ เมื่อถ่ายภาพออกมาก็มักจะเป็นภาพคนแก่คนชรา นุ่งผ้าถุง หน้าดำฯลฯ สิ่งนี้น่าเป็นห่วง รวมไปถึงการที่พันธมิตรฯ นำถ้อยคำของภาคประชาชนไปใช้จำนวนมาก ก็ไม่ทราบว่า เราจะต้องใช้เวลาอีกสักกี่ปี ที่จะแก้ไขความเสียหายเหล่านี้
ประเด็น ถัดมาคือมันทำให้ไม่มีองค์กรใดองค์กรเดียวอีกต่อไปแล้ว ที่จะทำให้คนในสังคมเชื่อว่า นั่นคือจุดยืนทางสังคมที่ถูกต้องร่วมกันเพียงอย่างเดียว เนื่องจากในช่วงสองปีที่ผ่านมาของการต่อสู้ของพันธมิตรฯ เขาได้ทำให้ขบวนการต่างๆ ที่เข้ามาร่วม มามัวหมองเป็นสีเทาด้วยกันทั้งหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นสหภาพแรงงาน ภาคขบวนการเอ็นจีโอ หรือบทบาทของ กป.อพช. (คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน) ซึ่งก็ไม่สามารถสร้างหรือนำจุดยืนทางสังคมได้เลยที่มีการเสนอข้อเรียกร้อง อย่างชัดเจน แต่ค่อนข้างประนีประนอมกับ (การให้ได้มาซึ่ง) ประชาธิปไตย การประนีประนอมกับจุดยืนนั่นก็ไม่ใช่บทบาทที่ควรจะเป็น
ฉะนั้น องค์กรภาคประชาชน กป.อพช.เองก็ตาม ขาดความน่าเชื่อถือไปหมดรวมไปถึงกลไกของภาครัฐ ฝ่ายค้าน พรรคการเมืองและรัฐบาล ซึ่งก็แย่มากพออยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้กำลังสร้างความสับสนให้กับชาวบ้าน ประชาชนอย่างมาก และล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อการออกมาบนท้องถนนของชาวบ้านต่อไปในอนาคตอย่าง แน่นอน
กระบวนการประชาธิปไตยทั้งหมดในประเทศไทยเอง ก็จะขาดความชอบธรรมไปเรื่อยๆ และเราก็ไม่เชื่อว่ากระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย จะต้องทำลายประชาธิปไตย ล้างไพ่ล้างบางกันไปก่อน มันไม่ใช่เช่นนั้น เราคิดว่าประเทศไทยต้องใช้เวลาอีกหลายสมัยของการเลือกตั้ง เพื่อฟื้นคืนประชาธิปไตย
แต่เมื่อยิ่งมีการเลือกตั้งครั้งใด แล้วเราได้รัฐบาลขี้เหร่มา แล้วพันธมิตรฯ หรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ใช้วิธีการเช่นนี้มาล้มการเลือกตั้งตลอดเช่นนี้ กระบวนการที่เราจะได้มาซึ่งประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ยิ่งช้าออกไปเรื่อยๆ เพราะว่ามีคนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดไม่ยอมและใช้วิธีกดดันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งน่าเป็นห่วงต่อกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยในบ้านเรา ที่ไม่ยอมยืนอยู่บนหลักการ กลับไปประนีประนอมกับจุดยืนที่รู้สึกว่ามีข้อร่วมอะไรบางอย่างกับพันธมิตรฯ
“ยิ่ง ชนชั้นกลางบอกว่าคนดีของชนชั้นกลางคือใคร คนรากหญ้าก็จะยิ่งเหลือคนที่มีความเป็นท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ… ซึ่งไม่ได้เลือกอย่างที่คนชนชั้นกลางเลือก ทั้งนี้ ชนชั้นล่างมีวิธีการตอบโต้ชนชั้นกลางด้วยวิถีของพวกเขาเอง”
การ เดินขบวนของพันธมิตรเองก็เป็นการร่วมกันของกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่มมากมาย โดยดึงประเด็นการต่อสู้ของกลุ่มตนเองเข้ามาใส่ และต่อสู้ร่วมกับพันธมิตรฯ และคิดว่าจะทำให้ประเด็นขับเคลื่อนของกลุ่มตนสามารถถูกหยิบยกขึ้นมา หรือสามารถจะหยุดยั้งได้ เช่น กลุ่มประท้วงเรื่องเอฟทีเอ การแปรรูป ฯลฯ หรือแม้การเข้ามาร่วมของพรรคฝ่ายค้าน รวมถึงกลุ่มนักการเมือง กลุ่มนักธุรกิจผู้เสียประโยชน์ โดยที่การเข้ามาร่วมของกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมากนี้ ก็นำมาสู่การประนีประนอมทั้งท่าที จุดยืนจุดร่วมระหว่างกลุ่มคนที่หลากหลายด้วย
กลุ่มพันธมิตรฯ ที่ดำเนินมาได้ถึงทุกวันนี้ และได้รับความเห็นอกเห็นใจ ได้รับความสนใจของสื่อมวลชนมากมายขนาดนี้ ก็ร่วมด้วยกับความเกลียดชังรัฐบาลชุดนี้ของประชาชนคนไทย ของชนชั้นกลางด้วย เกิดความสะใจเล็กๆ น้อยๆ รู้สึกได้ประโยชน์ร่วมด้วยกับสิ่งที่พันธมิตรฯ ได้ทำลงไป นอกจากนี้กลุ่มผลประโยชน์แอบแฝงอันหลากหลายที่อยู่กับพันธมิตรฯ นี้ ก็ทำให้เกิดการประนีประนอมของจุดยืน ของหลายๆ ฝ่ายในสังคมค่อนข้างมากด้วย แล้วก็เป็นอันตรายตลอดระยะเวลาสองปี และยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ
ยิ่งช่วงก่อนการรัฐประหารในปี 49 ช่วงนั้นเรามีการประนีประนอมกับพันธมิตรฯ ค่อนข้างมาก ตั้งแต่การคว่ำบาตรการเลือกตั้ง การไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง มาสู่การทำรัฐประหาร แต่สังคมก็ไม่เรียนรู้ ไม่จำ ถึงทุกวันนี้ก็ยังคงมีการประนีประนอม เจรจาด้านผลประโยชน์กับพันธมิตรฯ อยู่ สิ่งนี้น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
“วิถีชีวิตของคนรากหญ้าได้เห็นและ เรียนรู้ผ่านการดิ้นรนต่อสู้มาตลอดชีวิต เขาไม่ได้มองว่ามันเป็นการต่อสู้ระยะสั้นเท่านั้น เขาไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลอย่างเต็มร้อย…แต่ชนชั้นกลางมักจะเล่น กับประเด็นที่ค่อนข้างปัจจุบันทันด่วน ประเด็นที่กำลังมาปะทะตัว ก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้”
ส่วนประเด็นของการต่อสู้ระหว่าง ชนชั้นกลางกับชนชั้นล่างนั้น ในช่วงสองปีมานี้ เราก็จะพบว่าชนชั้นล่างสุดท้ายแล้วก็จะตบหน้าชนชั้นกลางด้วยการเลือกตั้งคน ที่ตนเองชอบคนเดิมเข้ามาในสภาตลอด ซึ่งตรงจุดนี้ ตนคิดว่าคนรากหญ้ารอได้ ชนชั้นกลางจะเล่นเกมอะไร แต่พวกเขาก็จะเลือกคนของพวกเขาขึ้นมา ยิ่งชนชั้นกลางบอกว่าคนดีของชนชั้นกลางคือใคร คนรากหญ้าก็จะยิ่งเหลือคนที่มีความเป็นท้องถิ่นมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เลือกคนที่เป็นกลุ่มมีอำนาจในท้องถิ่น เป็นคนที่มีกลุ่มก้อน เป็นมาเฟีย ฯลฯ ซึ่งไม่ได้เลือกอย่างที่คนชนชั้นกลางเลือก ทั้งนี้ ชนชั้นล่างมีวิธีการตอบโต้ชนชั้นกลางด้วยวิถีของพวกเขาเอง
ประเด็น ที่ว่านี้คือ วิถีชีวิตของคนรากหญ้าได้เห็นและเรียนรู้ผ่านการดิ้นรนต่อสู้มาตลอดชีวิต เขาไม่ได้มองว่ามันเป็นการต่อสู้ระยะสั้นเท่านั้น เขาไม่ได้ฝากความหวังไว้ที่รัฐบาลอย่างเต็มร้อย เขาเห็นว่า เขาจะทำได้ขนาดไหน สู้ได้ประมาณไหน ฉะนั้นกระบวนการเล่นการเมืองของคนรากหญ้า กับคนชนชั้นกลางนี้ต่างกัน, ชนชั้นกลางมักจะเล่นกับประเด็นที่ค่อนข้างปัจจุบันทันด่วน ประเด็นที่กำลังมาปะทะตัว ก็จะลุกขึ้นมาต่อสู้ แต่คนรากหญ้านั้นเขาต่อสู้กันมาทั้งชีวิต เขาจึงเล่นการเมืองแบบยืดหยุ่นผ่อนคลาย – ได้นักการเมืองแบบไหนมา ก็จะมีวิธีการต่อสู้ ต่อรอง จัดการในระดับท้องถิ่นของเขาเอง จึงคิดว่าเราไม่สามารถดูถูกคนรากหญ้าได้
จากเหตุการณ์ และสภาวการณ์เช่นนี้ คิดว่าประชาชนจะเรียนรู้ว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดหลักการจริงๆ และเป็นสังคมที่ใช้สายสัมพันธ์ เป็นสังคมในระบบอุปถัมภ์อย่างมาก เพราะเราจะเห็นว่ามีกลุ่มคนที่คอยสร้างความชอบธรรมให้กับกลุ่มพันธมิตรฯ เป็นจำนวนมาก ทั้งในระดับท้องถิ่น และข้าราชการระดับสูง ระดับชาติ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้สนับสนุนพันธมิตรฯ ค่อนข้างมาก และคอยบอกเสมอว่าตนเป็นข้าราช เป็นคนของนายหลวง
“การทำงานของ สื่อ ก็จะเห็นชัดว่า สื่อเองก็เป็นคนชนชั้นกลางที่นำเสนอประเด็นแบบชนชั้นกลาง ฉะนั้นท่าทีของสื่อจึงไม่แตกต่างจากท่าทีของพันธมิตรฯ เป็นเสมือนคนคนเดียวกัน”
ซึ่งได้ใช้พันธมิตรฯ ขับเคลื่อนเพื่อต่อต้านการปฏิรูประบบราชการอีกด้วย ที่จะไม่ยอมถูกทำให้มารับใช้ประชาชน เป็นข้าบริการของคนจนอย่างแท้จริง พวกเขาจึงพยายามเลือกข้าง และพยายามอาศัยความชอบธรรมตัวนี้ปฏิเสธการถูกปรับเปลี่ยนกลไกทางราชการ ทั้งหมด ที่จะนำไปสู่กลไกแบบระบบสวัสดิการให้กับประชาชนมากยิ่งขึ้น นั่นคือพยายามจะดำรงความเป็นข้าราชการแบบเจ้าขุนมูลนายเอาไว้นั่นเอง พวกเขาใช้พื้นที่ผ่านพันธมิตรฯ ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนผ่านนี้ สู้กับการปรับเปลี่ยนระบบราชการ สู้กับภาคประชาชน
ด้านบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อ ก็จะเห็นชัดว่า สื่อเองก็เป็นคนชนชั้นกลางที่นำเสนอประเด็นแบบชนชั้นกลาง ฉะนั้นท่าทีของสื่อจึงไม่แตกต่างจากท่าทีของพันธมิตรฯ เป็นเสมือนคนคนเดียวกัน นอกจากนี้แล้ว สื่อในเมืองไทยมักใช้ตรรกะแบบท้องถิ่นจำนวนมาก ไม่ใช่มุมมองหรือเหตุผลแบบสากลนิยม กล่าวคือ สื่อไม่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง หรือมีจุดยืนในการวิเคราะห์ปัญหาหรือความขัดแย้งที่แท้จริง
สื่อมวลชน จำนวนมากจึงชั่ง ตวง วัดจากปรากฏการณ์จากน้ำหนัก หรือข้อมูลที่เขาได้รับเพียงเท่านั้น โดยไม่มีหลักการที่เป็นธรรม เป็นแบบสากลนิยมรองรับ เช่น หลักการด้านจรรยาบรรณ – จริยธรรมสื่อ การเคารพในความเห็นที่แตกต่าง เคารพในกติกาสากล และรัฐธรรมนูญฯลฯ สิ่งเหล่านี้ขาดให้ไปในการนำเสนอของสื่อบ้านเรา รวมถึงจริยธรรมสื่อไม่ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของท้องถิ่นนิยม – ชาตินิยมด้วย
“การเมือง ที่มีผู้ชายนำนั้นเป็นปัญหามาโดยตลอด เป็นการต่อสู้แบบคนที่ไม่เคยชนะ แล้วก็ต้องสร้างทางลัด คือไม่สามารถ อดทนรอคอย ความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่จะต้องใช้เวลาบ่มเพาะเติบโต และเป็นไปแบบยั่งยืน เข้มแข็งได้อย่างแท้จริง”
ไม่ เพียงเท่านั้น การเมืองที่มีผู้ชายนำนั้นเป็นปัญหามาโดยตลอด เป็นการต่อสู้แบบคนที่ไม่เคยชนะ แล้วก็ต้องสร้างทางลัด คือไม่สามารถ อดทนรอคอย ความเปลี่ยนแปลงของประเทศที่จะต้องใช้เวลาบ่มเพาะเติบโต และเป็นไปแบบยั่งยืน เข้มแข็งได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน หรือฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายพันธมิตรฯ หรือเครือข่ายต่างๆ ก็ตาม รวมไปถึงผู้รอผลประโยชน์จะพันธมิตรด้วย ที่ไม่ยอมออกมาออกแถลงการณ์อย่างตรงไปตรงมาตามหลักการได้
การต่อสู้ ของคนเหล่านี้ในตอนนี้ คือ การเล่นเกมยุทธศาสตร์กันทั้งหมด เขาเติบโตขึ้นมากันแบบนี้ ในเวทีการต่อสู้ก็จะใช้วิธีการใช้อำนาจในการต่อรอง สหภาพแรงงานก็ใช้วิธีการเดียวกันนี้ ซึ่งเมื่อมีการทำข้อตกลงแล้ว ก็คือชัยชนะ หลังจากนั้นแล้วท้ายที่สุดก็จะมีการลงนามในข้อตกลงเรื่องสภาพการจ้างงาน (ของสมาชิกในสหภาพ) ก็ถือเป็นข้อยุติ
ทั้งนี้เป็นวิธีการต่อสู้ของ สหภาพแรงงานกับนายจ้าง เมื่อนำมาใช้ต่อสู้กับรัฐ จึงคิดว่าสุดท้ายแล้วพันธมิตรฯ ที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองทำผิดกฎหมาย ก็จะต้องมีวิธีทำให้ขบวนการของพวกเขาถูกกฎหมาย ก็จะมีการลงนามในข้อตกลงที่ว่าจะไม่เอาผิด ลงโทษกับพวกเขาเพื่อให้ทุกคนหลุด นี่เป็นยุทธศาสตร์ที่เล่นกันอยู่ตอนนี้ชัดเจน
ขบวนการหรือระบบของ สหภาพแรงงานเอง ก็ล้วนแต่มีผู้นำเป็นชาย เป็นใหญ่จำนวนมากที่มีอำนาจในการตัดสินใจ เพราะว่าเป็นขบวนการที่เติบโตขึ้นมาจากโครงสร้างสังคมอุตสาหกรรมที่มีแต่ ผู้ชาย อีกทั้งแกนนำสหภาพที่เกี่ยวข้อง ร่วมทั้งผู้นำพันธมิตรฯ ก็ล้วนแต่เป็นผู้ชายทั้งหมด ซึ่งก็คิดว่า เมื่อผู้หญิงขึ้นมานำก็ไม่รู้จะแตกต่างไปจากนี้หรือไม่ แต่สิ่งที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้ คือมันเป็นการเมืองแบบผู้ชายนำแล้วมันก็เป็นปัญหามาโดยตลอด ที่มักมองเรื่องการจัดการเป็นหลัก ไม่มองเรื่องการผสมผสาน หรือการมีส่วนร่วมที่แท้จริงเลย
เราจึงอยากเห็นขบวนการการเมืองที่มี ผู้หญิงมีส่วนร่วมจริงๆ หรือมีบทบาทในเชิงนโยบายมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราเชื่อว่าถ้ามันถึงขั้นนั้นจริงๆ แล้ว การเมืองจะเกิดความแตกต่างกว่าทุกวันนี้
“หากเราเปรียบ ‘ประชาธิปไตย’ เป็นเหมือนกับ ‘ต้นไม้’ นั่นคือเราให้มันเป็นประชาธิปไตยเคมีไม่ได้ ต้องเป็นประชาธิปไตยอินทรีย์ เราต้องร่วมกันมองประชาธิปไตยที่มีความหลากหลาย และยั่งยืน อยู่รวมกันได้แบบเกื้อกูลกันเป็นองค์รวม”
แต่การเร่ง ใส่ปุ๋ย ฉีดยาฆ่าแมลงกันอย่างขนานใหญ่ให้กับประชาธิปไตยในบ้านเราอยู่ในขณะนี้ ซึ่งคิดกันว่าจะทำให้ประชาธิปไตยของเรามันเข้มแข็งเติบโต มันกลายเป็นว่ามันมากเกินไป อาจทำให้มันร่อแร่ใกล้จะตายแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นการแก้ไขปัญหาประชาธิปไตยไม่ใช่การทำแบบนั้น แต่อาจต้องใช้วิธีแบบออการ์นิกฟาร์มมิ่ง – แบบเกษตรอินทรีย์ ที่ต้องยอมรับในความหลากหลาย ต้องค่อยๆ จัดการกับธรรมชาติอย่างนุ่มนวล ไม่ใช้สารเคมี ไม่มีการเร่งปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลง ต้องมีการแบ่งกันกินไป คนก็กิน แมลงก็กิน แล้วก็อยู่ร่วมกันได้ แล้วก็ใช้มูลวัว มูลควาย หรือสิ่งที่มีอยู่รอบข้างนำมาใช้
เพราะถ้าหากเราเปรียบ ‘ประชาธิปไตย’ เป็นเหมือนกับ ‘ต้นไม้’ นั่นคือเราให้มันเป็นประชาธิปไตยเคมีไม่ได้ ต้องเป็นประชาธิปไตยอินทรีย์ เราต้องร่วมกันมองประชาธิปไตยที่มีความหลากหลาย และยั่งยืน อยู่รวมกันได้แบบเกื้อกูลกันเป็นองค์รวม
ประเด็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ที่เป็นอุปสรรคใหญ่ของพัฒนาการระบบประชาธิปไตยในประเทศไทยมาโดยตลอดระยะเวลา กว่า 60 ปีมานี้ คือ กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายทหาร หรือบางฝ่ายมาโดยตลอด ฉะนั้นหากไม่มีการแก้กฎหมายตัวนี้หรือยกเลิกไป ความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมก็จะเป็นเรื่องถูกกฎหมายต่อไป ความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงตามหลักการ ตามอุดมการณ์ที่สังคมแสวงหาก็ย่อมเป็นจริงได้ยากมาก.
———————————–
ข้อมูลจาก http://www.localtalk2004.com/V2005/detail.php?file=1&code=a1_07092008_04