อีกหนึ่งชุดข้อเสนอ: เพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย
29 ธันวาคม 2554
แม้จะอยู่ท่ามกลางการใช้มาตรา 112 ปิดทุกการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะด้วยสุจริตใจก็ตาม เราจำเป็นต้องฝ่าความกลัวมาตรา 112 และกล้านำเสนออย่างตรงไปตรงมาว่า ประเทศไทยยามนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปที่จะเปิดพื้นที่แห่งการถกเถียงเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ผูกโยงอย่างแนบแน่นกับสถาบันทหาร ตำรวจ ข้าราชการ และสถาบันศาล
การมุ่งไปข้างหน้าตามครรลองวิถีประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง มันจำเป็นที่ประชาชนต้องเริ่มตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์และทหารของพระองค์ในหลายประเด็น ทั้งนี้เพื่อช่วยกันลดบรรยากาศแห่งความ “สุดทน” ให้เป็นเงื่อนไขให้เกิดการ “ลุกขึ้นสู้” และทำให้ “ทหาร” ใช้เป็นเงื่อนไขปฏิวัติในนาม “ปกป้องสถาบันฯ” ได้อีกต่อไป จึงขอนำเสนอข้อเสนอแนะ ที่คิดว่าควรจะมีการคุยกันได้อย่างเปิดเผยมากขึ้น ได้แก่ . .
1. เปิดให้อภิปรายได้อย่างกว้างขวางในเรื่องที่เกี่ยวกับการนำภาษีประชาชนไปใช้ เพื่อบำรุง/รักษา/ปกป้อง/สถาบันกษัตริย์ ทั้งงบอุดหนุนทางตรงที่ให้กับวัง กว่าปีละ 2-3,000 ล้านบาท (70 กว่าล้านยูโร สูงกว่าที่ประเทศสเปนอุดหนุนสถาบันกษัตริย์ของสเปนถึง 17 เท่า และสูงกว่าเกือบทุกประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ประชาชนต้องต้องสามารถวิจารณ์การนำภาษีของชาติไปใช้เพื่อการนี้ได้ และวังจะต้องเปิดเผยรายงานค่าใช้จ่ายต่อสาธารณชน – และงบทางอ้อม ที่จะพูดถึงต่อไป
2. ควรมีการตั้งคณะกรรมการที่พิจาราณาปรับปรุงแก้ไขเรื่องพระราชธรรมเนียมวิถีของพระราชสำนัก ที่หรูหราฟุ้มเฟือย ล้าสมัย มีระเบียบขั้นตอนมากเกินจำเป็น และไม่อยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิความเท่าเทียมกันของมนุษย์
3. ต้องตั้งคำถามกับการที่ทรงรับรองรัฐประหารและรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารร่วม 10 คณะ ตลอดรัชสมัย เพื่อที่จะบอกว่าไม่อาจจะทำเช่นนั้นได้อีกต่อไป . . ประเทศประชาธิปไตยไม่อาจยอมรับรัฐประหารได้ และพระประมุขของประเทศก็ไม่อาจรับหรือมีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับรัฐประหารได้อย่างเด็ดขาด!
4. ต้องเปิดให้มีการวิจารณ์การอ้างว่า “ปกป้องสถาบันฯ” ในโครงการ “พระราชดำริ” เพื่อ “เฉลิมพระเกียรติ” และตามปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” เพราะที่ผ่านมามีการใช้กันอย่างพร่ำเพรื่อ ตรวจสอบไม่ได้ และถูกข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือนักการเมืองที่ฉ้อฉล นำไปใช้ในทางที่ผิดมากมาย และยังใช้เป็นเกราะปกป้องการตรวจสอบและวิจารณ์จากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ รวมทั้ง “ในตัวของอำนาจต่างๆ ของมัน” ได้ปิดกั้นการแสวงหาแนวทางพัฒนาประเทศในวิธีอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มันได้มีอิทธิพลและส่งผลต่อการกำหนดทิศทางการใช้งบประมาณภาษีของประชาชนอีกปีละหลายแสนล้านบาท
5. ยกเลิกการผูกขาดแนวการแก้ปัญหาความเดือดร้อนดั่งเดิมตามวิถี “สังคมสงเคราะห์” แบบถุงยังชีพพระราชทานและในพระบรมราชา/ราชินูเคราะห์ หรือมูลนิธิภายใต้การกำกับของพระบรมวงศานุวงศ์ ต่างๆ แล้วเปิดพื้นที่นำเสนอแนวทางแก้ปัญหาด้วยการวางระบบ “ประกันสังคม” “ประกันวิกฤติภัยแบบฉุกเฉินและหลีกเลี่ยงไม่ได้” ให้กับคนทั้งประเทศ ปัจจุบันมีเพียงลูกจ้างรัฐและเอกชนเท่านั้นที่มีระบบประกันสังคมดูแลบ้าง (เมื่อยังคงสถานะเป็นลูกจ้างอยู่) ในขณะที่ประเทศไทยยังมีเกษตรกร คนหาเช้ากินค่ำ และคนที่ไม่ได้มีการจ้างงานในระบบอีกกว่า 70 % ที่ไม่มีระบบประกันสังคมใดๆ รองรับมากไปกว่า “ประกันสุขภาพ” ที่เลือกปฏิบัติและก็ยังไม่ดีพอ
6. ยกเลิกการปิดกั้นถนนอย่างพร่ำเพรื่อเวลาเสด็จ/ ยกเลิกการโฆษณาประชาสัมพันธ์ด้านเดียว/ ยุติการบังคับเสนอข่าวตอน 2 ทุ่ม/ ยุติการจัดฉากสร้างภาพเวลาเสด็จที่ไหน/ ยุติการรับหรือบริจาคในพระราชกุศล ฯลฯ
7. สิทธิในการ “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” หรือ “ต้องการให้มี” หรือ “ไม่ต้องการให้มี” สถาบันพระมหากษัตริย์ทำได้ในเกือบทุกประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ฯ ขั้วอำนาจเก่าในเมืองไทย โดยเฉพาะสถาบันทหารและตำรวจ ต้องยุติการสนับสนุนรอยัลลิสต์หัวรุนแรง ที่ปลุกกระแสความเกลียดชัง และยุยงให้ประชาชนฝ่ายรอยัลลิสต์ทำร้ายประชาชนคนอื่นที่คิดต่าง เพราะที่ผ่านมามีประชาชนต้องเสียชีวิตไปด้วยมาตรการนี้หลายหมื่นคนตลอดรัชสมัย มันเป็นการเสียชีวิตที่มากเกินพอแล้ว
8. ลดกองกำลังรักษาพระองค์จาก 50,000 กว่านาย เหลือไม่เกิน 1,000 นาย
9. ต้องยกเลิกมาตรา 112 แก้รัฐธรรมนูญในหมวดพระมหากษัตริย์ ยกเลิกองคมนตรี ลดพระราชอำนาจในการลงพระปรมาภิไธย ยุติบทบาทสถาบันฯ กับทางการเมืองโดยเด็ดขาด ฯลฯ
10. ต้องแยกองค์กรศาสนา ออกมาจากสถาบันพระมหากษัตริย์ และสถาบันการเมือง
11. รวมทั้งข้อเสนอ 8 ข้อของ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อันได้แก่
1. ยกเลิก รธน. มาตรา 8 เพิ่มมาตรา ในลักษณะเดียวกับ รธน.27 มิย 2475 (สภาพิจารณาความผิดของกษัตริย์)
2. ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา ม.112
3. ยกเลิก องคมนตรี
4. ยกเลิก พรบ. จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2491
5. ยกเลิก การประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด
6. ยกเลิก พระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด (4 ธันวา, 25 เมษา “ตุลาการภิวัฒน์” ฯลฯ)
7. ยกเลิก พระราชอำนาจ ในเรื่อง โครงการหลวง ทั้งหมด
8. ยกเลิก การบริจาค / รับบริจาค โดยเสด็จพระราชกุศล ทั้งหมด
ฯลฯ
* * * * * * * * *
นี่เป็นข้อเสนอชุดหนึ่งเท่านั้น ของประชาชนไทยคนหนึ่ง ด้วยเจตนาโดยสุจริตอย่างแท้จริง ที่ต้องการเห็นประเทศพัฒนาก้าวหน้าเป็นประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วม อย่างแท้จริง และไม่ต้องการเห็นการนองเลือดอีกครั้งหรือหลายครั้งในประเทศไทย
เราจะก้าวไปข้างหน้าไม่ได้ ถ้าสถาบันหลักของชาติอื่นๆ โดยเฉพาะสถาบันกษัตริย์ สถาบันทหาร ตำรวจ ศาล ข้าราชการ ที่อิงแอบกับพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ อย่างเหนียวแน่น ยังไม่ยอมรับวิถีประชาธิปไตย และปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกสมัยใหม่ และความบีบคั้นทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจของประเทศ
เราเชื่อว่า ประชาชนคนอื่นๆ ในประเทศไทย ยังมีข้อเสนออีกมากมาย ที่จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ตามครรลองวิถีของระบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน
ส่งเสริมให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเหล่านี้อย่างบริสุทธิ์ใจเถิด จักถือได้ว่าเป็นการ “ปรองดอง” เพื่อประโยชน์ของชาติที่ “ดีที่สุด” ยามนี้
จรรยา ยิ้มประเสริฐ
29 ธันวาคม 2554