ใจ อึ๊งภากรณ์
&
ประชาชนอ่องกงกำลังต่อสู้กับอำนาจรัฐอย่างน่าทึ่ง ขบวนการเคลื่อนไหวมีมวลชนนับล้านและรวมนักศึกษา คนหนุ่มสาว และคนทำงานในสหภาพแรงงานอิสระ (ที่ไม่ขึ้นกับฝ่ายรัฐของฮ่องกงกับจีน) สิ่งที่น่าชื่นชมคือความมุ่งมั่นในการต่อสู้ท่ามกลางการปราบปรามอย่างโหดร้ายรุนแรงของตำรวจ
นักเคลื่อนไหวไทยควรให้ความสนใจและเรียนรู้จากการต่อสู้กับเผด็จการครั้งนี้
สิ่งที่จุดประกายการลุกฮือคือการพยายามผ่านกฏหมายส่ง “คนร้าย” ข้ามพรมแดน ซึ่งในทางปฏิบัติจะทำให้รัฐบาลเผด็จการจีนสามารถควบคุมสังคมฮ่องกงมากขึ้น สภานิติบัญญัติของฮ่องกง ประกอบไปด้วยผู้แทนที่ได้รับการเลือกตามสาขาอาชีพผ่านกระบวนการกึ่งประชาธิปไตย แต่ตำแหน่ง “ผู้บริหารสูงสุด” ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน
การเรียกร้องให้ขยายสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งชาวฮ่องกงไม่เคยมี ไม่ว่าจะภายใต้อังกฤษหรือภายใต้จีน เป็นข้อเรียกร้องสำคัญที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวของ “ขบวนการร่ม” เมื่อห้าปีที่แล้ว
แต่ถ้าเราจะเข้าใจสถานการณ์ฮ่องกงในภาพรวม เราต้องพิจารณาสภาพชีวิตประจำวันและเรื่องปากท้องของประชาชน และการที่ฮ่องกงเชื่อมโยงกับเมืองยักษ์ใหญ่ในเขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก (Pearl River) หรือแม่น้ำจูเจียงอีกด้วย
ฮ่องกงเป็นเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง คนทำงานมักจะทำงานหลายชั่วโมงต่อวันและได้รับเงินเดือนต่ำ สภาพการขูดรีดเช่นนี้เป็นแรงดึงดูดการลงทุนจากภายนอก แต่ในขณะเดียวกันค่าที่พักพุ่งขึ้นสูง 242 % ท่ามกลางค่าแรงที่ถูกแช่แข็ง เมืองฮ่องกงขาดบ้านที่อยู่อาศัยในระดับวิกฤตจนประชาชน 2 แสนคนต้องอาศัยใน “ห้องโลงศพ” ที่มีพื้นที่สำหรับเตียงเล็กๆ เท่านั้น สาเหตุหนึ่งของวิกฤตที่อยู่อาศัยในฮ่องกง คือนโยบายรัฐบาบลที่พยายามกักตุนที่ดิน เพื่อเพิ่มกำไร
1.37 ล้านคนในฮ่องกงถือว่าอยู่ในระดับยากจนเพราะมีรายได้ต่ำกว่า HK$4000 ต่อเดือน ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจก็เริ่มมีปัญหาและขยายตัวช้าลง โดยเฉพาะในสาขาการนำเข้าและส่งออก ซึ่งเป็นสาขาที่สำคัญมากสำหรับคนทำงาน
สภาพเช่นนี้ทำให้ประชาชนจำนวนมากมีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเครียดและอาการซึมเศร้า โดยเฉพาะในหมู่คนหนุ่มสาวอายุ 19-24 นอกจากการทำงานหนักหลายชั่วโมงแล้ว นักศึกษาต้องเรียนหนักมากและไม่มีเวลาที่จะพักผ่อนเลย
นี่คือส่วนหนึ่งของแรงกดดันที่ทำให้ชาวอ่องกงลุกฮือทางการเมือง
นักศึกษาสนับสนุนการต่อสู้ของกรรมาชีพและสหภาพแรงงาน
แต่ฮ่องกงไม่ได้โดดเดี่ยวตัดขาดจากสังคมจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะรอบๆ ฮ่องกง มีการพัฒนาเมืองยักษ์ใหญ่ในเขตอ่าวแม่น้ำไข่มุก ที่มีประชากร 69 ล้านคน และเป็นศูนย์กลางการผลิตของบริษัทไอที และการประกอบรถยนต์ โดยที่เชื่อมโยงกับระบบไฟแนนส์และท่าเรือของฮ่องกง เศรษฐกิจในเขตนี้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนโตกว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย และมีการดึงเกษตรกรจากชนบทมาเป็นกรรมาชีพเป็นล้านๆ คน
อย่างไรก็ตามทั้งๆ ที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ความเหลื่อมล้ำในภูมิภาคนี้สูงมาก และคนงานใหม่ที่อพยพเข้ามาจากชนบท 63.8% ต้องทำงาน 7 วันโดยไม่มีวันหยุด โดยชั่วโมงการทำงานต่อสัปดาห์เฉลี่ยประมาณ 56 ชั่วโมง
สภาพเช่นนี้นำไปสู่การฆ่าตัวตายในโรงงาน Foxconn แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือนำไปสู่การต่อสู้ของกรรมาชีพ ในหนึ่งปีที่ผ่านมามีการนัดหยุดงานเกิดขึ้น 1,100 ครั้ง เกือบครึ่งหนึ่งในภาคก่อสร้าง และนักศึกษาจีนจาก 20 มหาวิทยาลัยก็มาสนับสนุนช่วยคนงานทั้งๆ ที่มักโดนปราบปรามจากรัฐ
มันไม่มีหลักประกันอะไรว่าขบวนการต่อสู้ของชาวฮ่องกงจะรวมตัวกับกระแสการนัดหยุดงานและความไม่พอใจในจีนแผ่นดินใหญ่ในเขตแม่น้ำไข่มุก แต่ถ้าเกิดขึ้นในอนาคต จะกลายเป็นขบวนการที่ท้าทายเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างแรง และเป็นโอกาสที่จะปลดแอกกรรมาชีพและนักศึกษาจากการกดขี่ขูดรีดของทุนนิยมทั้งในจีนและในฮ่องกง
เผยแพร่ครั้งแรกใน: Turnleft-Thailand https://turnleftthai.wordpress.com/2019/09/08