ข่าวเยอรมัน – กษัตริย์วชิราลงกรณ์อาจจะปกครองประเทศไทยจากบาวาเรีย

กษัตริย์วชิราลงกรณ์อาจจะแทรกแทรงการบริหารราชการไทยขณะที่พำนักอยู่บาวาเรีย

วันที่ 14.12.2020 18:00

ข่าวแปลจาก https://www.tagesschau.de/investigativ/wdr/thailand-koenig-111.html

ขณะนี้มีการประท้วงต่อต้านอำนาจครอบงำของรัฐบาลทหารและกษัตริย์ในกรุงเทพฯ โดยที่กษัตริย์ไทยใช้เวลาส่วนใหญ่พำนักอยู่ในแคว้นบาวาเรีย เยอรมนี จากการค้นคว้าข้อมูลโดยสำนักข่าว WDR และ SZ เราพบว่า มันมีความเป็นไปได้สูงมากที่ กษัตริย์วชริราลงกรณ์ได้ออกคำสั่งที่เกี่ยวกับการบริหารราชการไทยในขณะที่เขาอยู่ที่เยอรมนี

โดย Lena Kampf จากสำนักข่าว WDR

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กษัตริย์ไทยได้ปรากฎตัวขึ้นอีกครั้งในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกตาสำหรับชาวไทย เพราะปกติ กษัตริย์องค์นี้แทบไม่เคยอยู่ประเทศไทยเลยนับตั้งแต่ที่เขาขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการในปี 2562 เขาใช้เวลาส่วนมากพำนักอยู่ที่บาวาเรีย เยอรมนี ณ โรงแรม “Sonnenbichl” (ซอนเนินบิเชิล) ในเมืองที่ชื่อว่า Garmisch-Partenkirchen (การ์มิช – พาร์เทนเคียร์เชน)

การที่กษัตริย์ไทยมาอาศัยอยู่อย่างหรูหราที่บาวาเรียนั้น เดิมทีก็ก่อให้เกิดคำถามมากมายถึงความเหมาะสมอยู่แล้ว แต่หลังจากที่เกิดการประท้วงในประเทศไทยนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 การพำนักอยู่ในเยอรมนีของวชิราลงกรณ์ ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียด กลุ่มผู้ประท้วงฝ่ายประชาธิไตยชาวไทยได้เรียกร้องต่อรัฐบาลเยอรมัน ในฐานะที่เป็นประเทศผู้ให้ที่พำนักกับกษัตริย์ไทย พวกเขาโบกธงชาติเยอรมัน และชูป้ายข้อความต่างๆ เช่น “ไม่เอาการแทรกแซงการบริหารประเทศจากเยอรมนี” พร้อมทั้งข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ถูกเขียนลงจดหมายที่กลุ่มผู้ประท้วงยื่นต่อทูตเยอรมันในกรุงเทพฯ เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

การพำนักอยู่ในเยอรมนีในขณะที่ดำรงตำแหน่งประมุขของรัฐ

อย่างไรก็ดี จนถึงตอนนี้สถานทูตไทยในกรุงเบอร์ลินก็ยังยืนกรานซ้ำๆ ว่ากษัตริย์ไทยพำนักอยู่ในเยอรมันด้วยเหตุผลและเพื่อทำธุระส่วนตัว โดยที่ไม่ยอมให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว WDR และ SZ ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี Heiko Maas ก็ได้แสดงความเห็นในรัฐสภาเมื่อต้นเดือนตุลาคมว่า เขาไม่เชื่อว่ากษัตริย์ไทยได้ทำการแทรกแซงการบริหารประเทศไทยบนดินแดนเยอรมนี เขากล่าวเสริมว่า แต่ถ้าหากพบว่ามีการกระทำเช่นนั้น เยอรมนีก็พร้อมที่ดำเนินมาตรการตอบโต้

Heiko Maas รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี

สำนักข่าว WDR และ SZ จึงได้ทำการค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับข้อกล่าวอ้างนี้ และพบว่าข้อสงสัยที่ว่ากษัตริย์ไทยได้แทรกแซงกิจการรัฐไทยในขณะที่อยู่บาวาเรียเป็นเรื่องจริง เราติดตามการเคลื่อนไหวของเครื่องบินราชพาหนะส่วนพระองค์ เปรียบเทียบกับการออกพระบรมราชโองการ ในพระราชกิจจานุเบกษา โดยสำนักพระราชวังที่มีการลงพระปรมาภิไธย และรายงานจากหน่วยงานราชการในเยอรมนี ตลอดจนบทความข่าวต่างๆ ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถระบุได้อย่างแน่ชัดว่ากษัตริย์ไทย อยู่ที่ไหนในแต่ละวัน แต่จากหลักฐานทั้งหมดก็สามารถชี้ให้เห็นภาพกว้างได้ว่า ช่วงวันที่เขาลงนามในพระราชกฤษฎีกา และพระราชกิจจานุเบกษา เขาไม่ได้อยู่ประเทศไทย

อยู่ประเทศไทยเพียงแค่เก้าวัน

นับตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงกลางเดือนตุลาคม 2563 กษัตริย์ไทยปรากฎตัวในข่าวพระราชสำนักขณะที่มีพระราชกรณีกิจในประเทศเพียง 9 วัน แต่ตลอดทั้งปีกลับมีการลงนาม และออกคำสั่งจากทางวังอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น

  • ในวันที่ 18 มีนาคม มีการแจ้งจากสำนักเขต Garmisch-Partenkirchen ไปยังโรงแรม Sonnenbichl ว่า กษัตริย์ไทยได้รับการอนุญาตให้พักที่โรงแรม แม้ว่าจะอยู่ในระหว่างการระบาดของโรคโควิด 19 ในวันเดียวกันก็มีพระราชกิจจานุเบกษาแต่งตั้งนายพลและข้าราชการส่วนพระองค์ถึงสี่คน (http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/063/T_0001.PDF)
  • ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ก็มีการยืนย้นในบทความหนึ่งจากสำนักงานเขตว่า “เขาอยู่ที่นั่น” ในวันที่กษัตริย์ไทยส่งจดหมายแสดงความยินดีต่อประธานาธิบดีกรีซที่เนื่องในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ (ในฐานะประมุขของรัฐไทย)
  • ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรีไทยได้ให้สัมภาษณ์ว่ากษัตริย์สั่งไม่ให้เขาใช้กฎหมายมาตรา 112 กับผู้ชุมนุม และในวันเดียวกันเราก็พบว่าเครื่องบินส่วนพระองค์บินวนเล่นอยู่เหนือน่านฟ้าเมืองมิวนิค อย่างไรก็ดีเราก็ไม่สามารถระบุได้ว่าพระองค์โดยสารอยู่บนเครื่องหรือไม่
  • ในปลายเดือนกรกฎาคม มีคำสั่งอนุญาตให้ทหารจากหน่วยราชการในพระองค์เข้าร่วมกองกำลังควบคุมฝูงชนเพื่อปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง ในช่วงเวลาดังกล่าวเราพบว่ามีการบินไปมาของเครื่องราชพาหนะไปกลับระหว่างมิวนิค และซูริค โดยที่สำนักข่าวในสวิสเซอร์แลนด์ยืนยันว่าพระราชินีสุทิดาอาศัยอยู่ที่นั่น

นอกจากนี้ในปี 2562 กษัตริย์ไทยได้ห้ามพี่สาวของเขา ไม่ให้ลงเลือกตั้งในฐานะผู้เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเขาออกคำสั่งนี้ขณะที่อยู่ในเยอรมนี ยิ่งกว่านั้นมีความเป็นไปได้สูงมากว่าเขาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากเยอรมนี ดังจะเห็นได้ว่า ในวันที่แต่งตั้ง นายกรัฐมนตรีไทยมีภาพคุกเข่าต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์ แทนที่จะเป็นตัวพระองค์จริง นี่น่าจะเป็นเพราะว่ากษัตริย์ไทยไม่ได้อยู่ประเทศไทยในวันนั้นนั่นเอง

พระราชโองการจากบาวาเรีย?

นอกจากนี้จากการประมวลข้อมูลโดยนักกิจกรรมลี้ภัยชาวไทย จรรยา ยิ้มประเสริฐ เราพบว่ากษัตริย์ไทยยุ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยแทบทุกวันที่อยู่ในเยอรมนี มีการส่งจดหมายอย่างเป็นทางการจากวชิราลงกรณ์ให้กับประมุขของรัฐอื่นๆ เกือบ 100 ฉบับ และลงนามในพระราชกิจจานุเบกษาราว 40 ฉบับ

เหล่านักกิจกรรมและผู้วิจารณ์กษัตริย์ที่ลี้ภัยอยู่ในยุโรปและเอเชีย ต่างรายงานตรงกันว่ามีโทรศัพท์แปลกๆ และลอบทำร้าย ผู้ประท้วงที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ถูกคุกคาม ครอบครัวถูกข่มขู่ ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าผู้บงการคือรัชกาลที่ 10 แต่ตอนนี้ผู้ที่กำลังเดือดร้อนกำลังตั้งคำถามกับรัฐบาลเยอรมนี ว่าจะรับผิดชอบอย่างไรกับการปล่อยให้กษัตริย์ไทยพำนักอยู่ในประเทศ และยังคงแทรกแซงการเมืองไทย

ข้อเรียกร้องต่อเยอรมนี

ผู้ลี้ภัยเช่นจรรยา ยิ้มประเสริฐ เธอลี้ภัยออกจากประเทศไทยมาอยู่ฟินแลนด์เป็นเวลาสิบปีแล้ว และขณะนี้ก็อยู่เบอร์ลินมาได้สองเดือน สิ่งที่เธอต้องการก็คือการเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบอย่างละเอียดว่ากษัตริย์ไทย ได้แทรกแซงกิจการรัฐไทยบนแผ่นดินเยอรมนี เธอต้องการคำอธิบายเกี่ยวกับการหายตัวไปของผู้ต่อต้านและวิจารณ์ระบบการปกครอง ถึงแม้ว่าจะไม่มีหลักฐานที่เชื่อมโยงชัดเจนว่ากษัตริย์เป็นผู้สั่งการการอุ้มฆ่า แต่เป็นที่รู้กันว่าประเทศไทยนั้นตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ที่มีการสอดส่องควบคุม และคุกคามประชาชน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวอีกว่า กษัตริย์ไทยมีอิทธิพลทางการเมืองสูมาก เขาสั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2559 เพื่อที่จะไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลาที่เขาอาศัยอยู่ในต่างแดน

นับตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม กษัตริย์ไทยได้กลับมาพำนักในประเทศไทยอีกครั้ง โดยไม่มีกำหนดว่าจะกลับเยอรมนีเมื่อไหร่ เมื่อเราสอบถามไปยังรัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี Heiko Maas เขาก็ไม่ได้พูดถึงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์ไทยบนแผ่นดินเยอรมนีอีก แต่กลับระบุว่า กษัตริย์ไทยจะต้องไม่ละเมิดกฎหมายเยอรมัน และไม่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชน ในขณะที่สถานทูตไทยยังคงเงียบและไม่ตอบข้อคำถามของเราเกี่ยวกับภารกิจของกษัตริย์ และข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงชาวไทย