ข่าวเยอรมัน – กษัตริย์แห่งบาวาเรีย

แปลจาก Süddeutsche Zeitung ฉบับที่ 290 วันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563

https://www.sueddeutsche.de/politik/thailand-koenig-bayern-1.5147424

กษัตริย์แห่งบาวาเรีย

เขากลับไปอยู่ประเทศไทยในช่วงพระราชพิธีขึ้นครองราชย์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2562

มหาวชิราลงกรณ์คือกษัตริย์ไทยแห่งราชวงจักรี แต่เขารักเยอรมนี และนั่นก็เป็นปัญหาเพราะไม่มีใครรู้ว่าเขามาทำอะไรที่เยอรมนี

ข่าวโดย Patrick Bauer, Lena Kampf และ Lisa Schnell


ในวันที่เกิดการยิงเพื่อสลายการชุมนุมในกรุงเทพ ไกลออกไป 8,600 กิโลเมตร จรรยา ยิ้มประเสริฐ กำลังนั่งทำงานอยู่ที่เบอร์ลิน เธอทำเหมือนที่เธอทำในทุกๆ วันในการต่อสู้กับกษัตริย์ไทย เธอหยิบโน้ตบุคออกมาจากกระเป๋า บนหน้าจอของเธอมีข่าวเกี่ยวกับการประท้วงที่กรุงเทพ ผู้ประท้วงอย่างน้อย 55 คนได้รับบาดเจ็บ และมีอีกหลายรูปแสดงภาพเป็ดยางสีเหลือง ที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้ป้องกันตัวเองจากปืนฉีดน้ำแรงดันสูงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จรรยาเองก็อยากจะไปเข้าร่วมการประท้วง เพราะในวันนี้สิ่งที่ผู้ประท้วงเรียกร้องนั้น เป็นสิ่งที่เธอเองไม่คิดฝันว่าจะได้เห็น นั่นคือการที่กษัตริย์ไทย ซึ่งเป็นสถาบันที่คนไทยไม่กล้าแตะต้อง กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาในที่สาธารณะ แต่การกลับไทยสำหรับจรรยานั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เธออยู่ในสถานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่ทางการไทยขึ้นประกาศจับมาหลายปีแล้ว และแม้ว่าเวลานี้เธอจะอยู่ที่เบอร์ลิน แต่เธอก็ยังคงหวาดกลัว เพราะหากกษัตริย์ไทยต้องการจะฆ่าใครจริงๆ แล้วละก็ เขาสามารถทำได้ไม่ว่าจะอยู่ทีไหนในโลก

ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่าจรรยาถูกคุกคามในเยอรมนี หรือแม้แต่กรณีที่ผู้ต่อต้านกษัตริย์ถูกสังหารโหด ก็ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงไปถึงกษัตริย์ไทย แต่จรรยากล่าวว่าเธอมีหลักฐานมากพอที่จะเชื่อว่ากษัตริย์ไทยมีกำลังและอำนาจมากพอที่จะทำเช่นนั้นได้ เธอกลัวจนไม่กล้าแม้แต่จะโทรศัพท์หาครอบครัวในเมืองไทย เพื่อปกป้องไม่ให้พ่อแม่ของเธอถูกคุกคามไปด้วย

จรรยา ยิ้มประเสริฐ อายุ 54 ปี มีชื่อเล่นว่า เล็ก เธอเป็นลูกคนที่แปดจากเก้าคน และเป็นคนแรกจากหมู่บ้านชนบท ที่ได้เรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เธอขยับแว่นตาให้เข้าที่ และเริ่มเปิดแฟ้มภาพ บนคอมพิวเตอร์ของเธอ แฟ้มแรก อัลบั้มภาพถ่ายที่คาดว่าเป็นการทรมานนักโทษในคุกลับที่อยู่ในวังทวีวัฒนา แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เธอกำลังหา เธอเปิดอีกแฟ้ม แล้วก็พบกับข้อมูลที่เธอทำการค้นคว้า นั่นคือข้อมูลที่บอกว่ากษัตริย์ไทยอยู่ไหนบ้างตั้งแต่ปี 2018 และจากหลักฐานก็ชี้ว่าเขาแทบไม่ได้อยู่เมืองไทยเลย ในทางกลับกัน กษัตริย์ไทยอยู่ที่เยอรมนีบ่อยที่สุด

คำถามก็คือ เขามาทำอะไรที่เยอรมนี นอกเหนือไปจากการเดินเล่นใส่เสื้อครอปทอป โชว์หน้าท้องอยู่ในห้างที่นี่

ถึงแม้ว่า จรรยา จะไม่สามารถเข้าร่วมการประท้วงในเมืองไทยได้ แต่เธอจะประท้วงจากเบอร์ลิน โดยที่เธอเดินทางมาจากฟินแลนด์มาพักที่เบอร์ลินได้เป็นเวลาสามเดือนแล้ว เธอมีสัมภาระเพียงแค่กระเป๋าเสื้อผ้าใบเล็ก โนตบุค และเงินสดเพียง 27 ยูโร ปัญหาของเธอตอนนี้ไม่ได้มีเพียงแค่กษัตริย์ไทย

จรรยาชี้บนตารางแสดงการเคลื่อนไหวตลอดปีของวชิราลงกรณ์ “รัฐบาลเยอรมนีจะว่าอย่างไร หากกษัตริย์ไทย บริหารราชการแผ่นดินไทย ในขณะที่พำนักอยู่ในเยอรมนี”

มหาวชิราลงกรณ์ คือกษัตริย์องค์ปัจจุบันของประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2559 เขาได้ปักหลักอาศัยอยู่ในแคว้นบาวาเรียเป็นเวลาหลายปี ก่อนที่จะเดินทางกลับมาประเทศไทยโดยไม่มีกำหนดกลับเยอรมนีตั้งแต่ช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเพราะเขารักทิวทัศน์ในหุบเขาของบาวาเรีย หรือมาเพื่อรักษาตัวตามที่ลือกันในเมืองไทย ก็ไม่มีใครตอบได้ – เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า เขาจะกลับเยอรมนีไหม และเมื่อไหร่ แต่ไม่ว่าคำตอบจะเป็นแบบไหน สิ่งที่เราทราบอย่างแน่นอนก็คือ พระราชวังที่เป็นทางการของวชิราลงกรณ์ อยู่ที่กรุงเทพ และเขายังมีวังที่ไม่เป็นทางการ อันเป็นคฤหาสน์อยู่ที่ Tutzing และเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาก็ย้ายไปพักที่โรงแรมหรู “Grand Hotel Sonnenbichl” ในเมือง Garmisch-Partenkirchen

หากชาวไทยคนใดอยากจะรู้ว่ากษัตริย์ของเขาอยู่ที่ไหนบ้างในแต่ละวัน ก็คงจะต้องถามจากญาติที่อาศัยอยู่ในเยอรมนี ข่าวของกษัตริย์ไทยก็หาได้จากหนังสือพิมพ์ซุบซิบคนดัง ซึ่งนักข่าวได้ตั้งฉายาให้กับวชิราลงกรณ์ว่า ไทยคินิ (Thai-Kini) โดยคำว่า Kini นั้น เป็นชื่อที่ชาวบาวาเรียนเรียกกษัตริย์ของพวกเขาในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งในวันนี้ไม่มีกษัตริย์แห่งบาวาเรียอีกแล้ว แต่พวกเขามีกษัตริย์จากราชวงศ์จักรีมาแทน ซึ่งคนเยอรมันต่างจดจำกษัตริย์ไทยผู้นี้ได้อย่างติดตาจากภาพที่เขาเดินอวดหน้าท้องอยู่ในห้าง หรือไม่ก็จากภาพทีเขาใส่กางเกงตัวจิ๋วปั่นจักรยาอยู่ในเทือกเขาแอลป์ ไม่ว่าภาพจำของคนเยอรมันจะเป็นภาพไหน แต่สิ่งหนึ่งที่กษัตริย์ไทยเป็นที่จดจำคือ “น่าหัวร่อ”

ในวันนี้ผู้ประท้วงในประเทศไทยหลายหมื่นคนออกมารวมตัวในกรุงเทพ พวกเขาเรียกร้องประชาธิปไตย และต้องการการปฎิรูปรัฐบาลและกษัตริย์ เพียงแค่ 1 สัปดาห์ ก็มีผู้ประท้วงถึง 15 คนถูกเรียกไปรายงานตัวกับตำรวจในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งข้อหานี้มีโทษสูงสุดคือจำคุก 15 ปี จู่ๆ เยอรมนีก็กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งในประเทศไทย และผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้เยอรมนี แสดงท่าทีต่อบทบาทของตนเอง ภาพผู้ประท้วงโบกธงชาติเยอรมนี พร้อมป้ายข้อความภาษาเยอรมันเขียนว่า “เราต้องการความช่วยเหลือจากคุณ” เช่นเดียวกับจดหมายเปิดผนึกที่กลุ่มผู้ประท้วงยื่นต่อเอกอัครราชทูตเยอรมนีในกรุงเทพ

แม้ว่าวชิราลงกรณ์จะอาศัยอยู่ในเยอรมนีมาเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีใครสนใจ แต่ในวันนี้กลับมีคำถามว่า เขาไปทำอะไรอยู่ที่นั่น

ในวันที่ 7 ตุลาคม 2563 กษัตริย์วชิราลงกรณ์น่าจะยังอยู่ที่ Garmisch ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนี Heiko Maas จะต้องตอบคำถามนี้
“เราได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่าพระราชกรณียกิจใดๆ ที่มีผลต่อประเทศไทย จะต้องไม่เกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี แต่หากเราพบว่ามีการกระทำดังกล่าว เราจะดำเนินการตอบโต้อย่างเด็ดขาด”

นี่ดูเหมือนจะเป็นคำเตือนต่อกษัตริย์ไทย แต่อย่างไรก็ดี จากการค้นคว้าข้อมูลโดยสำนักข่าว SZ และ WDR เราพบว่ามีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า กษัตริย์ไทยได้ทำให้สิ่งที่รัฐบาลเยอรมันบอกว่าห้ามทำลงไปแล้ว เขาแทรกแซงราชการแผ่นดินไทยบนแผ่นดินเยอรมนี

ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถระบุได้ว่ากษัตริย์ไทยอยู่ที่ไหนบ้างในแต่ละวัน แต่เราสามารถวาดภาพคร่าวๆ จากหลักฐานที่ได้จากเวบไซต์บันทึกการบินอย่าง Flight-radar24 ได้ เป็นที่รู้กันว่ากษัตริย์ไทยเป็นนักบินด้วย เขาทำการขับเครื่องบินด้วยตัวเองบ่อยๆ นอกจากนี้เรายังสามารถตรวจสอบจากข่าวพระราชสำนัก วันที่ลงนามในพระราชโองการ การสืบค้นได้รับความร่วมมือจาก จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ที่ได้ให้หลักฐานเพิ่มเติมกับเรา
หนึ่งในหลักฐานที่เราค้นพบก็คือ: นับตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงต้นเดือนตุลาคม 2563 มีเพียงเก้าวันเท่านั้น ที่กษัตริย์ไทยมีหลักฐานว่าอยู่ในประเทศไทย แต่ถึงกระนั้นวชิราลงกรณ์กลับยุ่งเกี่ยวกับราชการการเมืองตลอดทั้งปี จากข้อมูลที่จรรยาค้นพบ มีสารจากวชิราลงกรณ์ไปยังผู้นำประเทศต่างๆ ถึง 100 ฉบับ และ พระราชกฤษฎีกาที่ลงนามราว 40 ฉบับ และเป็นไปได้สูงมากว่า เอกสารเหล่านี้ส่วนมากถูกลงชื่อและส่งออกจากบาวาเรีย

ถ้านานๆ ละเมิดกฎ เยอรมนีก็พอจะทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น แต่กรุณาอย่าทำตลอดเวลาได้ไหม

ตัวอย่างเช่น

  • ในวันที่ 18 มีนาคมสำนักงานเขตเมือง Garmisch-Partenkirchen ได้แจ้งให้ทางโรงแรม Grand Hotel ทราบว่าทางเมืองอนุญาตให้องค์กษัตริย์พำนักอยู่ที่นั่นได้ แม้ว่าจะอยู่ในช่วงโรคระบาด ซึ่งตามปกติแล้วโรงแรมทุกแห่งจะต้องปิดไม่รับแขก ด้วยเหตุผลว่าพระองค์พำนักอยู่ที่นั่น ด้วยสถานะที่ไม่ใช่นักท่องเที่ยว แต่ในวันเดียวกันเราพบเอกสารพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายพลหลายคน
  • ในปลายเดือนมีนาคมก็มีการอ้างอิงถึงในเอกสารของทางสำนักงานเขตระบุว่า “กษัตริย์ไทยอยู่ที่นั่น” และในช่วงเวลาเดียวกันก็มีสารแสดงความยินดีจากกษัตริย์ไทย ถึงประธานาธิบดีกรีซในโอกาสเข้ารับตำแหน่ง
  • ในช่วงกลางเดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรีของไทยก็ประกาศว่า กษัตริย์วชิราลงกรณ์ได้สั่งห้ามเขาไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับกลุ่มผู้ประท้วง ในวันเดียวกันนั้นเอง เราพบหลักฐานการบินของเครื่องบินพระราชพาหนะโบอิ้ง 737 วนเหนือเมืองมิวนิค โดยไม่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขาอยู่บนนั้นหรือไม่
  • ปลายเดือนมิถุนายน กษัตริย์ลงนามในพระราชกฤษฎีกา ออกคำสั่งให้ตำรวจกองกำลังรักษาพระองค์สามารถเข้าร่วมปฎิบัติการควบคุมฝูงชน ในช่วงเวลานั้น เราก็พบว่าเครื่องบินราชพาหนะมีความเคลื่อนไหว โดยบินไปกลับระหว่างมิวนิค และซูริค ซึ่งเราได้รับการยืนยันจากสื่อในสวิสเซอร์แลนด์ว่าพระราชินีประทับอยู่ที่นั่น
  • ในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 เวลา 9.47 นาฬิกา วชิราลงกรณ์ปรากฎตัวที่สนามบินมิวนิคเพื่อต้อนรับพระชายาก้อยในชุดครอปทอป โดยที่ไม่กี่เดือนก่อนเขากล่าวหาว่าเธอแสดงความไม่จงรักภักดี และส่งเธอเข้าคุก แต่ในวันนี้เขาให้เธอมาเยอรมนี และมาต้อนรับด้วยตัวเอง พร้อมกับพระบรมราชโองการยกเลิกข้อกล่าวหาทั้งหมด
  • ในปี 2562 กษัตริย์ไทยได้ออกมาห้ามไม่ให้พี่สาวของเขาลงเลือกตั้งในนามของผู้ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่าคำสั่งถูกส่งออกมาจากเยอรมนี และเป็นไปได้มากว่าเขาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันจากเยอรมนีด้วยซ้ำ จากที่เราเห็นภาพของนายกรัฐมนตรีในพิธีเข้ารับตำแหน่งโดยคุกเข่าอยู่ต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของร.10 ผู้ที่น่าจะอยู่ในเยอรมนีในเวลานั้น
    ซึ่งรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีเคยกล่าวไว้ว่า กิจการบริหารประเทศไทยนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นบนแผ่นดินเยอรมนี

ก่อนหน้านี้ หากกษัตริย์ไทยจะแปรพระราชฐานไปต่างประเทศก็จะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แต่รัชกาลที่สิบได้สั่งให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เขาสามารถอยู่ต่างประเทศได้โดยไม่ต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการ นี่ยิ่งทำให้นักวิเคราะห์เชื่อว่ากษัตริย์ไทยตั้งใจที่จะปกครองประเทศจากเยอรมนี และเห็นได้ชัดว่าสำนักงานการต่างประเทศของเยอรมันก็เชื่อเช่นกัน ดังจะเห็นได้จากคำแถลงของรัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมันเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่มีท่าทีอ่อนลงอย่างมาก สามสัปดาห์ถัดมาตัวแทนของคณะกรรมการต่างประเทศได้แถลงในที่ประชุมสภาว่า ที่ผ่านมาเขาไม่เห็นว่าการดำเนินกิจการรัฐไทยบนแผ่นดินเยอรมนีเป็นปัญหา แต่ถ้าหากว่ามันยังเกิดขึ้นอีกในอนาคตเท่านั้น ที่ไม่เป็นที่พึงปรารถนา นั่นแปลได้ว่า รัฐบาลเยอรมนีเห็นว่าการบริหารราชการแผ่นดินไทยบ้างชั่วครั้งชั่วคราวบนแผ่นดินเยอรมนีนั้นยอมรับได้ แต่อย่าทำตลอดเวลา

ในเอกสารหลักฐานที่เรารวมรวมมาได้ จะเห็นได้ว่าร.10 มีการแทรกแซงกิจการภายในประเทศไทยโดยเฉลี่ยแทบจะทุกๆ สองวัน และส่วนมากจะกระทำในขณะที่พำนักอยู่ในเยอรมนี กระทรวงต่างประเทศเยอรมนีออกมาแก้ต่างโดยอ้างอิงคำชี้แจงจากรัฐบาลไทยว่า “กษัตริย์ไทยพำนักอยู่ในเยอรมนีด้วยธุระส่วนตัว” จริงอยู่ว่าร.10 มีวีซ่าในฐานะบุคคลทั่วไป แต่เมื่อเขาเป็นประมุขของรัฐ มันเป็นไปไม่ได้ที่ประมุขของรัฐจะเดินทางโดยผลกระทบทางการเมืองมาเกี่ยวข้อง และเมื่อสำนักข่าว SZ และ WDR สอบถามไปยังสถานทูตไทย ก็ไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใด

แต่ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศจะอ้างอย่างไร กษัตริย์ไทยที่มาพักร้อนที่เยอรมนี ก็ไม่ได้มาอยู่ที่นี่ในฐานะนักท่องเที่ยว เพราะจากคำสั่งอนุญาตของสำนักงานเขต Garmisch-Partenkirchen ระบุว่านักท่องเที่ยวจะไม่สามารถเช่าโรงแรมอยู่ในในช่วงวิกฤติไวรัสโคโรนา แต่ในเมื่อเขาไม่ใช่นักท่องเที่ยว และเขาก็ไม่ใช่ตัวแทนรัฐ แต่มาอยู่ในฐานะบุคคลที่มีธุระส่วนตัวที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว เข้าใจตรงกันนะ

เราอาจจะคิดว่ากษัตริย์นั้นอยู่เหนือการเมืองและจะไม่ทำอะไรที่ก่อให้เกิดปัญหา แต่ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายระหว่างประเทศ Stefan Talmon แห่งมหาวิทยาลัยบอนน์กล่าวว่าการพำนักอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลายาวนานของกษัตริย์ไทย เป็นปัญหาร้ายแรงในแง่ของกฎหมายระหว่างประเทศ เขาได้ทำการค้นคว้าหากรณีเทียบเคียงเป็นเวลานานและได้พบกรณีในปี 1657 ที่พระราชินีคริสตินาแห่งสวีเดนสั่งประหารลูกน้องของเธอในฝรั่งเศส ในเวลานั้นถึงแม้ว่าคนฝรั่งเศสจะไม่ได้ต่อต้านการประหารชีวิต แต่ก็โกรธที่พระราชินีสวีเดนใช้อำนาจของตนบนแผ่นดินฝรั่งเศส กลับมาที่ปัจจุบัน รัฐบาลเยอรมนีเองก็ไม่สบายใจที่จะต้องต้อนรับแขกของประเทศ ที่ถูกมองว่าเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตย ดังนั้น พวกเขาจึงเตือนกษัตริย์ว่า เขาจะมาปั่นจักรยานที่นี่ก็ได้ แต่จะปกครองประเทศจากที่นี่ไม่ได้ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ เยอรมนีอาจจะระบุได้ว่าอนุญาตหรือห้ามอะไรในประเทศของตนเองได้ แต่กระนั้นการห้ามดำเนินการกิจการระหว่างประเทศ ยังคงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน

ตัวอย่างเช่น การที่ Angela Merkel ส่งข้อความทางมือถือให้กับ Horst Seehofer (รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของเยอรมนี) จาก Tyrol (เมืองในประเทศออสเตรีย) หรือการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G-7 ในฮัมบูร์กล่ะ นับเป็นการแทรกแซงกิจการประเทศบนดินแดนประเทศอื่นหรือไม่ ถ้าหากว่าผู้นำประเทศอื่นไม่สามารถตัดสินใจ หรือสั่งงานจากเยอรมนีได้ ต่อไปพวกเขาก็คงไม่เดินทางมาเยอรมนีอีก และความสัมพันธ์กับต่างประเทศของเยอรมนีจะพลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ นี่คงเป็นสิ่งที่ Hugo Mass รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนีไม่ต้องการที่จะเห็น เขาไม่สามารถแสดงจุดยืนอยู่ข้างกลุ่มผู้ประท้วงได้ เพราะความสัมพันธ์ทั้งทางการเมือง และเศรษฐกิจกับประเทศไทยนั้นดีมาตลอด นอกจากที่มีชาวเยอรมันที่เกษียณอายุแล้วไปปักหลักอยู่เมืองไทยหลายพันคนแล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวจากเยอรมนีไปเที่ยวประเทศไทยราว 9 แสนคนในทุกๆ ปี การแตกหักกับพระราชวงศ์ไทย จะทำให้ทุกคนตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

“โอ๊ย หายใจไม่ออก” น้องชายของเธอพูดผ่านโทรศัพท์ ก่อนที่จะหายตัวไป

อย่างไรก็ดี Heiko Maas ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องที่กษัตริย์ไทยจะบริหารประเทศไทยจากเยอรมนีได้หรือไม่อีกต่อไป แม้แต่ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว SZ และ WDR เจ้าหน้าที่สำนักงานการต่างประเทศก็ไม่ได้ตอบคำถามนั้น แต่กลับระบุว่า กษัตริย์ไทยไม่สามารถละเมิดกฎหมายเยอรมัน หรือละเมิดสิทธิมนุษยชนได้ ด้วยน้ำเสียงที่กระด้างขึ้น และเมื่อไม่นานมานี้ ก็มีคำถามเกี่ยวกับการเสียภาษีมรดกของวชิราลงกรณ์ โดยเขาจะอาจจะต้องจ่ายถึงสามพันล้านยูโร

Maas กล่าวในปลายเดือนตุลาคมว่า พระราชกรณียกิจของกษัตริย์ไทยขณะพำนักอยู่ในเยอรมนีกำลังถูกตรวจสอบ การตรวจสอบพระราชกรณียกิจนั้น ไม่ใช่เรื่องปกติทางการทูต นี่ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความเอาจริงเอาจังของรัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมัน และยิ่งเพิ่มความหวังให้กับเหล่าผู้ประท้วงในไทยมากขึ้นว่าพวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมนี

จรรยา ยิ้มประเสริญ ผู้ที่ต้องการให้ Maas รักษาคำพูดของเขา เธอเล่าถึงเรื่องของ วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมประชาธิปไตยที่ลี้ภัยไปอยู่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาตั้งแต่ปี 2557 หลังการรัฐประหาร เขาถูกจับตัวและอุ้มหายไปในวันที่ 4 มิถุนายน 2563 จรรยากล่าวว่า รัฐบาลเยอรมันต้องตรวจสอบเรื่องนี้เช่นกัน ปัจจุบัน ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ เป็นรัฐที่มีการละเมิดสิทธิ และคุกคามประชาชน ยิ่งไปกว่านั้น กษัตริย์ก็ยังมีอิทธิพลต่อการเมืองมาก นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ความคิดเห็นจากผู้ประท้วงเท่านั้น แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญอย่าง ศาตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์ Aurel Croissant จากเมือง Heidelberg ในเยอรมนี ผู้ที่ทำวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย ก็แสดงความคิดเห็นในทางเดียวกัน

หนังสือพิมพ์ New York Times ยังรายงานถึงผู้ลี้ภัยการเมืองชายไทยอีก 3 คน ที่ถูกอุ้มหายในประเทศลาว ในปี 2562 สองคนที่หายไปถูกพบเป็นศพในแม่น้ำโขง กรณีนี้คล้ายคลึงกับกรณีของวันเฉลิม กล่าวคือ “พวกเขาได้วิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือกษัตริย์ แล้วจากนั้นก็หายตัวไป”

สิตานันท์ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม แทบจะหมดหวังว่าน้องชายของเธอยังมีชีวิตอยู่ “หายใจไม่ออก” คือคำสุดท้ายที่เธอได้ยินในโทรศัพท์ ตอนแรกเธอก็คิดว่าเขาอาจจะประสบอุบัติเหตุ จากนั้นสัญญาณโทรศัพท์ก็หายไป มีพยานให้การในภายหลังว่าวันเฉลิมถูกขายฉภรรจ์พร้อมอาวุธหลายคนจับตัวลากขึ้นรถตู้ โดโยต้า ไฮแลนเดอร์สีเข้ม

ตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายน พี่สาวของวันเฉลิมเดินทางไปกรุงพนมเปญ พร้อมกับ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ทนายด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อเป็นพยานให้การต่อผู้พิพากษากัมพูชา ในขณะที่ศาลยุติธรรมของไทยไม่ได้สอบสวนคดีนี้แต่อย่างใด สิตานันท์ และพรเพ็ญ เดินทางไปตรวจสอบห้องอพาร์ทเมนต์ที่วันเฉลิมเคยอาศัยอยู่ การอุ้มหายในย่านชุมชนในตอนเย็นที่มีคนพลุกพล่านอย่างนั้น พรเพ็ญสงสัยว่านี่จะเป็นคำสั่งที่มาจากผู้ที่มีอำนาจมหาศาล เธอต้องการให้มีองค์กรอิสระมาตรวจสอบหลักฐานในคดี สิตานันท์ เคยกล่าวต่อสถานทูตเยอรมนีในกรุงเทพว่า เธอหวังว่ารัฐบาลเยอรมัน จะยอมให้เธอเสนอเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของเยอรมนี เธอไม่รู้ว่าน้องชายของเธออยู่ไหน แต่เธอรู้ว่ากษัตริย์ไทยอยู่ที่เยอรมัน ในวันที่น้องชายของเธอหายตัวไป

กาลครั้งหนึ่ง มีผู้คนคอยโปรยกลีบดอกไม้ตามทางเดินเพื่อให้พระราชาเดินไปปัสสาวะ

สถานทูตไทยยังคงไม่ตอบรับต่อคำถามของเรา ในขณะที่กลุ่มผู้ประท้วงถามถึงความรับผิดชอบของเยอรมนี ถึงแม้ว่าการต่างประเทศจะออกมาตอบโต้ว่า “ไม่พบหลักฐานที่เชื่อถือได้ว่ากษัตริย์ไทยละเมิดกฏหมาย หรือสิทธิมนุษยชนจากเยอรมนี”

Heiko Maas ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่าเยอรมนีคาดหวังให้กษัตริย์ประพฤติตัวอย่างไร ถ้าหากว่าเขาละเมิดกฎหมาย หรือหลักการของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในอนาคตกษัตริย์ไทยอาจจะทำได้แค่มองภาพทิวทัศน์เทือกเขาแอลป์จากภาพถ่ายเท่านั้น เป็นไปได้สูงมากว่าไม่มีใครเคยแสดงออกเช่นนี้ต่อกษัตริย์สมมติเทพอย่างวชิราลงกรณ์มาก่อน แต่ไม่ว่าในทางทฤษฎี กษัตริย์ไทยจะเป็นที่ต้อนรับหรือไม่ แต่ในบางพื้นที่ผู้คนก็ยินดีต้อนรับเขาไม่ว่าเขาจะละเมิดกฎหมายอย่างไร

ข้างหลังโรงแรม Grand Hotel Sonnenbichl ที่ซึ่งเจ้าของไม่ยอมให้สัมภาษณ์กับนักข่าว ยังคงมีรถตู้สีดำจอดอยู่ เชื่อกันว่านี่คือรถตู้ที่วชิราลงกรณ์ใช้ในวันที่เขาอยู่ที่นี่ กระจกนั้นติดฟิลม์ดำสนิท ในขณะที่สุนัขทรงเลี้ยงของร.10 เป็นที่รู้จักของคนแถวนั้นเป็นอย่างดี เพราะพวกสุนัขได้ออกมาเล่นในสวนสาธารณะของเมืองบ่อยๆ

เมื่อมีคนถามถึงชาวเมืองเกี่ยวกับกษัตริย์ไทยองค์นี้ ผู้คนมักจะถามว่าเมื่อไหร่เขาจะกลับมาอีก พวกเขาคิดถึงวันเวลาที่มีชายชุดดำเข้ามาขออนุญาตโรงแรม หรือร้านอาหาร ให้พวกเขาโปรยกลีบดอกไม้ตามทางเดินเข้าห้องน้ำ เมื่อกษัตริย์ของเขาต้องการจะแวะปัสสาวะระหว่างการปั่นจักรยาน ยิ่งในตอนนี้ที่ธุรกิจการท่องเที่ยวถูกทำลายลงด้วยโรคระบาดโคโรนา ใครๆ ก็อยากได้ลูกค้าแบบนี้ ลองจินตนาการดูสิว่า ราชาที่รวยที่สุดในโลก ต้องการจะมาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านของคุณ มันจะเป็นยังไง

ชีวิตอิสระใน Garmisch มีความหมายต่อกษัตริย์ไทยมาก เพราะเขาจะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ โดยไม่ต้องระวังสายตาของชาวไทย แต่สำหรับศัตรูของเขา อย่างนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ จรรยา ยิ้มประเสริฐ นี่เป็นโอกาสอันดีที่เธอจะเข้าใกล้กษัตริย์ได้อย่างที่ปกติจะเป็นไปไม่ได้ในประเทศไทย ไม่ว่าจะหน้าโรงแรม Sonnenbichl หรือ หน้าคฤหาสน์ใน Tutzing เธอสามารถเปิดโปงพฤติกรรมไร้ยางอายของเขาได้ เธอยอมรับว่าเธอมีความกลัวต่อกษัตริย์ผู้นี้อยู่ แต่เธอไม่ต้องกังวลว่าจะถูกรัฐบาลเยอรมันหรือเจ้าหน้าที่รัฐทำร้าย เธอมั่นใจว่าบนแผ่นดินเยอรมนี กษัตริย์จะถูกสอบสวนหากมีข้อสงสัยว่าเขากระทำผิด และด้วยเหตุนี้เธอจึงทำการรวบรวมเบาะแสต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกระทำผิดของกษัตริย์ไทย

ว่ากันว่ากษัตริย์ไทยจะกลับเยอรมนีอีกครั้งในช่วงปลายปี แม้ว่าจรรยาจะไม่คิดเช่นนั้น แต่เธอก็ยังหวังจะได้เห็นเขากลับมา หรือจะพูดได้ว่า เธออยากจะเห็นว่า รัฐบาลเยอรมันจะรับมือกับอาคันตุกะคนนี้อย่างไร
กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ในสองประโยค ข้อแรกคือ “รัฐบาลเยอรมันกำลังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” และข้อสอง “กษัตริย์ไทยไม่ได้อยู่ในเยอรมนีในเวลานี้” เราคิดว่าเราได้ยินเสียงใครบางคนถอนหายใจด้วยความโล่งใจ