ไพร่สู้: บนเส้นทาง 78 ปี ประชาธิปไตย

จรรยา ยิ้มประเสริฐ

ดาวโลดฉบับหนังสือ PDF

เกริ่นนำ

เมษายน 2553

เมื่อเดือนเมษายน 2552 ผู้เขียนได้เขียนในบทส่งท้ายไว้ว่า “ในศตวรรษที่ 21 “เสถียรภาพ” รออยู่ที่ตรงด้านหน้าของประตูนั่นเอง ซึ่งเรียกกันว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐบาลของอภิสิทธิ์ไม่สามารถกระทำในสิ่งที่สุภาษิตไทยเรียกว่า “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ”

เป็นเรื่องที่ไม่นอกเหนือความคาดเดา หลังจากอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนธันวาคม 2551 แม้จะเผชิญกับการประท้วงมาอย่างต่อเนื่องของคลืนมหาชนกว่าครึ่งล้านในปี 2552 และร่วมล้านคนในปี 2553 แต่รัฐบาลอภิสิทธ์ิก็ไม่ยอมยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามเสียงเรียก ร้องของมหาประชาชน ผู้เขียนได้เชียนไว้ว่า “อภิสิทธิ์และพวกชนชั้นสูงทั้งหลายกำลังซื้อเวลา เพราะมีความเชื่อว่า ยิ่งเวลาเนิ่นนานออกไปได้นานเท่าใด เสียงของผู้ประท้วงก็จะยิ่งอ่อนล้าและแผ่วเบาลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น” แต่เหตุการณ์ตั้งแต่ 14 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา แสดงให้เห็นว่า ความคิดความเชื่อของอภิสิทธิ์และชนชั้นสูงที่ว่า ประชาชนจะสู้ไม่ได้นานและจะเหนื่อยล้าล่าถอยกันไปเองนั้นท่าจะไม่จริงเสีย แล้ว โดยเฉพาะเมื่อคลื่นมหาชนเคลื่อนขบวนผ่านทุกถนนในกลางเมืองหลวงโดยไม่ได้รับ การประท้วงและโห่ไล่ แต่เป็นปรบมือและเสียงโห่ร้องยินดีของคนเมืองหลวง คนหาเช้ากินค่ำ ที่ยืนรอรับขบวนของชาวชนบทที่เดินทางมาจากทั่วสารทิศ ตลอดเส้นทางที่ขบวนเคลื่อนผ่าน มือของผู้รับกับมือของผู้ร้องได้ประสานกันด้วยมิตรภาพ พร้อมคำเรียกร้องให้รัฐบาล “ยุบสภา”

แม้เวลาจะผ่านไปอีกหนึ่งปี การต่อสู้ของประชาชนรากหญ้าที่ประกาศตัวว่า “ไพร่” ยังคงยืนหยัด ผู้เขียนยังคงมีความเชื่อมั่นว่า “คนไทยจะไม่ยอมอีกต่อไป คนเสื้อแดงจะไม่กลายเป็นสีเหลือง และโลกก็จะไม่หยุดเฝ้าจับตาดูพฤติกรรมของเหล่านายทหารทั้งหลายในคณะองคมตรี” และ“ประเทศไทยต้องการนักการเมืองที่คำนึงถึงประโยชน์ของมหาชนมากยิ่งกว่าสิ่งใดในยามนี้  ซึ่งจะได้มาก็ด้วยการสร้าง ‘รัฐสภาประชาชน’ ที่แท้จริงเท่านั้น”

เกริ่นนำ

(เมษายน 2552)

หลังจากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2548 เพื่อโค่นล้มรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นว่า  ไม่ว่าคณะผู้ก่อการรัฐประหารจะอ้างเหตุผลใดก็ตามเพื่อสร้างความชอบธรรมในการ ทำรัฐประหาร  การทำรัฐประหารครั้งนี้และในทุกครั้งที่ผ่านมา คือการไม่เคารพต่อประชามติที่แท้จริงของมหาชน และผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “..ถ้าจะมีอะไรที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงการมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย การเมืองของประเทศไทยจะต้องสร้างหลักประกันว่าการดำเนินกิจกรรมและนโยบายของ พรรคการเมืองนั้นจะไม่ได้มุ่งเพียงแค่ตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของชนชั้นกลางในเมืองหลวง โดยที่ละเลยและเพิกเฉยต่อวิถีและคุณภาพชีวิตของชุมชนเกษตรกรในชนบท ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศไทย”

ยิ่งเมื่อต้องตอบคำถามมากมายจากผู้คนและเพื่อนมิตร ทั้งจากเอเชีย ยุโรป อาฟริกา ลาตินอเมริกา และอเมริกาเหนือ ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ที่พากันงุนงงสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทย สงครามเสื้อเหลือง-เสื้อแดงมันคืออะไร?  และทำไมจึงมีกรณีการตัดสินจำคุกขั้นร้ายแรงด้วยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ที่ทุกประเทศระมัดระวังยิ่งนักที่จะไม่ใช้มันกับประชาชน? เพราะเหตุใด ประเทศที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ประเทศหนึ่งในโลกเช่นนี้ จึงตกขบวนรถไฟสายพัฒนา  ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า? บางคนบอกว่า ‘ประเทศไทยเหมือนกับคนไม่มีกระดูกสันหลัง’  ‘ไม่มีหลักการ’ และ ‘เล่นทุกอย่างเป็นการเมือง’

เราจำต้องปล่อยให้คนไทย และประเทศไทยจะกลายเป็นตัวตลกในสายตาประชาคมโลก เป็นประเทศที่ไร้ศักดิ์ศรี เป็นประเทศที่ทุกสถาบันเล่นการเมืองกันจนหั่นทุกหลักการแห่งสิทธิมนุษยชนสากล ไร้คุณธรรม ไม่ยอมรับความเท่าเทียม และหลักการประชาธิปไตย โดยไม่สามารถทำอะไรได้เลยจริงๆ ละหรือ?

ประเทศไทยต้องการนักการเมืองที่คำนึงถึงประโยชน์ของมหาชนมากยิ่งกว่าสิ่งใดในยามนี้  ซึ่งจะได้มาก็ด้วยการสร้าง‘รัฐสภาประชาชน’ ที่แท้จริงเท่านั้น

สารบัญ

บทที่หนึ่ง

80 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

การสิ้นสุดระบบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ปรีดี กับ จอมพล ป.

กบฏ รัฐประหาร และการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในประเทศไทย

สงครามเย็น ปะทะ สงครามประชาชน

การลุกขึ้นสู้และการปราบปราม  (14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519)

ยุคเปรม

การขึ้นและลงของทักษิณ (2537-2549)

บทที่สอง

สามปีแห่งการฉีกหน้ากากการเมืองไทย

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ถึงจุดเดือด

ความรุนแรงเวทีอาเซียนซับมิท

การปะทะเพื่อคุ้มครอง D-Station

ถอยหนึ่งก้าว

สรุป

บทที่สาม

เงาร้ายแห่งสงครามกลางเมือง

คลื่นลูกใหม่ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

นักรบไซเบอร์

ความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์

สู้เพื่อประชาธิปไตย

บทส่งท้าย

บทที่หนึ่ง

80 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

การสิ้นสุดระบบการเมืองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

เช้าตรู่ของวันที่ 24 มิถุนายน 2474 คณะราษฎร กลุ่มการเมืองพรรคเล็กๆ ได้ทำการรัฐประหาร[1] อันนำมาซึ่งการสิ้นสุดของ 150 ปี แห่งระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายใต้ราชวงศ์จักรี  และเปิดทางสู่การเมืองตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยแห่งสยามประเทศ(ประเทศไทย) แต่ถนนสายประชาธิปไตยของไทยก็เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนามนานาประการ

คณะราษฎรประกอบไปด้วยกลุ่มบุคคลที่มาทั้งจากพลเรือนข้าราชการ ชนชั้นสูง และทหาร การทำรัฐประหารครั้งนี้นำโดยปรีดีพนมยงค์ โดยมี พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม รับหน้าที่ประสานงานกับกองกำลังฝ่ายทหาร และแล้วในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง โดยไม่มีผู้ใดในสยามรู้ระแคะระคายมาก่อน สยามประเทศได้เปลี่ยนการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลแรกของประเทศไทยนั้นอยู่ภายใต้การกุมบังเหียนของทหาร ที่ได้ประกาศนโยบายบางด้าน ที่อย่างน้อยมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง

คณะราษฎรได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจพร้อมกับคำประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และได้นำเสนอหลัก 6 ประการ คือ

  1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่นเอกราชในทาง การเมือง การศาล ในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ของประเทศไว้ให้มั่นคง
  2. จะต้องรักษาความปลอดภัยภายในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
  3. ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจโดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางาน ให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
  4. จะต้องให้ราษฎรมีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎร เช่นที่เป็นอยู่)
  5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสระ เมื่อเสรีภาพ นี้ไม่ขัดต่อหลัก ๔ ประการดังกล่าวข้างต้น
  6. จะต้องให้การศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร

กระแสต้านคณะรัฐประหารจากฝ่ายนิยมกษัตริย์มีมาอย่างต่อเนื่อง รัฐธรรมนูญที่ผ่านการรับรองของรัฐสภาในเดือนธันวาคม 2475 จำต้องถวายคืนพระราชอำนาจบางอย่างให้กับพระมหากษัตริย์ แต่ในปี 2478 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการพยายามรักษาอำนาจไว้ ได้ประกาศสละพระราชสมบัติ

การเลือกตั้งตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยจัดให้มีขึ้นครั้งแรกในปี 2476 โดยในจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 156 ท่านนั้น ครึ่งหนึ่งมาจากการเลือกตั้ง  ส่วนอีกครั้งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง  หญิงได้รับสิทธิเสมอชายในการลงคะแนนเสียงและลงสมัครรับเลือกตั้ง (แต่ก็จนกระทั่งในปี 2492 ที่ประเทศไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้หญิงที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาในสภา เป็นคนแรก)

รัฐธรรมนูญปี 2475 ระบุว่าอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวสยาม(ประเทศไทย) แต่ในความเป็นจริง 77 ปีผ่านไปแล้วอำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทยก็ยังไม่บังเกิดเป็นจริง

ปรีดี กับ จอมพล ป.

วีรบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้นำระบอบประชาธิปไตย ที่แม้ว่าจะยังไม่เต็มใบจนบัดนี้ มาสู่ประเทศไทย  ปรีดีเกิดในปี 2443 ในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปรีดีเป็นนักเรียนที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ และสอบไล่วิชากฎหมายในประเทศไทยได้ตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี และต่อมาได้รับทุนเล่าเรียนหลวงไปเรียนต่อในระดับปริญญาเอกด้านกฎหมาย เศรษฐศาสตร์และการเมืองที่มหาวิทยาลัยซอร์บอน(มหาวิทยาลัยปารีส)   ประเทศฝรั่งเศส ในปี 2469 ปรีดีร่วมกับกลุ่มคนไทยที่ปารีส ก่อตั้งคณะราษฎรขึ้นมา โดยมีนายทหารหนุ่ม แปลก พิบูลย์สงคราม ร่วมอยู่ในคณะผู้ก่อการด้วย ในปี 2470  ปรีดี เดินทางกลับประเทศไทยและมีความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานอย่าง รวดเร็ว

แปลก พิบูลย์สงคราม หรือที่เรียกกันว่าจอมพล ป. สำเร็จการศึก ษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบก และเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกที่ประเทศฝรั่งเศส หลังจากการรัฐประหารปี 2475 จอมพลป. ได้สร้างกระแสนิยมตัวเองด้วยการดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายก รัฐมนตรีตลอดช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง(ระหว่างปี 2481-2487) และเป็นทั้งนายกรัฐมนตรีรักษาการและจอมพลเผด็จการตลอดช่วงปี 2491-2450 เป็นผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ดำรงตำแหน่ง 8 สมัย รวมกันร่วม 15 ปี

ปรีดีมุ่งมั่นอย่างมากที่จะทำตามเจตนารมณ์ของหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎร ในปี 2477 ปรีดีและพรรคพวกจึงได้ร่วมกันก่อตั้งมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง หรือเป็นที่รู้จักกันในปัจจุบันว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ระหว่างปี 2476 – 2489 ปรีดีดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลายตำแหน่ง อาทิรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายกรัฐมนตรี  รวมทั้งผู้สำเร็จราชการในพระองค์ ในระหว่างที่ปรีดีดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่าง ประเทศ(2478-2481) ปรีดีประสบผลสำเร็จ อย่างงดงามในการเจรจายกเลิกข้อตกลงทางการค้ากับ 12 ประเทศคู่สัญญา ความสำเร็จครั้งนี้ถือได้ว่าไทยได้รับเอกราช(เกือบจะ) อย่างสมบูรณ์ทางการค้าระหว่างประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ต้องจำยอมเซ็นสนธิสัญญาเบาริงห์กับประเทศอังกฤษในปี 2398 อันเป็นภาระผูกพันให้ต้องยอมเซ็นข้อตกลงกับทั้ง 12 ประเทศเหล่านั้น(ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศเจ้าอาณานิคมในยุโรปทั้ง หลาย) ตามไปด้วย

ในปี 2481 ในขณะที่จอมพลป. ผู้มีแนวคิดต่อต้านเชื้อชาติจีน ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขาได้ทำการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ’สยาม’ มาเป็น ‘ประเทศไทย’ แม้ว่าจะได้รับการคัดค้านจากปรีดีก็ตาม

เมื่อกองทัพญี่ปุ่นบุกขึ้นฝั่งไทยในเดือนธันวาคม 2544 จอมพลป. ตระหนักถึงศักยภาพของกองทัพญี่ปุ่นที่ขับไล่กองทัพอังกฤษออกไปจากมาเลเซียได้อย่างง่ายดาย ได้ประกาศสงครามกับชาติตะวันตกในเดือนมกราคม 2485

ปรีดีปฏิเสธที่จะเซ็นในคำประกาศสงครามกับชาติตะวันตก จึงถูกขับออกจากรัฐบาล ยามนั้นประเทศไทยยังคงเฝ้ารอคอยการกลับมาขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ปรีดีคือผู้ที่ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์  และด้วยฐานะผู้สำเร็จราชการฯ ปรีดีได้นำขบวนต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นและเป็นหัวหน้าขบวนการใต้ดิน ‘เสรีไทย’

เมื่อสงครามใกล้จะยุติ ขบวนการเสรีไทยได้บีบให้จอมพล ป. ลาออก และในเดือนมีนาคม 2489 ปรีดีได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่เจ็ดของประเทศไทย แต่ก็เป็นช่วงเวลาเพียงแค่ไม่กี่เดือน

เดือนธันวาคม 2488 พสกนิกรชาวไทยที่อ่อนล้าโรยแรงจากสงครามโลก ก็มีเรื่องที่ทำให้ตื่นเต้นยินดีกันทั่วหล้าเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ทรงศึกษาวิชากฎหมาย ณ ประเทศสวิส เซอร์แลนด์ ได้เสด็จนิวัติพระนคร และในเดือนพฤษภาคม 2489 ประเทศ ไทยก็ได้ต้อนรับรัฐธรรมนูญฉบับรัฐบาลปรีดี และคณะรัฐบาลชุดใหม่ ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 176 คนมาจากการเลือกตั้ง

ในตอนสายของวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ในหลวงอานันท์ที่ยังทรงหนุ่มแน่นและมีพระชนมายุเพียง 21 พรรษา ถูกพบว่าสวรรคตบนพระแท่นบรรทม โดยมีรอยกระสุนปืนเจาะทะลุพระเศียร พรรคการเมืองกษัตริย์นิยมประชาธิปัตย์ กล่าวหานายกรัฐมนตรีนักอุดมการณ์ปรีดี ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกับการลอบปลงพระชนม์  และประเทศไทยก็ตกอยู่ในวังวนของความโกลาหลทางการเมืองอีกครั้ง (ความจริงเบื้องหลังกรณีสวรรคตของในหลวงอานันท์ยังคงเป็นปริศนาที่รอวันไขกระจ่าง แม้ว่าจะมีการตัดสินประหารชีวิตผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องในการลอบปลงพระชนม์สามคน โดยสองคนเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดเบื้องพระบาท และหนึ่งคนเป็นผู้ร่วมก่อการกับคณะราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาเมื่อปี 2498 แล้วก็ตาม แต่ปวงชนชาวไทยก็ยังรู้สึกกังขาต่อบทสรุปของคดี)

ในเดือนพฤศจิกายน 2490 กลุ่มนายทหารเรืองอำนาจกลุ่มใหม่นำโดยล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ร่วมด้วยสฤษดิ์ ธนะรัตน์ และถนอม กิตติขจร (เผด็จการสองคนที่กำลังก่อร่างขึ้นในการเมืองไทย)  พร้อมรถหุ้มเกราะได้กระจายกำลังล้อมบ้านของปรีดี แต่ปรีดีสามารถหนีไปได้ทัน และอยู่ในระหว่างการเดินทางลี้ภัย ไปที่สิงคโปร์ จอมพลป. แต่งตัวตัวเองเป็น จอมพล ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2489 ของปรีดี และกลับเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

จอมพลป. แทนที่รัฐธรรมนูญฉบับของปรีดี ด้วยบทเฉพาะกาลที่ทำให้เขาสามารถสร้างอำนาจถ่วงดุลรัฐสภา ด้วยการถวายคณะที่ปรึกษา แห่งชาติให้กับพระมหากษัตริย์ ถวายพระราชอำนาจในการลงนามแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 100 ตำแหน่ง ร่วมทั้งถวายพระราชอำนาจในการประกาศใช้พระราชกำหนดในสภาวะฉุกเฉิน

หลังจากที่ปรีดีพ่ายแพ้ในการพยายามกลับมาสู่การเมืองอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2492 รัฐบุรุษอาวุโสปรีดีจำต้องลี้ภัยไปประเทศจีน โดยทิ้งท่านผู้หญิงพูนศุข (ภรรยา) และบุตร 6 คนไว้เบื้องหลัง กบฏวังหลวง ได้ชื่อตามเหตุการณ์ที่กลุ่มปรีดีใช้พระราชวังเป็นกองบัญชาการ แต่จอมพลป. ก็ควบคุมสถานการณ์ได้หลังจากการยิงปะทะกันหลายชั่วโมง ระหว่างทหารฝ่ายจอมพลป. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารบกกับทหารฝ่ายปรีดีซึ่งส่วนใหญ่เป็นทหารเรือ  หลังจากปราบปรามกบฏวังหลวงได้แล้ว รัฐบาลจอมพลป. จัดการกับผู้สนับสนุนปรีดี ซึ่งร่วมทั้งอดีต 4 รัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องในกบฎวังหลวงหลายคน ด้วยวิธีการจับกุม และสังหารอย่างเหี้ยมโหดโดยไม่มีการไต่สวน

ที่ประเทศจีน ปรีดีได้รับการต้อนรับอย่างดีจากประธานาธิบดี โจว เอิน ไหล  ในเดือนพฤษจิกายน 2495 ท่านผู้หญิงพูนศุข และปาล พนมยงค์ บุตรชายคนโต ถูกจับกุมด้วยข้อหากบฏภายในและภายนอกราชอาณาจักร ตลอด 84 วันที่ถูกจองจำอยู่ในห้องขัง ท่านผู้หญิงต้องนอน บนพื้นห้องขังร่วมกับบุตรสาวที่ยังเล็ก 2 คน แต่ท่านก็ไม่เคยปริปากขอประกันตัว เมื่อได้รับการปล่อยตัวในเดือนกุมภาพันธ์ 2496 ท่านผู้หญิงพร้อมด้วยบุตรสาวสองคน จึงตัดสินใจเดินทางเพื่อตามไปสมทบกับสามีที่ท่านทราบแต่เพียงว่าอยู่ที่เมืองใดเมืองหนึ่งในประเทศจีน ในเดือนธันวาคม 2496 ท่านผู้หญิงก็ได้ไปอยู่ร่วมกับปรีดี เมื่อปาลได้รับการปล่อยตัวในปี 2500 เขาก็ได้เดินทางตามไปสมทบกับครอบครัว

ที่ประเทศจีนครอบครัวปรีดีได้รับการดูแลและช่วยเหลือในด้านต่างๆ เป็นอย่างดีจากรัฐบาลจีน แต่เพื่อที่จะสามารถติดต่อกับประเทศไทยได้สะดวกมากขึ้น ในปี 2512 ครอบครัวพนมยงค์ ได้ย้ายไปอยู่ยังบ้านหลังเล็กๆ ชานเมืองปารีส ซึ่งเป็นสถานที่รัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ สิ้นใจอย่างสงบในเดือนพฤษภาคม 2526 การเสียชีวิตของปรีดี ไม่ได้รับการเหลียวแลหรือใส่ใจจากรัฐบาลไทยในขณะนั้นแม้แต่น้อย หลังจากใช้เวลาหลายปีไปกับการแก้ข้อกล่าวหาต่างๆ ในท้ายที่สุดในปี 2542 องค์การยูเนสโกประกาศให้ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลสำคัญของโลก ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ประธานมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านพุทธศาสนาจากงานเฉลิมฉลองวันสตรีสากลของสหประชาชาติในปี 2548  ในฐานะที่ท่านเป็นผู้หญิงที่เผชิญหน้ากับมรสุมชีวิตและมรสุมทางการเมืองอย่างมีสติและยึดมั่นในแนวทางสันติวิธี

รัฐธรรมนูญฉบับจอมพลป. ในปี 2492 ได้เปลี่ยนคณะที่ปรึกษาแห่งชาติไปสู่คณะองค์มนตรี และเพิ่มพระราชอำนาจให้พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกมีจำ นวนหนึ่งร้อยคน ”ต้องใช้คะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิก ทั้งหมดของทั้งสองสภา ในกรณีพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสามสิบวัน ก็ให้นำพระราชบัญญัตินั้น ประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว”

เมื่อพระชนมายุ 23 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช กษัตริย์ผู้น้องในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ขึ้นครองราชย์ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2493

กบฏ รัฐประหาร และการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในประเทศไทย

  1. กบฏ ร.ศ. 130 (พ.ศ. 2454) โดย คณะ 130
  2. รัฐประหารแห่งชาติ เพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครอง  24 มิถุนายน 2475
  3. รัฐประหาร 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยาม โนปกรณ์นิติธาดา ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิด สภาผู้แทนราษฎร พร้อม งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา
  4. รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 นำโดยพลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ยึดอำนาจพระยามโนปกรณ์ นิติธาดา นายกรัฐมนตรี
  5. กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดยคณะกู้บ้านกู้เมือง มี พลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
  6. กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดยสิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
  7. กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มีพันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
  8. รัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 นำโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี
  9. กบฏเสนาธิการ (1 ตุลาคม พ.ศ. 2491) โดย พลตรี หลวงศรานุชิต (สมบูรณ์ ศรานุชิต) และพลตรีเนตร เขมะ โยธิน เป็นหัวหน้า
  10. กบฏแบ่งแยกดินแดน (28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2491)
  11. รัฐประหาร 6 เมษายน พ.ศ. 2491 คณะนายทหารกลุ่มที่ทำการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 จี้บังคับให้นายควง อภัยวงศ์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบตำแหน่งต่อให้จอมพล ป. พิบูลสงคราม
  12. กบฏวังหลวง (26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2492) โดยปรีดี พนมยงค์ เป็นหัวหน้า
  13. กบฏแมนฮัตตัน (29 มิถุนายน พ.ศ. 2494) โดยนาวา เอกอานน บุญฑริกธาดา และนาวาตรีมนัส จารุภา
  14. รัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 นำโดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  15. กบฏสันติภาพ (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2497)
  16. รัฐประหาร 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นำโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพล ป.พิบูล สงคราม นายก รัฐมนตรี
  17. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาล จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี (ตามที่ตกลงกันไว้)
  18. กบฏ พ.ศ. 2507 (1 ธันวาคม พ.ศ. 2507) โดยพลอากาศ เอกนักรบ บิณศรี เป็นหัวหน้า
  19. รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตนเอง
  20. 14 ตุลาคม 2416 การลุกขึ้นสู้ของประชาชน หรือเรียก กันว่า ‘ตุลาวิปโยค’
  21. 6 ตุลาคม 2519 การปราบปราบประชาชนอย่างเหี้ยมโหดด้วยข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นภัยต่อราชบัลลังก์
  22. รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี
  23. รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายก รัฐมนตรี
  24. กบฏ 26 มีนาคม 2520 (26 มีนาคม พ.ศ. 2520) โดย พลเอกฉลาด หิรัญศิริ เป็นหัวหน้
  25. กบฏยังเติร์ก หรือ กบฏเมษาฮาวาย (1-3 เมษายน พ.ศ. 2524) โดย พันเอกมนูญ รูปขจร มีพลเอกสัณห์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้า
  26. กบฏทหารนอกราชการ หรือ กบฏ 9 กันยา (9 กันยายน 2528) โดย พันเอกมนูญ รูปขจร มีพลเอกเสริม ณ นคร เป็นหัวหน้า
  27. รัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 นำโดย พล.อ. สุนทร คงสมพงษ์ ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี
  28. 17-18 พฤษภาคม 2535 ‘พฤษภาเลือด’ การลุกขึ้นสู้เพื่อ ขับไล่เผด็จการสุจินดา คราประยู
  29. รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
  30. เมษายน 2552 การลุกขึ้นสู้ของผู้ลงคะแนนเสียง
  31. เมษายน 2553 หนึ่งปีของการลุกขึ้นสู้ของผู้ลงคะแนนเสียง

ในช่วงที่จอมพลป. ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ดำรงสถานะเป็นประมุขตามราชประเพณี แต่เมื่ออำนาจของจอมพลป. ค่อยๆ เสื่อมถอยลง พร้อมกับการลุกขึ้นเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของภาคประชาชนเข้มข้นมากขึ้น จอมพลป. ก็ถูกท้าทายจากผู้ที่ป้องกันการพยายามกลับมาของปรีดีได้สำเร็จ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครนอกจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์  ในปี 2500 จอมพลป. เข้าเฝ้าเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ทรงปฏิเสธ และขอให้จอมพลป. ลาออก เมื่อจอมพลป. ปฏิเสธที่จะลาออก สฤษดิ์  ทหารฝ่ายกษัตริย์นิยมที่ได้รับการหนุนหลังจากสหรัฐอเมริกาได้ทำการยึดอำนาจ จอมพลป. ในหลวงลงพระปรมาภิไธยในคำประกาศกฎอัยการศึก และแต่งตั้งสฤษดิ์เป็นผู้รักษาพระนครฝ่ายทหาร จอมพลป. ต้องลี้ภัยไปอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่นจนกระทั่งสิ้นชีวิตในปี 2507

สงครามเย็น ปะทะ สงครามประชาชน

นับตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา ปวงชนชาวไทยต้องเผชิญหน้ากับกบฏและรัฐประหารกว่า 20 ครั้ง ต้องพยายามทำความเข้าใจกับรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ และจัดงานต้อนรับนายกรัฐมนตรี 27 คน ซึ่ง ส่วนใหญ่เป็นนายทหารบก ตลอด 78 ปี ที่นับเนื่องมาตั้งแต่ปี 2475 ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียวที่สามารถอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี (ปัจจุบันคืออดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องลี้ภัย ถูกตัดสินว่ากระทำความผิด และพยายามสู้เพื่อจะได้กลับมาสู่การเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง)

เมื่อกองทับเวียตมินท์สามารถผลักไล่กองทัพฝรั่งเศสออกไปจากเวียดนามได้เป็นผลสำเร็จในปี 2497 กระแสความกลัวและต่อต้าน ลัทธิคอมมิวนิสต์ได้แผ่ซ่านเข้ามาครอบงำทิศทางการเมืองไทย

จอมพลสฤษดิ์และพรรคพวกบริหารประเทศโดยมุ่งเป้าไปที่การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ทั้งนี้เพื่อที่จะใช้เป็นข้ออ้างของความชอบธรรม ในการกดหัวประชาชน(และปกปิดการคอรับชันของตัวเองและพวกพ้อง) รัฐบาลทหารได้ฟื้นคืน พระราชประเพณีหลายอย่างให้เป็นกิจกรรมประจำปีของรัฐ และใช้งบประมาณจากภาษีของประชาชนหลายพันล้านบาท ไปกับโครงการในพระราชดำริ และก่อสร้างพระราชวังและพระตำหนักตามจังหวัดต่างๆโดย เฉพาะในภาคเหนือ ภาคอีสานและภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารเผชิญหน้ากับการต่อต้านจากประชาชนและกองกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย  อาทิ พระตำหนักภูพาน (2518) และพระ ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ (2518) และพระตำหนักเขาค้อ (2528)

ในช่วงสงครามกลางเมืองหรือบางครั้งเรียกว่าสงครามประชาชนที่ต่อเนื่องยาวนานกว่ามาจนถึงต้นทศวรรษ 2520 นี้ มีประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายร้อย หลายพันคน ที่ถูกกล่าวหาว่ามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และเป็นภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกอุ้มหาย ถูกจับกุมคุม ขังโดยไม่มีการไต่สวน และจำนวนไม่น้อยที่ถูกสังหารหรือล้มหายตายจากไปโดยไม่ทราบว่าศพอยู่ที่ไหน

จอมพลสฤษดิ์ ผู้ปลุกปั้นสถาบันพระมหากษัตริย์จนมั่นคงดังหินผา สิ้นใจในปี 2506 และได้รับพระราชทานเพลิงศพ การเสียชีวิตของจอมพลสฤษดิ์ ได้เปิดโปงให้สังคมไทยประจักษ์ถึงชีวิตที่ฉ้อฉล และคอรัปชั่น  นอกจากภรรยา และเมียเก็บกว่า 50 คนแล้ว การต่อสู้เพื่อแย่งชิงมรดกของบรรดาเมียๆ และลูกๆ ของจอมพลสฤษดิ์ได้แฉให้สังคมรับทราบความจริงเกี่ยวกับทรัพย์สินมูลค่าจำนวนมหาศาลที่เขา  และครอบครัวได้สั่งสมมาในระหว่างเรืองอำนาจ มีทั้งบ้านหลายสิบหลัง ที่ดินกว่าสองหมื่นไร่  และเงินสดตามธนาคารต่างๆ อีกหลายร้อยล้านบาท จอมพลถนอม กิตติขจร มือขวาของจอมพลสฤษดิ์ขึ้นครองอำนาจทางการเมืองต่อทันทีในวันที่เขาสิ้นใจ  และเพื่อต้องการสร้างภาพต่อสาธารณชน ถนอมจำต้องยึดทรัพย์จำนวนกว่า 600 ล้านบาทคืนจากครอบครัวสฤษดิ์  พร้อมกับแต่งตัวเองขึ้นเป็นผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมทั้งตำแหน่งจอมพล  จอมพลถนอมดำเนินนโยบายทางการเมืองตามแนวทางของจอมพลสฤษดิ์ คือการโปรสหรัฐอเมริกาและต่อต้านคอมมิวนิสต์ เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะได้รับการตอบแทนด้วยการหนุนช่วยทางการเงินและเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามเวียดนาม

ระหว่างปี 2493 ถึงปี 2530 สหรัฐอเมริกาได้ให้การสนับสนุนงบประมาณทางด้านทหารต่อรัฐบาลไทยร่วมกันกว่า 2 พันล้านดอลลาร์

อาจจะถือได้ว่านับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ประเทศ ไทย (ที่ไม่ใช่จำกัดตัวอยู่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูง) ได้ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมการใช้ชีวิตแบบตะวันตกเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะวัฒนธรรมอเมริกัน การเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ ของค่ายคอมมิวนิสต์ในเวียดนาม ลาวและกัมพูชา และแรงจูงใจต่างๆ ให้มีการพัฒนาประเทศให้ทันสมัยทัดเทียมกับอารยะประเทศได้สร้างแรงกดดันอย่าง มหาศาลต่อประชาชนชาวไทยเงินลงทุนจากต่างประเทศหลั่งไหลเขามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ไม่ใช่เฉพาะเงินกู้และเงินสนับสนุนที่ให้แก่รัฐบาลทหารในการก่อสร้าง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อาทิ ถนน เขื่อน คลองชลประทาน และก่อสร้างศูนย์ราชการต่างๆ ในทุกจังหวัดเพื่อใช้เป็นเครื่องมือควบคุมและกล่อมเกลาให้ประชาชนอยู่ในกรอบ และหน้าที่ที่รัฐกำหนด ตลอดจนส่งเสริมระบบเกษตรเพื่อการค้าตามแนวปฏิวัติเขียว แต่เงินเหล่านี้ก็ยังได้นำมาใช้เพื่อการดำรงไว้ซึ่งอิสรภาพของประเทศ ซึ่งประเทศไทยจำเป็นต้องมีโรง พยาบาล โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ระหว่างปี 2504 – 2532 พื้นที่ ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงจาก 53% จนเหลือเพียง 28% จำนวนประชากรเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากประมาณ 26 ล้านคนในปี 2503 เป็น 54.5 ล้านคน ในปี 2533

เกษตรกรหลายล้านคนในประเทศไทยที่ไม่สามารถสร้างรายได้จากวิถีเกษตรเชิงเดี่ยวเพื่อการค้าตามแนวทางปฏิวัติเขียว จำต้องละทิ้งที่นา อพยพครอบครัวเข้ามาหางานทำในเมืองกรุงหรือตามย่านนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ  ในช่วงสงครามเย็น ประเทศไทยอยู่ภายใต้การครอบงำจากการเมืองระบบทหาร ฐานทัพอเมริกัน เกษตรปฏิวัติเขียว และการส่งเสริมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก คนไทยทั้งประเทศถูกทำให้อยู่ในความคิดความเชื่อว่า “ไม่มีอะไรที่เงินซื้อไม่ได้” (ทหารจีไอ 50,000 คน = เมียเช่าหรือเมียจีไอ 50,000 คน)

การกดขี่ขูดรีดแรงงานเลวร้ายอย่างที่สุดจนเหล่ากรรมกรที่สุดทนต่างพากันสไตรค์และประท้วงมากขึ้นเรื่อยๆ  ขณะที่มีกลุ่มปัญญาชน คนรุ่นใหม่ก็เพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วยเช่นกัน  และต่างก็พากันวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสงครามเวียดนาม แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาล สนองตอบสนองนโยบายจักรวรรดินิยมอเมริกาอย่างสุดโต่ง  พร้อมกับโจมตีการคอรับชันที่เกิดขึ้นอย่างโจ๋งครึ่มของรัฐบาลถนอม   ซึ่งบริหารประเทศแบบรวบอำนาจทุกอย่างไว้ในมืออย่างเบ็ดเสร็จ

การลุกขึ้นสู้และถูกปราบปราม  (14 ตุลา 2516, 6 ตุลา 2519)

เมื่อถึงเดือนตุลาคม 2516 การอดทนอดกลั้นของประชาชนไทยก็ถึงขีดสุด กรรมกร ชาวนา นักศึกษา คนขั้นกลาง นักวิชาการ คนจนเมืองหลายแสนคนต่างพากันเดินประท้วงบนท้องถนนที่กรุงเทพมหานครเพื่อเรียกร้องให้จอมพลถนอมลาออก

14 ตุลาคม 2516 ประชาชนกว่าห้าแสนมารวมตัวกันบริเวณอนุสาวรีประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้มี การปล่อยตัวแกนนำนักศึกษา 13 คนที่ถูกจับ  พวกเขาพากันเคลื่อนขบวนเพื่อถวายฎีกาต่อในหลวง ในความสับสนของข้อมูลข่าวสาร และในระหว่างการสลายตัว ทหารได้ระดมยิ่งใส่ฝูงชนที่อยู่บริเวณพระราชวังสวนจิตร ทั้งจากภาคพื้นดินและจากเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งมีผู้ให้การว่าเห็นพันตรีณรงค์ กิตติขจร บุตรชายจอมพล ถนอมเป็นคนระดมยิงด้วยตัวเอง เหตุการณ์ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตร่วมร้อยคน และหลายร้อยคนได้รับบาดเจ็บสาหัส

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ประจักษ์ถึงการเดินขบวนครั้งที่ยิ่งใหญ่ ที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เคยเกิดขึ้นบทท้องถนนในกรุงเทพมหานคร จำต้องทรงแสดงพระราชอำนาจเพื่อสาธารณชน ถนอมได้รับการขอร้องให้ออกนอกประเทศ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชทานแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่  แต่การตื่นตัวทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นของภาคประชาชน กลับสร้างความรำคาญและถูกมองว่าจะบันทอนอำนาจของบรรดานายทหารผู้หยิ่งทะนง ที่ได้รับเลี้ยงดูจนอ้วนพีจากสหรัฐอเมริกาและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

พอถึงปี 2519 การลอบสังหารผู้ที่มีแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่างมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง สื่อต่างๆ ที่ถูกควบคุมโดยทหารได้แสดงออกอย่างเปิดเผยว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์นั้นเป็นเรื่องที่กระทำได้” มันก็เช่นเดียวกับ “การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศล เหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ”

วันที่ 6 ตุลาคม 2519 กองกำลังเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์’ ที่มีทั้งตำรวจตระเวนชายแดน กลุ่มจัดตั้งทั้งหลาย (นวพล กระทิงแดง และลูกเสือชาวบ้าน เป็นต้น) ได้พากันเคลื่อนเข้าโจมตีนักศึกษาที่ประท้วงการกลับมาของถนอมที่มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ (ถนอมกลับมาประเทศไทยภายใต้จีวรพระและได้รับการเยี่ยมเยียนจากวัง)

ตัวเลขที่เปิดเผยทั่วไปถึงจำนวนผู้สูญเสียในเหตุการณ์ 6 ตุลา ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากการกระทำอันป่าเถื่อนโหดร้ายทั้งจากอาวุธปืน การทุบตีทำร้ายและการถูกเผา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และตามบริเวณสนามหลวงซึ่งสถานที่ใช้ประกอบพิธีกรรม ของวังหลวงจำนวน 41 คน และมีผู้บาดเจ็บกว่า 700 คน แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์พากันกล่าวว่าตัวเลขที่แท้จริงนั้นสูงกว่า นี้มาก

นักศึกษาที่ไม่ได้ถูกจับกุม ต่างก็พากันหนีกระจัดกระจายเข้าป่าและหมู่บ้านต่างๆ เพื่อไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท) และนักเรียนนักศึกษาจำนวนมากจากทั่วประเทศก็พากันทยอยเดินทางตามผู้นำหรือ เพื่อนๆ เข้าป่า กลุ่มนักศึกษาเหล่านี้ได้รับการเรียกขานว่า “คนเดือนตุลา”

กว่าสามทศวรรษแห่งความสูญเสียอันเกิดจากสงครามประชาชนได้สิ้นสุดลงเมื่อได้มีการประกาศนิรโทษกรรมในปี 2523 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยได้ค่อยลบเลือนหายไปจากเวที และชาวเดือนตุลาได้พากันกลับคืนมาสู่ชีวิตการเมืองอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัย นักสิทธิมนุษยชน ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ หลายคนเข้าสู่พรรคประชาธิปัตย์ และท้ายที่สุดอีกหลายคนเข้าร่วมกับพรรคของทักษิณ ถนอมใช้ชีวิตอย่างสุขสบายจนถึงบันปลายของชีวิต และได้รับพระราชทานเพลิงศพ

ยุคเปรม

พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ปรมาจารย์ด้านการทำรัฐประหารในประเทศไทย อดีตนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2523 – 2531 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีในปี 2531 และได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรีในปี 2542 พลเอกเปรมได้ชื่อว่ามีความชื่นชอบทำตัวเป็นคนกลางระหว่างสถาบันกษัตริย์กับ รัฐบาลและสาธารณชน ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรมเองก็สามารถรอดพ้นจากความพยายามทำรัฐประหารโดยกลุ่มยังเติร์กและ กลุ่มทหารนอกราชการมาได้ถึง 2 ครั้ง

พลเอกเปรมเป็นผู้รู้เห็นเป็นใจในการทำรัฐประหารในปี 2534 ทำหน้าที่ประสานการเข้าเฝ้าในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และสนุกสนานกับการปฎิมากรรมรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่สามารถโค่นอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณได้จนสำเร็จ พลเอกเปรมตระเวนเดินสายไปพบกับทหารและข้าราชการพร้อมกับพร่ำสอน(ซึ่งดูว่าประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี) ทหารและข้าราชการว่าเป็น “ข้าในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

หลังจาก 40 ปีแห่งการคร่ำวอดทางการเมือง “ป๋าเปรม” ยังคงเป็นผู้มีบทบาททางการเมืองมากที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย

สำหรับประชาชนชาวไทยหลายสิบล้านคนที่ถูกตีกระหน่ำให้มอบอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเผด็จการทหารมาอย่างยาวนาน มันจำเป็นต้องเกิดเหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2535 ขึ้นมาเพื่อจะสามารถเจาะทะลวงกำแพงอันหนาหนักที่ถูกสร้างขึ้นมาอย่างรอบคอบ รัดกุมเพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง

เหตุการณ์พฤษภาเลือดปี 2535 ประชาชนชาวไทยได้เผชิญหน้ากับการถูกยิงที่กลางถนนกรุงเทพมหานครอีกครั้ง

ในยามนี้มันดูเหมือนกลายเป็นพิธีการไปแล้วว่าในหลวงจะสามารถออกมาไกล่เกลี่ย  (หลังจากที่มีการสังหารประชาชน) เพื่อนำความสงบคืนสู่บ้านเมือง  พร้อมกับพระราชทานนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่รักษาการ

แม้จะเกิดเหตุการณ์พฤษภาเลือด แต่มันก็ยังต้องใช้เวลาถึงห้าปีที่ประชาชนชาวไทยจะได้ต้อนรับรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 ที่ ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และมันก็ยังต้องใช้เวลาถึงอีก 8 ปีกว่าที่นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งจะอยู่จนครบวาระ 4 ปี

การขึ้นและลงของทักษิณ (2537-2549)

ทักษิณ ชินวัตร (อายุ 59 ปี) ลูกพ่อค้า เกิดและเติบโตในตระกูลพ่อค้าที่มั่งคั่งในภาคเหนือของประเทศไทย เมืองเชียงใหม่ จบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจในปี 2516 ศึกษาต่อสาขากระบวนการยุติธรรมที่ สหรัฐอเมริกา และได้รับการเลื่อนยศจนถึงตำแหน่งพลตำรวจโทก่อนที่จะลาออกจากกรมตำรวจมาบริ หารธุรกิจในปี 2530 และลงเล่นการเมืองในปี 2537 ดูเหมือนว่าทักษิณเป็นนักธุรกิจขอบอยู่แถวหน้าและมีความทะเยอทะยานสูงมากคน หนึ่ง จนประสบความสำเร็จในการเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งเป็นคนแรกใน ประเทศไทย ที่ดำรงตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปี (2544-2548)

ไม่ปรากฏชัดเจนว่าทักษิณเป็นพวกที่ต่อต้านเจ้า จริงๆแล้ว ดูเหมือนว่าเขาพยายามทำทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระมหากษัตริย์  แต่ไม่ว่าเขาจะลงเงินและลงแรง (อาจจะทั้งจากธุรกิจส่วนตัวและงบประมาณรัฐบาล)ไปมากเท่าไรก็ตาม มันก็ดูว่าไม่ประสบความสำเร็จ วิธีการบริหารงานและวิสัยทัศน์ของทักษิณเป็นในรูปแบบ ฃีอีโอของบรรษัท ได้รับการชื่นชมยินดีจากคนบางกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ถูกต่อต้านและถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อกลุ่มคนที่เอื้ออิงผล ประโยชน์จากระบบการบริหารแบบชนชั้นของขั้วอำนาจเดิม   ในการทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เขาบริหารงานโดยใช้รูปแบบเอาเร็วเข้าว่า ไม่สนใจว่าจะต้องข้ามขั้นตอน มุดใต้โต๊ะ หรือบางครั้งได้เลี้ยวลดอ้อมผ่านสถาบันที่ยึดติดกับวิถีธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเหนียวแน่นทั้งหลาย

เขาใช้แนวการบริหารตาม‘ยุทธศาสตร์ประชานิยม’ ซึ่งทำให้เขาได้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้นในปี 2544 เขาดำเนินนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ซึ่งเป็นการให้บริการด้านสุขภาพสำหรับประชาชนทั้งประเทศเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เขายังได้อัดฉีดเงินลงหมู่บ้านในโครงการกองทุนหมู่บ้านละล้าน ที่ให้แต่ละหมู่บ้านบริหารจัดการเงินกันเอง เขาพยายามส่งเสริมตลาดขายสินค้าของชุมชนต่างๆ ด้วยโครงการ OTOP และดำเนินแนวนโยบายผ่อนชำระหนี้ชาวนา รวมทั้งโครงการเงินกู้เอื้ออาทร เพื่อการซื้อบ้านและซื้อรถแท็กซี่ ไม่ว่าโครงการประชานิยมเหล่านี้จะกระทำขึ้นมาเพราะการหวังผลทางคะแนนเสียง หรือด้วยความจริงใจของตัวทักษิณเอง มันก็ใช่ประเด็น เพราะคนจนใน หมู่บ้านตามชนบททั่วประเทศไทย ต่างก็เฝ้ารอคอยวันนี้มาอย่างยาวนาน วันที่พวกเขาได้รับการดูแลจากนโยบายทางการเมือง พวกเขาต่างก็รู้สึกขอบคุณและให้การสนับสนุนเขา ทักษิณยังได้พยายามสร้างวิสัยทัศน์ประเทศไทยเป็น ‘ครัวของโลก’  ไม่ได้ด้วยเพราะชื่อมันเก๋ไก๋ แต่เพราะว่ามันได้แสดงให้เห็นถึงการเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสำคัญของภาคเกษตรกรรมต่ออนาคตของการพัฒนาของประเทศไทย

สงครามต่อต้านยาเสพติดของทักษิณ เผชิญหน้ากับกระแสการต่อต้านอย่างหนักจากหลายฝ่าย การค้ายาบ้าในชนบทดูเบาบางลงไปได้จริง แต่ก็ชั่วระยะเวลาหนึ่ง มีผู้เสียชีวิตและถูกฆ่าตัดตอนจากนโยบายนี้ประมาณ 2,500 คน ที่มีทั้งเป็นผู้บริสุทธิ์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้ายา เขามีศัตรูเพิ่มขึ้นมากหลังจากนโยบายนี้ โดยเฉพาะจากกลุ่มผู้เกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติต และนักสิทธิมนุษยชนต่างๆ ชาวบ้านบอกว่าการค้ายาบ้ากลับมาอีกครั้งในตอนนี้

สำหรับด้านนโยบายต่างประเทศ การกระตือรือร้นในตอบสนองต่อวิถีการค้าเสรีของกระแสโลกาภิวัตน์อันเกินขอบเขตของเขา พร้อมทั้งมอบอำนาจให้ตัวเองในการเซ็นข้อตกลงทางการค้าโดยไม่ผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์หรือการรับฟังความคิดเห็นของกลุ่มประชาชนที่ จะเป็นผู้ได้รับผลกระทบตรง นำมาซึ่งกระแสการต่อต้านมากกว่าเสียงโห่ร้องชื่นชมยินดี ผลกระทบโดยตรงและที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาวอันเนื่องมาจากการเซ็นข้อตกลงทางการค้าด้วยยุทธวิธีการเล่นเกมการเมืองระดับโลกในแบบทักษิณ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาหลายปีเพื่อจะเยียวยาหรือแก้ไขความผิดพลาด

และโดยไม่สงวนท่าที ทักษิณได้เปิดช่องทำทำธุรกิจให้กับครอบครัวของเขาไปด้วยในขณะเดียวกัน เขาอาจจะไม่ใช่นักธุรกิจที่ฉ้อฉลมากกว่านักธุรกิจคนอื่นๆ เพียงแต่เขาอาจจะสามารถมีชัยเหนือนักธุรกิจคนอื่นด้วยเกมทางธุรกิจและทางเกมการเมืองที่เขาเล่นเอง จะพูดได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ ในหัวใจของผู้ที่กุมอำนาจเก่าในสถาบันที่หยั่งรากลึกทั้งหลาย ทักษิณจำต้องถูกกำจัดออกไป  ดังนั้นการถูกตีพ่ายของทักษิณจึงเป็นผลมาจากอัตตาอันใหญ่ยิ่งของตัวเขาเอง

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 ทักษิณได้รับการเลือกตั้งครั้งที่สองอย่างทล่มทลายด้วยสถิติ 67% ของผู้ลงคะแนน (19 ล้านเสียง) แต่ในเมืองไทยคะแนนเสียงขนาดไหนก็ไม่มีความหมาย เมื่อศัตรูของเขาได้ตัดสินใจแล้วว่าเขาจะต้องถูกกำจัดออกไปให้พ้นทาง  ทหารได้ทำการรัฐประหารอีกครั้งในวันเดือนกันยายน 2549 ขณะนั้นทักษิณอยู่ที่นิวยอร์ค เพื่อเข้าร่วมการประชุมสมัยสามัญของสหประชาชาติ แม้ว่าการรัฐประหารจะยังคงใช้ยุทธวิธีแบบเดิมๆ คือนำรถถังและกองกำลังทหารเคลื่อนเข้าสู่ทำเนียบ แต่ปรากฏการรัฐประหารที่โค่นทักษิณประสบความสำเร็จโดยไม่มีการเสียเลือดเสีย เนื้อ  ทักษิณถูกตัดสินว่ามีความผิดในการ “เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ ทำกับหน่วยงานของรัฐ” ยังคงไม่ได้กลับเมืองไทยจนถึงบัดนี้

คณะรัฐประหาร ภายใต้ชื่อ “คณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)” แต่ด้วยชื่อเมื่อแปลเป็นภาษาอังกฤษนั้นมันออกจะชี้ชัดมากเกินไป คณะผู้ก่อการรัฐประหารได้ทำการเปลี่ยนชื่อในภาษาอังกฤษ แต่คงชื่อคณะในภาษาไทยไว้ตามเดิม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าแต่งตั้งรัฐบาล ทหารที่โค่นล้มรัฐบาลทักษิณ และรัฐบาลทหารได้ทำหน้าที่คืนชีพการเมืองระบบศักดินาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้คงอยู่ต่อไปได้อีกหลายเดือน

บทที่สอง

สามปีแห่งการฉีกหน้ากากของทุกสถาบันโดยกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก่อตั้งโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 โดยมีเป้าหมายเดียวคือการโค่นทักษิณ

สนธิ ผู้เคยเป็นแนวร่วมของทักษิณถึงชั้นประกาศว่า ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดีที่สุดที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่นับตั้งแต่กลางปี 2548  เป็นต้นมาสนธิเริ่มปั่นกระแสกล่าวหาทักษิณเรื่องการคอรัปชั่น และการทำตัวไม่เคารพต่อเบื้องสูง  เมื่อทักษิณปิดรายการทีวีของสนธิ เขาก็เปิดตัวสถานีเคเบิลทีวี 24 ชั่วโมง ASTV

ASTV ประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ ในการนำข้อครหาและข้อมูลด้านลบต่างๆ มาโจมตีทักษิณ สนธิประสบความสำเร็จในการสร้างแนวร่วมทั้งจากสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ สัมพันธ์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์  รวมทั้ง NGOs ศิลปิน ดารา ผู้มีชื่อเสียง นักวิชาการ ข้าราชการ ที่ต่างพากันแต่งกายด้วยแฟชั่นเสื้อผ้าสีเหลือง พวกเขาตั้งชื่อการรวมตัวของคนชั้นกลางที่กรุงเทพครั้งนี้ว่า ‘พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’

พันธมิตรกล่าวหาว่าทักษิณเป็นตัวการของความบิดเบี้ยวทางการเมืองทุก เรื่องในประเทศไทย และโดยไม่ได้ดูความจริงว่า ไม่ว่าจะจริงดังเช่นที่กล่าวหาหรือไม่ ทักษิณได้รับเลือกตั้งเข้ามาด้วยเสียงส่วนใหญ่ตามกระบวนการเลือกตั้ง  พร้อมกันนี้พันธมิตรได้ชูธง ‘การเมืองใหม่’ ซึ่งมีแนวนโยบายที่รวมถึงการแต่งตั้งนักการเมืองที่คิดว่าเป็น ‘คนดี’ แทนกระบวนการเลือกตั้ง แต่งตั้งโดยใครทิ้งไว้ให้อยู่ในการตีความกันเอาเอง

พรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 และ ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ประชาชน 16 ล้านเสียงลงคะแนนเลือกทักษิณ กลุ่มพันธมิตรโจมตีคนที่ลงคะแนนเลือกทักษิณว่า เป็นพวกคนชนบทที่ โง่เขลา เบาปัญญา ไม่มีความรู้ความเข้าใจในประชาธิปไตย พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่มพันธมิตรแสดงออกต่อสาธารณชนอย่างเปิดเผยว่าต้องการนายกพระราชทาน แต่ในหลวงได้ทรงแสดงให้เห็นว่าข้อเสนอนี้ไม่เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย

กลุ่มพันธมิตรที่ประกาศกลยุทธ์ ‘ไม่ชนะ-ไม่เลิก’ และ ‘ต้องโค่นล้มระบอบทักษิณให้ได้ไม่ว่าจะด้วยยุทธวิธีใด’ เริ่มเข้าหากลุ่มนายทหารเพื่อขอความช่วยเหลือ รัฐประหารเดือนกันยายนจึงได้เกิดขึ้น ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ทักษิณอยู่ที่นิวยอร์ค ในขณะนั้น และมันรัฐประหารที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มิหนำซ้ำยังมีภาพหนุ่มสาวชาวกรุงเทพฯ ยืนยิ้มแฉ่งถ่ายรูปร่วมกับทหารที่หน้ารถถัง

ไม่นานหลังจากเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร กลุ่มนักวิชาการชั้นแนวหน้าทั้งหลายที่รู้สึกว่าขนลำแพนอันสวยงามของพวกเขา จะยุ่งเหยิงในบัดดลเมื่อทักษิณเฉียดกรายเข้ามาใกล้ ต่างก็พากันดาหน้าออกมากล่าววาทกรรมซ้ำซากในทำนองว่า… ประเทศชาติถูกปล่อยให้ไม่เหลือทางออกทางอื่นนอกจากรัฐประหาร… อย่ามองว่าถอยหลัง …ไม่เห็นด้วย กับการรัฐประหาร แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว เราย้อนกลับไปไม่ได้ … ประเทศ จำเป็นที่ประเทศต้องก้าวไปข้างหน้า เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดก็คือการให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งใหม่ เป็นต้น

สิ่งแรกที่รัฐบาลทหารกระทำเป็นคือการล้มรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ได้มาด้วยความลำบากยากเย็น ขั้นต่อมาก็คือการมอบหมายให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ทำหน้าที่จัดตั้งรัฐบาล ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ยุบพรรคไทยรักไทย กำหนดวันและเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ และเพิ่มงบประมาณทหาร 33%

พลเอกสุรยุทธ์ได้รับการลงพระปรมาภิไทยโปรดเกล้าแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 24 ของไทยในเดือนตุลาคม 2549 และได้ประกาศว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550

ทักษิณได้ถูกตัดสินว่าโกงการเลือกตั้งปี 2549  และพรรคไทยรักไทยถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ยุคพรรคเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2550 แกนนำและกรรมการพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 111 คน จากจำนวน สส. ของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 377 คน ถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หลังจากพรรคไทยรักไทยถูกตัดสินยุบพรรค สมาชิกพรรคทีเหลือต้องรีบเร่งในการหาพรรคสังกัดใหม่ให้ทันสมัยการเลือกตั้ง ในเดือนธันวาคมที่จะมาถึง จึงได้เข้าไปเทคโอเวอร์พรรคพลังประชาชน

สภาผู้แทนราษฎรของไทยมีสมาชิกสภาผู้แทนได้ 480 คน

การเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 เป็นการปะทะกันครั้งที่สาม ระหว่างพรรคของทักษิณกับพรรคประชาธิปัตย์ ทักษิณยังคงลี้ภัยอยู่ต่างแดน และสมาชิกพรรคแถวหน้า 111 คนถูกสั่งห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง  เส้นทางสู่ทำเนียบได้เปิดโล่งให้กับพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากกลุ่มพันธมิตร พรรคประชาธิปัตย์ทำการรณรงค์หาเสียงอย่างเข้มข้นด้วยความหวังสูงยิ่งว่าจะได้รับชัยชนะ

อนิจจัง อนิจจา นักการเมืองฝ่ายทักษิณได้รับชัยชนะ พรรคพลังประชาชนได้รับเลือกเข้ามาในสภา 233 ที่นั่ง(14 ล้านคะแนน) ทิ้งห่างพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับเลือกตั้งเพียง 164 ที่นั่ง

แกนนำกลุ่มพันธมิตรที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคประชาธิปัตย์หนึ่งคน อยู่ในนั้นด้วย ไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง และเริ่มการก่อกวนรัฐบาลอีกครั้งด้วยข้ออ้าง ‘รัฐบาลนอมินีทักษิณ’  และ ‘การทำธุรกิจของครอบครัวของทักษิณต้องถูกกวาดออไปจากหน้าการเมืองไทย

พรรคพลังประชาชนไม่เหลือตัวเลือกมากนัก นายสมัคร สุนทรเวช ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายว่าเป็นคนชอบทำอาหารจึงได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ จัดตั้งรัฐบาล

ยามนี้แกนนำกลุ่มพันธมิตรเพื่อประชาชนแทบจะไม่เหลืออะไรเป็นจุดขายได้อีกต่อไปแล้ว จึงได้พยายามปลุกกระแสการเมืองใหม่ด้วยการนำเสนอโครงสร้างสัดส่วนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 70% ต้องเป็นคนดีมาจากการแต่งตั้งจากคนดี และ 30% มาจากการเลือกตั้งการประท้วงของกลุ่มพันธมิตรก็ใช้วิธีการที่รุนแรงและไม่สนใจกฎหมายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

ในเดือนพฤษภาคม 2551 กลุ่มพันธมิตรประชาชนปักหลักประท้วงโดยปิดล้อมบริเวณรอบทำเนียบรัฐบาลไว้ทุก จุด ผู้บัญชาการทหาร และผู้บัญชาการตำรวจต่างก็รายงานกับนายกสมัครว่าจัดการให้กลุ่มพันธมิตรยุติการชุมนุมไม่ได้ กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ ถูกหั่นไม่เหลือชิ้นดี หลังจากสามเดือนแห่งการปิดล้อมทำเนียบ ในวันที่ 26 สิงหาคม กลุ่มพันธมิตร(เสื้อเหลือง) ก็ได้บุกเข้ายึดทำเนียบรัฐบาล แกนนำสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ประกาศว่าจะมีการไตรค์พร้อมกันทั้งประเทศ แต่ก็ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเพียงบางแห่งเท่านั้น

กว่าสามเดือนที่คณะรัฐบาลถูกไล่ล่าอย่างไม่ลดละจากสมาชิกกลุ่มพันธมิตร จนผู้บัญชาการเหล่าทัพและผู้บัญชาตำรวจแนะนำว่าให้นายกสมัครยุบสภา แต่การยุบสภาก็ไม่ใช่สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่มีโอกาสชนะการเลือกตั้งต้องการเช่นกัน  และยุทธวิธีของกลุ่มพันธมิตรจะประสบผลสำเร็จยิ่งกว่าถ้าสมัครลาออก แต่สมัครก็ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ  เขามอบตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้กับสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของทักษิณ ไม่มีทางที่กลุ่มพันธมิตรจะพอใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ สมชายได้คะแนนเยี่ยมยอดของการเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศไทยที่ไม่เคยเห็นห้องทำงานของตัวเองในทำเนียบรัฐบาล

กลุ่มพันธมิตรสร้างความปั่นป่วนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ต้นเดือนตุลาคมเป็นต้นมา สมาชิกกลุ่มได้ทำการโจมตีและบุกยึดสถานีโทรทัศน์ NBT กระทรวงการคลัง และสำนักงานของรัฐหลายแห่ง รวมทั้งทำการตัดน้ำ ตัดไฟ

7 ตุลาคม ม็อบพันธมิตรพยายามบุกเข้าไปยังรัฐสภา มันช่างเป็นวันที่โกลาหลกระไรเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจที่จำต้องทำหน้าที่คุ้มกันรัฐสภาตามคำสั่งของรัฐบาล (โดยไม่มีกองกำลังทหารมาหนุนช่วย) ตกอยู่ในสภาพอันทุลักทุเล ม็อบพันธมิตรต่อสู้อย่างอลังการด้วยระเบิดปิงปอง หนังสติ๊ก ก้อนหิน เหล็กแป๊บ และท่อนไม้  แทงหน้าอกนายตำรวจด้วยคันธง ขับรถชนตำรวจพร้อมกับถอยรถมาเหยียบซ้ำ แกนนำพรรคประชาธิปัตย์โบกมือให้ม็อบพันธมิตรที่โห่ร้องต้อนรับเมื่อขับรถออกจากประตูรัฐสภา แต่นายกรัฐมนตรีสมชายและทีมงานต้องปีนรั้วรัฐสภาหนีรอดไปได้อย่างหวุดหวิด  ท่ามกลางหมอกควันจากแก็สน้ำตาที่ปกคลุมไปทั่ว ตำรวจถูกบุกไล่ต้อนจนต้องถอยร่นไปตั้งหลักป้องกันสำนักงานกองบัญชาการตำรวจนครบาล   ตำรวจห้าคนได้รับบาดเจ็บ ส่วนใหญ่จากการถูกยิง หญิงสาวที่อยู่ในการต่อสู้แนวหน้าของกลุ่มพันธมิตรเสียชีวิต และแกนนำการ์ดของกลุ่มพันธมิตรหนึ่งคน(อดีตนายตำรวจ) เสียชีวิตจากเหตุการณ์รถยนต์ของตัวเองที่เต็มไปด้วยระเบิด เกิดระเบิดขึ้นมาตรงบริเวณใกล้กับรัฐสภา กระทรวงสาธารณสุขรายงานตัวเลขผู้บาดเจ็บ 443 คน

แกนนำกลุ่มพันธมิตรกล่าวเป็นนัยอยู่บ่อยๆ ว่ากลุ่มพันธมิตรได้รับการสนับสนุนจากวัง การกล่าวอ้างนี้ดูมีน้ำหนักและน่าเชื่อถือขึ้นมาทันทีเมื่อสมเด็จพระบรมราชินีนาถพร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์   พร้อมด้วยคณะองคมนตรี ผู้บัญชาทุกเหล่าทัพ และผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ร่วมทั้งอภิสิทธิ์ ได้ปรากฏตัวขึ้นที่งานพระราชทานเพลิงศพของหญิงสาวที่เสียชีวิต สำหรับสาธารณชนคนไทย วันนี้ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นวัน ‘ตาสว่าง’

แต่กระนั้นก็ตาม สมชายพร้อมด้วยคณะรัฐบาลที่ตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ภาคเหนือ พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาหนักแน่นยิ่งกว่านายกพ่อครัวเช่นสมัคร และไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะยอมจำนน กลุ่มพันธมิตรเริ่มรู้สึกอับจนหนทางมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จึงเริ่มลงมือป่วนเมืองตามวิธีการที่อับจนหนทางมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน

ในวันที่ 25 พฤศจิกายน ม็อบพันธมิตรได้เคลื่อนกันอย่างฟรีสไตล์เข้ายึดครองสนามบินนานาชาติ สุวรรณภูมิอันทันสมัย (หนึ่งในผลงานของทักษิณ) ด้วยมีการบ่งชี้ค่อนข้างชัดเจนว่าวังสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร ตำรวจและทหารแทบจะไม่สามารถขยับขับเคลื่อนอะไรได้มากไปกว่าการเอาตัวให้รอด ม็อบพันธมิตรจึงเข้ายึดสนามบินนานาชาติทั้งสองแห่งที่กรุงเทพ และอีกสี่แห่งตามเมืองท่องเที่ยว รวมทั้งสนามบินนานาชาติภูเก็ตได้อย่างง่ายดาย การกระทำของกลุ่มพันธมิตรส่งผลให้เครื่องบินกว่า 80 ลำ และนักท่องเที่ยวกว่า 300,000 คน ตกค้างอยู่ ในประเทศไทย และเที่ยวบินทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศต้องหยุดชะงักกว่าหนึ่งสัปดาห์

วันที่ 26 พฤศจิกายน ผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้งหลายนำโดยผู้บัญชากองทัพบกเสนอให้นายกสมชายยุบสภา และให้กลุ่มพันธมิตรยุติการประท้วง แต่ไม่มีใครเอาด้วยกับข้อเสนอนี้ และแล้วในวันที่ 2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ก้าวเข้ามาในการเมืองอีกครั้งหนึ่ง และตัด สินยุบพรรคพลังประชาชน และอีกสองพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล ในวันที่ 3 ธันวาคมกลุ่มพันธมิตรได้ย้ายออกจากสนามบินและยุติการประท้วง

และแล้วการรอคอยของอภิสิทธิ เวชชาชีวะ ผู้ได้รับปริญญาบัตรหลายใบจากอีตันและอ๊อกซ์ฟอร์ด ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ และหนึ่งในผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มพันธมิตร ก็ได้รับค่าตอบแทนเป็นคณะรัฐบาลที่เหน็ดเหนื่อยและบอบช้ำจากการเมือง  วันที่ 15 ธันวาคม อภิสิทธิ์ก็ได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่เขาใฝ่ฝันและเฝ้ารอคอยมาอย่างยาวนาน เขาไม่รีรอที่จะรีบตบรางวัลเพื่อตอบแทนคุณงามความดีของกลุ่มพันธมิตรด้วยการมอบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอันทรงเกียรติให้กับหนึ่งในผู้มีบทบาทนำในกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ในการประท้วงและปะทะกันบนท้องถนนระหว่างเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนธันวาคม 2551 มีผู้ได้รับบาดเจ็บรวมกันกว่า 800 คน และเสียชีวิต 8 คน กลุ่มพันธมิตรถูกฟ้องร้องกว่า 160 คดี แต่จนบัดนี้ก็ยังไม่มีกระบวนการลงโทษใดๆ ต่อผู้นำและสมาชิกของกลุ่มพันธมิตร (ตำรวจแถลงข่าวว่ากำลังอยู่ในช่วงการรวบรวมหลักฐาน)

เมื่อถึงจุดนี้ จึงเกิดปรากฎการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากเพิ่มรู้สึกเดือดดาลกับสภาพความไร้ระเบียบและไร้ซึ่งขื่อแปของบ้านเมืองเช่นนี้

เมื่อถึงวันที่ 2 กันยายน 2551 การปะทะกันระหว่างกลุ่มพันธมิตร เสื้อเหลืองและกลุ่มแนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) ชาวเสื้อแดงที่มีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็ได้ปะทุรุนแรงมากขึ้น  ในการปะทะครั้งนี้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 40 คน และชายเสื้อแดงหนึ่งคนถูกรุมตีจนเสียชีวิต

ถึงจุดเดือด

หลังจากที่เฝ้าจับตาดูการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรด้วยความอดทนและด้วย ความพิศวงงงงวยต่อปรากฏการณ์ที่ทุกสถาบันอันทรงเกียรติและทรงอำนาจในเมืองไทยต่างพากันนิ่งเฉยและปล่อยให้คนเสื้อเหลืองและฝ่ายที่เรียกตัวเองว่าเป็น พวกปกป้องสถาบันสามารถจะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ แม้แต่กระทั้งยึดทำเนียบรัฐบาลและทำลายทรัพย์สินต่างๆ ยึดสนามบินนานาชาติทั้งที่กรุงเทพและตามเมืองท่องเที่ยวอีกสี่แห่ง และการได้ประจักษ์ถึงเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองทุกรูปแบบที่อภิสิทธิ์และพรรค ประชาธิปัตย์ใช้เพื่อให้สามารถก้าวขึ้นสู่อำนาจ ระดับของความรู้สึกรับไม่ได้กับสภาพการเมืองไทยในหมู่ประชาชนผู้ใช้สิทธิลงคะแนนเสียงในประเทศไทยก็พุ่งถึงจุดเดือด

เมื่อกลุ่มนปช. เรียกระดมพล คลื่นของพลังคนสีแดงจึงปรากฏขึ้นมาจากทุกพื้นที่

วันที่ 26 มีนาคม 2552 กลุ่มประชาชนเริ่มประท้วงที่ด้านหน้าของทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้มาในเสื้อสีแดง เมื่อถึงวันที่ 8 เมษายนจำนวนผู้ประท้วงที่มาจากทุกกลุ่มคนในสังคมไม่ใช่เฉพาะแต่ในกรุงเทพฯ แต่ในอีกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศก็เพิ่มขึ้นร่วมกันถึงกว่าห้าแสนคน

ร่วม 80 ปีที่การเมืองไทยเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น การลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตย การทำรัฐประหาร และการปราบปราบประชาชนอย่างเหี้ยมโหด ผู้คนทั่วโลกต่างตระหนักดีว่ารากเหง่าของความล้มเหลวของกระบวนการ ประชาธิปไตยในประเทศไทยเกิดจากความกลัวการสูญเสียอำนาจของสถาบันพระมหา กษัตริย์ที่ได้ค่อยๆ สะสมอำนาจอย่างรอบคอบจากทุกครั้งที่เกิดวิกฤติศรัทธาต่อรัฐบาล และได้ดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อสร้างหลักประกันว่าประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่ จะไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือเส้นชีวิตของ การเมืองของประเทศนี้

ในเดือนเมษายน ที่ถนนในกรุงเทพฯ มีประชาชนกว่าสามแสนคน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากที่สุดนับตั้งแต่การประท้วงขับไล่เผด็จการถนอมในปี  2516 พวกเขาลุกขึ้นมาประท้วงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม และกลไกการบริหารงานของรัฐ โดยเฉพาะประท้วงองคมนตรี

อีกเช่นเคย ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของการปะทะระหว่างประชาชนและผู้มีอุปการคุณและผู้ อุปถัมภ์รายการของพวกเขา ในเหตุการณ์เดือนเมษายน 2552 สื่อมวลชนกระแสหลักในประเทศไทย ต่างก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการรายงานภาพเหตุการณ์ และระดับของความรุนแรงและความป่าเถื่อนของการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง และก็อีกเช่นกัน ในช่วงโมงยามแห่งวิกฤติ สื่อทั้งหลายพร้อมใจกันไม่รายงานถึงสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้คนหลายแสนคน ที่เป็นตัวแทนของคนชนบท คนเมือง และคนงานหลายสิบล้านคนจากทั่วประเทศต้องออกมาประท้วงกันบนท้องถนน

ด้วยประการเช่นนี้ การรายงานของสื่อกระแสหลักที่ดูเหมือนว่าถูกตัดเส้นเอ็นและแขวนห้อย ต่องแต่ง  ยิ่งเพิ่มความสับสน และนำไปสู่การสร้างรอยร้าวฉานและความแตกแยกให้กับผู้คนในสังคมมากยิ่งขึ้นไป อีก

ความรุนแรงเวทีอาเซียนซับมิท

อภิสิทธิ์กระตือรือร้นอย่างมากที่จะทำหน้าที่เจ้าภาพในงานอาเซียนซับมิท ที่จัดขึ้นที่พัทยา ระหว่างวันที่ 10-13 เมษายน ให้ผ่านไปได้อย่างราบรื่น กลุ่มผู้ประท้วงอภิสิทธิ์ก็ได้เดินทางไปยื่นจดหมายถึงเลขาธิการอาเซียนที่พัทยาด้วยเช่นกัน เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงว่าอภิสิทธิ์ ไม่ได้รับฉันทานุมัติจากประชาชนคนไทยให้เป็นตัวแทน

ผู้ประท้วงกว่า 2,000 คนได้ยื่นจดหมายให้กับเลขาธิการอาเซียน ณ โรงแรมที่จัดประชุมในวันที่ 10 เมษายน แต่ทีมผู้ช่วยของอภิสิทธิ์ ที่ได้สั่งการด้วยความงี่เง่าไปยังกองกำลังที่จัดตั้งมาให้จัดการกับผู้ ประท้วงไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่ผู้ประท้วงกำลังทยอยเดินทางออกไปจากโรงแรมพวกเขาก็ถูกซุ่มโจมตีและ ถูกรุมทำร้ายจากกลุ่มชายฉกรรจ์ เสื้อสีน้ำเงินกว่า 500 คนที่มีคำว่า ‘ปกป้องสถาบัน’ พิมพ์อยู่ที่อกเสื้อ

ผู้ประท้วงจากกรุงเทพหลายพันคนจึงพากันเดินทางไปสมทบกับกลุ่มผู้ประท้วงที่พัทยาโดยทันที ในรุ่งเช้าของวันที่ 11 เมษายน ผู้ประท้วงหลายพันคน ได้จู่โจมโรงแรมที่เป็นที่จัดประชุมที่พัทยา การประชุมอาเซียนซับมิทจึงต้องยกเลิกอย่างกะทันหัน อภิสิทธิ์รู้สึกเสียหน้าอย่างแรง ขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีกลับเข้ากรุงแทพฯ สัญญาว่าจะนำความ สงบเรียบร้อยกลับคืนมา ประกาศว่า คนเสื้อแดงคือ ‘ศัตรูของชาติ’

เมื่อมาถึงจุดนี้ทหารและตำรวจที่พยายามสงวนท่าทีและดูเสมือนว่าจะมีการแตกแยกกันทางความคิดเกี่ยวกับวิธีการจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง จำเป็นจะต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง และก็มีบางหน่วยที่ตอบสนองต่อคำสั่งการของอภิสิทธิ์ ในเช้าตรู่ของวันที่ 12 เมษายน ผู้นำนปช. ที่พาคนไปประท้วงที่พัทยาถูกตำรวจบุกรวบตัวขณะเตรียมตัวออกเดินทางจากบ้านพัก และส่งถูกส่งมอบตัวต่อไปให้กับทหาร

หลังจากการบุกจับกุมตัวแกนนำ  ซึ่งเป็นอดีตสส. ของพรรคไทยรักไทย การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลและกลุ่มผู้ประท้วงก็ผ่านเลยจุดที่จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้มาแล้ว

การปะทะเพื่อคุ้มครอง D-Station

วันที่ 12 เมษายน อภิสิทธิ์ประกาศใช้พรก.ฉุกเฉินในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล  และประกาศว่าจะเคลียร์กลุ่มผู้ประท้วงให้ออกไปจากหน้าทำเนียบรัฐบาลให้ได้ภายใน 4 วัน พร้อมกับสั่งการให้ตัดทุกช่องทางการถ่ายทอดสัญญาณและรายงานสถานการณ์ของการประท้วงของนปช. ออกสู่สาธารณชน โดยเฉพาะสถานี D-Station หรือ สถานีประชาธิปไตย หรือ DTV ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อเดือนมกราคม ( 2552) เพื่อใช้ตอบโตสถานี ASTV ของกลุ่มพันธมิตร

สำหรับแกนนำนปช. ที่รับผิดชอบการนำการประท้วงและตรึงกำลังอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล การมีช่องทางสื่อสารกับสมาชิกจากจุดต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพ กับผู้ให้การสนับสนุนนับสิบล้านคนทั่วประเทศไทย อาทิ ในจังหวัดใหญ่ๆ ได้แก่ เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น ร่วมทั้งสาธารณชนและผู้สนใจจากทุกมุมโลกที่ติดตามสถานการณ์การประท้วงของคนเสื้อแดง จะกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็ได้ว่า พวกเขาจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้มีการตัดสัญญาณการแพร่ภาพดีสเตชัน

ในบ่ายของวันที่ 12 เมษายน ทหารจากหลายสังกัดได้ขับรถถังไปยังจุดต่างๆ ตามใจกลางเมืองกรุงเทพมหานคร  และมุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งกลุ่มผู้ประท้วงเสื้อแดงได้กระจายตัวกันไปหยุดยั้งรถถัง และตั้งเครื่องกีดขวางไว้ป้องกันบริเวณรอบๆ ทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน การเคลื่อนไหวของกลุ่มรถถังทั้งหลายดูไร้ทิศทาง ไม่รู้ว่าใครเป็นคนสั่งการ และไม่มีการประสานงานระหว่างกัน รถถังบางคันก็ดูขึงขังกว่าคันอื่นบางคันมีการปิดชื่อเพื่อไม่ได้ทราบว่ามาจากหน่วยไหน

ขณะเดียวกัน ทหารกว่า 500 นายได้รับคำสั่งให้ยกกำลังพลไปสลายกลุ่มคนเสื้อแดงหลายร้อยคนที่พยายาม ป้องกันไม่ได้สถานีไทยคมซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของกรุงเทพ ตัดสัญญาณถ่ายทอดสดของดีสเตชัน

การปะทะกันเริ่มขึ้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะใช้เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาล ทหารได้ใช้แก็สน้ำตาและกระสุนจริงยิงใส่ผู้ประท้วง

เช้ามืดของวันที่ 13 เมษายน บริเวณถนนต่างๆ ที่เป็นเส้นทางสู่ทำเนียบรัฐบาลก็ได้กลายเป็นสนามรบไปเรียบแล้ว  กรุงเทพตกอยู่ในความสับสนอลหม่าน เต็มไปด้วยการปะทะกันระหว่างคนเสื้อแดงกับทหารหลายกองร้อย ที่สมทบด้วยกลุ่มชายฉกรรจ์ และเจ้าถิ่นที่เกรงว่าความรุนแรงจะก่อให้เกิดอันตรายต่อทรัพย์สินและชีวิต ของคนในชุมชน ความรุนแรงผ่านไปหลายชั่วโมงโดยที่ที่ไม่มีทีท่าว่าจะมีใครสามารถควบคุม สถานการณ์ได้ และมันก็ได้ลุกลามจากสามเหลี่ยมดินแดงไปยังจุดอื่นๆ มีการวางแผนจะเผาธนาคารและมัสยิด  และมีรายงานการจับกุมตัวผู้ลงกำลังจะลงมือเผาธนาคาร ซึ่งไม่ใช่คนเสื้อแดง ที่ได้รับสารภาพว่าได้รับการว่าจ้างให้เผาธนาคาร  ผู้บริสุทธิ์จำนวนมากต้องติดกับอยู่ในสถานการณ์ที่สับสนวุ่นวายของวันนี้

ถอยหนึ่งก้าว

สามเหลี่ยมดินแดงตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารในเวลาประมาณ 7.30 น. และอนุสาวรีชัยสมรภูมิในเวลา 12.30 น.  ทหารหลายกองร้อยขับเคลื่อนเข้าไปใกล้ทำเนียบรัฐบาลทุกขณะ จำนวนคนเสื้อแดงที่ยังคงปักหลักประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาลบางตาลงไปมาก แกนนำคนเสื้อแดงมีหมายจับอยู่บนหัว ได้ตัดสินใจมอบตัวในเช้าตรู่ของวันที่ 14 เมษายน ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียเลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์  แกนนำสามคนที่เข้ามอบตัวถูกส่งตัวไปอยู่ค่ายทหาร ได้รับข้อกล่าวหาคนละหลายกระทงและได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในที่สุดด้วยเงินประกันตัว คนละ 500,000 บาท

ท่ามกลางความโกหกหลอกลวง การทำลายหลักฐานและการสร้างสถานการณ์ให้ดูว่าคนเสื้อแดงโหดร้ายป่าเถือนกว่าความเป็นจริง ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากการปราบรามครั้งนี้จึงยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ ในประเทศไทย เรื่องนี้ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีในการพิสูจน์ความจริง แต่ที่ยืนยันได้ก็คือมีคนสองคนเสียชีวิตจริง มีคนกว่า 100 คนที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่จากอาวุธปืน และมีตัวเลขว่าทหารกว่า 20 คนได้รับบาดเจ็บ มีรายงานบางแหล่งออกมาว่ามีผู้สูญหายกว่า 50 คน ในการปราบปรามประชาชนในหลายครั้งที่ผ่านมา ทหารมักจะเอาศพผู้เสียชีวิตหรือผู้ที่ใกล้ตายไปเก็บซ่อนไว้จากสนามการปะทะ อาทิ ในเหตุการณ์พฤษภาฯ  35 มีรายงานว่าจนถึงบัดนี้ยังไม่สามารถค้นพบศพผู้เสียชีวิต 20 ศพ จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 48 คน

ใครกันล่ะที่จะรับต้องรับผิดชอบในการกระทำที่ไม่เคยมีใครต้องแสดงความรับผิดชอบก่อน แต่ภาคประชาชนไทยได้ทวงถาม และกลุ่มประชาคมอาเซียนและประชาสังคมโลกจำเป็นต้องถามผู้มีอำนาจในประเทศไทยว่า รถถังและทหารจำนวนมากมายหลายพันนายพร้อมอาวุธครบมือ ออกมาเผ่นผ่านทำอะไรกันในท้องถนนกรุงเทพ ครั้งแล้วครั้งเล่า?

สรุป

มันไม่ใช่เพียงแค่ความอดอยาก ความยากจน หรืออามิสสินจ้าง ที่ดึงดูดให้ประชาชนคนยากคนจนหลายแสนคนหลั่งไหลกันมาอยู่บนท้องถนน และก็ไม่ใช่เพราะความรักอย่างเหลือเกินที่คนเหล่านี้มีต่อทักษิณ นักธุรกิจผู้มั่งคั่ง  แม้ว่าเขาจะมีบทบาทเด่นชัดในการโทรศัพท์เข้ามาพูดคุยกับกลุ่มผู้ประท้วง เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิวัติทางการเมืองก็ตามที

แต่มันคือสัญชาติญาณที่คนจน ไม่ว่าจะอยู่บ้านไหนเมืองไหนก็ตาม จักต้องกระทำ คนจนนักสิบๆ ล้านคนในประเทศไทยได้ลุกขึ้นมาประท้วงเพราะว่าพวกเขาทนไม่ได้อีกต่อไปกับการ อยู่ในบ้านเมืองที่ใช้ระบบสองมาตรฐาน และใช้อำนาจเผด็จการ ที่อยู่ในการควบคุมของพวกเจ้าขุนมูลนายและข้าราชการ กดข่มลงมายังพวกเขา  ซึ่งตัวอย่างที่ดีที่สุดเห็นได้จากการกระทำของอภิสิทธิ์ ผู้สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรที่มีรายการคดีฟ้องร้องยาวเหยียดเป็นหางว่าว  ผู้ที่แพ้การเลือกตั้งถึงสองครั้งสองครา แต่บัดนี้ได้กลายมาเป็นนายกรัฐมนตรี และทำการจับกุมคุมขังนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม

ประชาชนออกมาสู่ท้องถนนเพื่อเรียกร้อง

  • ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (2540) ที่ได้มาด้วยความยากลำบากกลับคืนมา
  • จัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยทันที
  • ให้องคมนตรีที่นำโดยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ไม่เคยหยุดแทรกแซงทางการเมือง ยุติการกระทำการใดๆ ก็ตามที่เป็นการขัดขวางการต่อสู้เพื่อสิทธิตามครรลองประชาธิปไตยของประชาชน

ภาพเหตุการณ์การปราบปรามประชาชนในเดือนเมษายนนี้ช่างคุ้นตาคุ้นใจจริงๆ อภิสิทธิ์อาจจะได้รับคำชื่นชมจากเบื้องบน แต่มันคือหญิงชายชาวรากหญ้าหลายแสนคน ที่ยืนหยัดต่อสู้อย่างกล้าหาญเพื่อสิทธิประชาธิปไตยของปวงชนชาวไทยต่างหาก ที่จะได้รับการบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์ของชาติไทย ไม่ใช่นักศึกษาอ๊อกฟอร์ดที่สั่งการให้รถถัง และหน่วยคอมมานโดพร้อมกระสุนจริงทำการสลายการประท้วงของกลุ่มคนยากจนที่มีความชอบธรรมในการประท้วงเหล่านั้นอย่างเต็มเปี่ยม

ปี 2552 ไม่ใช่ปี 2549 ไม่ใช่ปี 2535  และก็ไม่ใช่ปี 2519 อีก ต่อไป หลังจาก 80 ปีของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบบที่ดูประหนึ่งว่าเป็นประชาธิปไตย กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยได้ตัดสินใจว่าจะยืนหยัด ในขณะที่คลื่นลูกใหม่ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ  พวกเผด็จการทั้งหลายจะอ้างความชอบธรรมได้ยากมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน แม้ว่าจะทาสียุทธศาสตร์ของพวกเขาด้วยสีเหลืองและสีทองก็ตาม

ผู้นำนปช, ถูกจับกุมและตั้งข้อกล่าวหาแกนนำกลุ่มพันธมิตรที่สร้างความปั่นป่วนอย่างไร้สติ ทั้งทำการบุกยึดทำเนียบ ทำลายข้าวข้อง และบุกยึดสนามบินกลับนั่งหน้าชื่นตาบานอยู่ในหมู่คณะรัฐบาลผ่ายกษัตริย์นิยมอยู่ในขณะนี้

ด้วยเหตุใดบรรดาผู้นำต่างๆ ในประชาสังคมโลกจึงรู้สึกว่าการเล่นตามเกมการเมืองไปกับกลุ่มอภิสิทธิชนผู้กุมอำนาจในประเทศไทย เป็นเรื่องที่ทำได้อย่างง่ายดาย? เป็นไปได้อย่างไรที่ผู้นำจากอารยประเทศทั้งหลายยังคงเจรจา เล่นเกมส์การเมือง และปฏิสัมพันธ์กับรัฐบาล ไทย? หรือว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตมันน้อยเกินไป?

มันไม่ใช่เป็นเรื่องยากเย็นประการใด ที่กลุ่มประชาสังคมโลกจะลุกขึ้นมาประณามรูปแบบปราบปราบและคุกคามสิทธิ เสรีภาพของประชาชนในประเทศไทย มันจะเป็นดังเช่นน้ำทิพย์ชโลมใจคนไทยถ้าประชาคมโลกลุกขึ้นมาใส่ใจต่อปัญหา เหล่านี้

ภายใต้หน้ากากและการสร้างภาพอันสวยหรู คนยากคนจนหลายสิบล้านคนในประเทศไทย ต่างก็กำลังถูกกระบวนการที่กระทำมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งโหดร้ายป่าเถื่อน และบางครั้ง ก็อย่างมีศิลปะชั้นเชิง ป้องกันไม่ได้พวกเขาตระหนักถึงศักยภาพของตนเอง ในการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเต็มฐานะของประชาชนแห่งศตวรรษที่ 21

การ “มอบตัว” ของผู้นำประชาชนในเดือนเมษายน 2552 ไม่ใช่เป็นการการบ่งบอกถึงความพ่ายแพ้ แต่มันเป็นการปักหมุดของการเริ่มต้นที่จะลุกขึ้นสู้ของคนจน ที่มุ่งมันจะขุดรากถอนโคนโครงสร้างการปกครองระบบชนชั้นนิยม ระบบที่ปิดกั้นเส้นทางที่จะนำไปสู่สิทธิที่เท่าเทียม เป็นประชาธิปไตย เชิดชูสันติภาพ และมุ่งหน้าไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

บทที่สาม

เงาร้ายแห่งสงครามกลางเมือง

นอกจากการสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์กว่าสิบคน และผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน สามปีแห่งความโกลาหลที่ก่อการโดยกลุ่มพันธมิตร ที่ดูเหมือนว่าได้รับการหนุนหลังจากวัง ได้สร้างประโยชน์อันใดบ้างนอกจากความไร้ซึ่งกฎกติกาในบ้านเมือง?

รัฐประหารปี 2549 มีเป้าหมายเพื่อล้มรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนปี 2540 เพื่อลดทอนอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และเสริมสร้างอำนาจให้กับระบบราชการ ในนามข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ความยุ่งเหยิงทางการเมืองในประเทศไทยในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ได้นำมาซึ่งแพของกฎหมายใหม่ที่หน้าตาแสนจะขี้ริ้วขี้เหล่ อาทิมา ตรา ๑๗  ของพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ออกในปี 2548 (ออกมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ) “พนักงานเจ้าหน้าที่และผู้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชกำหนดนี้ ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการระงับหรือป้องกัน การกระทำผิดกฎหมาย หากเป็นการกระทำที่สุจริต ไม่เลือก ปฏิบัติ และ ไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหายที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากทางราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่”

กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอันหลงยุคของประเทศไทย ถูกนำมาบิดเบือนใช้มากขึ้นเรื่อยๆ และพรรคประชาธิปัตย์กำลังพยายามที่จะผลักดันให้มีการเพิ่มบทลงโทษในกรณีการ ไม่แสดงความเคารพต่อพระมหากษัตริย์จาก 3-15 ปี เป็น 5-20 ปี

ในประเทศไทยวันนี้ มีการขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ของความทุกข์ระทมแบบใหม่ที่เกิดจากกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ประชาชนคนไหนก็ได้สามารถแจ้งเบาะแสให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับคนที่เขา คิดว่าไม่แสดงความเคารพพอเพียง มันเป็นความป่วยไข้ที่สามารถจะลบ รอยยิ้มอันใสสื่อบริสุทธิ์ของคนไทยให้หายวับไปจนสิ้นจากใบหน้า ความป่วยไข้ที่ค่อยๆ ทำให้ร่างกายอ่อนล้าหมดแรงลงไปเรื่อยๆ

เมื่อดูประเด็นเรื่องการค้ากับต่างประเทศ หลังจากโค่นรัฐบาล ทักษิณลงได้สำเร็จ รัฐบาลทหารก็ไม่รีรอที่จะกระโจนลงไปยังรองเท้าคู่เก่า ดำเนินการเจรจาการค้าเสรี FTA ต่อทันที โดยวิธีเดียวกัน คือไม่ มีการทำประชาพิจารณ์ ไม่ต้องปฏิบัติตามกระบวนการประชาธิปไตย (ในเดือนเมษายน 2551 พลเอกสุรยุทธ์ เซ็นข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่น ที่ครอบคลุมหลายประเด็น และเป็นเรื่องยากมากที่ไทยจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ญี่ปุ่นมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤศจิกายน ในปีเดียวกัน)

เมื่ออภิสิทธิ์ได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจในที่สุด เขาเริ่มแจกเงิน 2000 บาท (40 ยูโร) ให้กับคนงาน 8 ล้านคน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ทว่า อภิสิทธิ์คงลืมไปว่ายังมีคนจนอีก 23 ล้านคนที่ทำงานที่เรียกว่าอยู่นอกระบบ (และชาวไร่ชาวนาที่ถูกจัดว่าเป็นพวกนายจ้างตัวเอง)  การไร้ประสิทธิภาพของทุกสถาบันในประเทศไทย ในการดำรงไว้ซึ่งหลักการและความยุติธรรมในประเทศ นับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา และตลอดสามปีที่ผ่านมา มันได้ประสบผลสำเร็จอย่างสูงยิ่งในการเพิ่มความไม่ไว้วางใจในหมู่ประชาชนต่อ กลไกการทำงานของรัฐ และของสถาบันพระมหากษัตริย์  และมันยังได้ทำให้เส้นแบ่งระหว่างคนรวยและคนจน ขยายกว้างมากยิ่งขึ้นไปอีกด้วย

ด้านบวกของความสับสนวุ่นวายและไร้ระเบียบนี้ก็คือ มันได้ช่วยสั่นสะเทือนและปลุกให้ชาวรากหญ้าและกลุ่มคนชั้นกลางที่มี วิจารณญาณให้ตื่นขึ้นมาเผชิญหน้ากับความจริง ประเทศไทยจึงได้พบกับคลื่นพลังลูกใหม่ที่ประกอบไปด้วยชาวไร่-ชาวนา กรรมกรโรงงาน นักเรียนนักศึกษา นักวิชาการหัวก้าวหน้า และขบวนการรากหญ้าที่มีความมุ่งมั่นที่จะลุกขึ้นมาปฏิเสธการได้รับการ ปฏิบัติราวกับเป็นตัวเบี้ยหมากรุกที่ถูกกวาดออกจากกระดานแล้วเก็บลงขวด หรือถูกใช้เป็นเพียงอาหารสัตว์ หรือเป็นเด็กวิ่งรับใช้แขกในโรงแรมห้าดาว เพื่อการเสริมสร้างภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย และตอบสนองความละโมบของพวกชนชั้นสูงและบรรษัทข้ามชาติ

คลื่นลูกใหม่ของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ในช่วงเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา 2549 ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ อายุ 60 ปี ผู้ใช้ทั้งชีวิตต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ได้ขับรถแท็กซี่พุ่งเข้าชนรถถังเพื่อประท้วงการทำรัฐประหาร เขารอดตายจากการชนกับรถถัง แต่ได้ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง เพื่อเป็นการประท้วงรัฐประหารอีกครั้ง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2549 ด้วยการแขวนคอลงมาจากสะพานลอยที่ด้านหน้าหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายมากที่สุด ในประเทศไทย  การตัดสินใจของลุงนวมทองเป็นดังคลื่นกระแสไฟที่ช็อกชุมชนคนรากหญ้า และเป็นดังเสียงเตือนไปยังชนชั้นกลางที่หลงผิด ที่พากันดูถูกเหยียดหยามชาวรากหญ้ามากขึ้นเรื่อยๆว่า เป็นคนไร้การศึกษา ไม่รู้และไม่ใส่ใจต่อความหมายของคำว่า ‘ประชาธิปไตย’

ได้มีการกล่าวยกย่องและสดุดีวีรกรรมของลุงนวมทองในทุกครั้งที่มีการเดิน ขบวนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีรถแท็กซี่กว่าแสนคันที่กรุงเทพ ในวันที่ 8 เมษายน ชุมชนคนขับรถแท็ก ซี่ได้มาร่วมประท้วงกับคนเสื้อแดงที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 9 เมษายน พวกเขาตัดสินใจทำให้ถนนในกรุงเทพเป็นอัมพาต ในวันที่ 10 เมษายน แท็กซี่หลายร้อยคันได้ขนผู้ประท้วงจากกรุงเทพไปสบทบกับกลุ่มผู้ประท้วง อภิสิทธิ์ที่การประชุมอาเซียนซับมิทที่พัทยา เมื่อทหารเคลื่อนรถถัง เข้ามายังกลางกรุง ในวันที่ 12 เมษายน คนขับรถแท็กซี่ได้เสี่ยงชีวิตขับ รถพุ่งชนรถถัง และเป็นโล่ปกป้องชีวิตคนเสื้อแดง

นักรบไซเบอร์

ในการลุกขึ้นสู้ของประชาชนในเหตุการณ์พฤษภาฯ 35 เมื่อสื่อกระแสหลักอยู่ภายใต้การควบคุมและถูกเซนเซอร์ โทรศัพท์และแฟกซ์คือเครื่องมือสื่อสารระหว่างผู้ประท้วงและสาธารณชน ในเดือนเมษายน 2552 มันถึงคราวของนักรบไซเบอร์ที่ทำหน้าที่กระจายข้อมูลข่าวสาร

กระดานบอร์ดของพวกไซเบอร์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม เรียกร้องให้มีการใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดจัดการกับคนเสื้อแดงที่ทำเนียบ ชาวไซเบอร์ฝ่ายขวาใส่ใจเพียงเรื่องการดำรงไว้ซึ่งภาพลักษณ์ของประเทศ เพื่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และการดึงดูดนักลงทุนและนักท่องเที่ยวจากต่างแดน

อภิสิทธิ์ทำทุกวิถีทางที่จะควบคุมสื่อทั้งหมดไว้ให้ได้ กระดานสนทนาของกลุ่มนักไซเบอร์ที่สนับสนุนคนเสื้อแดง จึงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการตอบโต้ข้อกล่าวหาที่เลวร้ายและไร้สติว่าคนเสื้อแดง ซ้ำเติมและสร้างความหายนะให้กับเสถียรภาพที่ ‘เปราะบาง’ ของประเทศด้วยการที่แทบจะไม่มีพื้นที่สื่อใดๆเลย ในสื่อกระแสหลักทุกสื่อในประเทศไทย

ดังนั้นเพื่อการสื่อสารความจริงและความรู้สึกของคนเสื้อแดงคลื่นลูกใหม่ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของพวกเขาในโลกไซเบอร์จึงทำงานกันอย่างหนัก ทุกวิถีทางที่จะทำได้ เพื่อเจาะทะลวงการบล็อกการเซนเซอร์ และปลดล็อคการบล็อกเวบต่างๆ  เพื่อที่พวกเขาจะสามารถแจ้งข่าวคราวความเคลื่อนไหว และส่งข้อความเตือนภัยไปยังเพื่อนๆ หนุ่มสาวที่เข้าร่วมประท้วงกับคนเสื้อแดง

โลกไซเบอร์ได้เปิดเผยให้เห็นว่ายุทธวิธีการจัดการกับผู้ประท้วง ในเดือนเมษาเลือดเป็นการใช้ยุทธวิธีแบบเดียวกับที่ทหารใช้จัดการกับนักศึกษา ในเหตุการณ์ 6 ตุลา 19  หรือเมื่อ 33 ปีที่ผ่านมา ชาวไซเบอร์ได้เปิดเผยให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยน วิเคราะห์ และวิพากษ์วิจารณ์ ถึงปรากฏการณ์อันเหลือเชื่อว่า ที่แม้ว่าเราจะอยู่ในในศตวรรษที่ 21 แต่มันยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีการเดินขบวนประท้วงสถาบันฝ่ายกษัตริย์นิยม ทั้งหลายอยู่กันอีก โลกไซเบอร์กลายเป็นสถานที่ที่คนไทยจากทุกแห่งหนสามารถแลกเปลี่ยนกันได้ใน ประเด็นต่างๆ รวมทั้งว่าทำไมบรรดาข้าราชการ นักวิชาการ คนงานปกขาว จึงได้รับสวัสดิการและการบริการของระบบสวัสดิการสังคมที่ดีกว่าคนยากคนจน

ทำไมคนจนจึงถูกปลักปรำอยู่ร่ำไปว่าเป็นศัตรูต่อ “เสถียรภาพ”?

ประชาชนคนยากคนจน ไม่จำเป็นต้องได้รับการอธิบายมากมายนักหรอกว่า ไม่ใช่พวกเขาหรอกที่ส่งประเทศไทยไปสู่หายนะ และก็ไม่ใช่พวกเขาอีกเช่นกันที่เป็นสาเหตุให้อภิสิทธิ์ผู้ได้รับฉายา ‘กู้สิบทิศ’กำลังดิ้นรนจะขอกู้เงินอีกแปดแสนกว่าล้านบาท (23 พันล้านดอลลาร์)

คนจนรู้ดีว่าพวกเขาคงต้องลำบากกันอีกนานเพื่อจ่ายคืนเงินกู้อภิสิทธิ์  เงินกู้ของพวกชนชั้นสูง คนไทยรู้ดีเสียยิ่งกว่ารู้อีกว่าความมั่งคั่งและชีวิตที่หรูหราฟู่ฟ่าของพวก ไฮโซทั้งหลายนั้นขึ้นอยู่กับการคงไว้ให้ได้ซึ่งรูปแบบการปกครองที่ชนชั้นสูง สามารถกุมอำนาจไว้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ และจำกัดสิทธิการมีส่วนร่วมของคนหลายสิบล้านคน ไม่ให้พวกเขาสามารถมีปากเสียงในกระบวนการประชาธิปไตยได้อย่างแท้จริง

หลังจากการมอบตัวของแกนนำคนเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน กระดานสนทนาได้กลายเป็นสถานที่ปลอบโยนหัวใจที่สิ้นหวังและท้อแท้เป็นพื้นที่ ที่เหล่านักรบไซเบอร์ทยอยเขียนบอกเล่าความรู้สึก แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความอัดอันตันใจต่อการเผชิญหน้าหรือการประจักษ์ด้วยสายตาตัวเองถึงความ ป่าเถื่อนที่ทหารใช้จัดการกับคนเสื้อแดง อีกครั้งหนึ่งแล้ว

นักรบไซเบอร์ ยังคงมีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยกันค้นหาเบาะแส และรายงานความเคลื่อนไหวทุกระยะเกี่ยวกับแกนนำที่ถูจับกุมทำหน้าที่ค้นหา ความจริงเกี่ยวกับการยิงคนเสื้อแดงและการติดตามหาผู้สูญหาย ในการตอบโต้กับการพยายามปิดช่องทางสื่อและบิดเบือนประเด็นของรัฐบาล กระดานสนทนาได้ยิงประเด็นคำถามที่สำคัญยิ่งว่าเป็นรัฐบาลประสาอะไร ที่พยายามปิดช่องทางการสนทนาแลกเปลี่ยนในประเด็นปัญหาที่แท้จริงของบ้าน เมือง แต่กลับปล่อยให้ข้อความเหล่านี้ออกมาเผ่นพ่านอยู่ในโลกไซเบอร์ได้อย่างเสรี “พวกเสื้อแดงไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่คน ถ้าเจอพวกมันที่ไหนให้ยิงมันทิ้งตรงนั้นเลย” ทำไมสถาบัน ทหาร ตำรวจ และชุมชมนักวิชาการทั้งหลาย จึงไม่พากันประณามพฤติกรรมที่ยั่วยุปลุกปั่นเหล่านี้?

คนจนทั้งหลายต่างก็เพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า “เสถียรภาพ” ที่พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวอุปสรรคกีดขวาง ถ้ามองในแง่มุมของการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว เป็นวาทกรรมที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงแม้แต่น้อย

ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทยกล่าวกับคนเสื้อแดงว่า “ ชาวนาถูกมองมาโดยตลอดว่าเป็นคนโง่ที่ไม่รู้จักประชาธิปไตยแต่พวกเราชาวนาได้ เข้าร่วมในการประท้วงต่อต้านเผด็จการมาโดยตลอดทั้งในปี  2516 2519 พษภาฯ 35 และ กันยา 49  เพียงแต่ว่าพวก เราไม่เคยเข็มแข็งมากพอ แต่ครั้งนี้ถ้าทหารจะปราบคนเสื้อแดง ชาวนาจากทั่วประเทศจะปิดถนนทุกเส้นที่ทหารจะขับรถถังเข้ากรุง…”

พลังโกรธของผู้หญิงเป็นที่ประจักษ์ตลอดช่วงการลุกขึ้นสู้ในเดือนเมษายน ผู้หญิงหลายคนมีบทบาทในการนำประท้วงอาเซียนซับมิทที่พัทยา หลังจากอภิสิทธิ์ประกาศใช้ พรก. ฉุกเฉิน ที่กรุงเทพ กลุ่มผู้หญิงตามหาอภิสิทธิ์จนพบและพยายามวิ่งไล่ตามรถของเขา พวกเธอเดินเข้าไปหาทหารให้ถอนกำลังและอย่างใช้ความรุนแรง ผู้หญิงบุกยึดรถเมล์เพื่อเอามาจอดขวางถนนเพื่อป้องกันรถถัง ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเรื่องราวความกล้าหาญของพวกเธอจะได้รับการเล่า ขานและชื่นชม

ความรักในสถาบันพระมหากษัตริย์

คนไทยถูกบอกว่าต้องรักพระมหากษัตริย์อย่างไม่มีเงื่อนไข และไม่ต้องตั้งคำถาม แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าเรากำลังอยู่ในศตวรรษที่ 21 ไม่ใช่ศตวรรษที่ 19 คนไทยไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการตั้งคำถามว่ามีการปล่อยให้ทหารปราบปราบ ประชาชนผู้บริสุทธิ์ที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ครั้งแล้วครั้งเล่าได้อย่างไร

ในฐานะประชาชนโลก ที่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน คนไทยยุคใหม่มีหน้าที่ที่จะต้องตั้งคำถามว่าทำไมจึงปล่อยให้กฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ ซึ่งมีรากศัพท์มาตั้งแต่สมัยโรมัน ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างและรักษาอำนาจทางการเมืองมาโดยตลอด แน่นอนว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน  แต่ผู้คนต่างมีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า การโยงประเด็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพกับความรัก มันไม่สมเหตุสมผลกันเลยในโลกยุคนี้ มันไม่ก่อประโยชน์อันใดเลยนอกจากจะยิ่งสร้างความคลางแคลงใจในหมู่ประชาชนมาก ยิ่งขึ้น

มันจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าอย่างยิ่ง ถ้าวังและทหารจะไม่นำพาต่อระดับความจริงจังของคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สถาบันกับรัฐบาลที่อยู่ในความชื่นชอบของสถาบัน ที่ปะทุขึ้นมาอย่างมากมายจากทั่วทุกชุมชนในประเทศไทย (และทั่วทั้งประชาคมโลก)

ผู้คนส่วนใหญ่ต่างยังคงปิดปากเงียบเพราะความกลัวเกรงต่อกฎหมายหมิ่น พระบรมเดชานุภาพ สื่อสารมวลชนในกรุงเทพ ไม่สามารถเป็นตัวแทนของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทยได้อีกต่อไป และไม่ว่าจะด้วยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม สื่อได้ทำตัวเป็นฝ่ายยั่วยุปลุกปั่นแทนที่จะพยายามช่วยคลี่คลายภาพความขัด แย้งทางการต่อสู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนยากคนจนในชนบทกับการดำรงไว้ซึ่ง วิถีชีวิตคนชั้นกลางในเมืองหลวง

ผู้คนที่ติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบัน พยายามหลีกเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าโดยตรงกับกลิ่นที่โชยแรงขึ้นเรื่อยๆ ของการใช้กฎหมายหมิ่นฯ  พยายามให้เหตุผลว่า “มันจะค่อยจางหายไปเองตามกาลเวลา”  นั่นมันจริงแท้แน่เทียว แต่ในตอนนี้ พวกเราจะทำอะไรกันได้บ้าง ทั้งในเชิงรุกและเชิงรับ มันได้ถูกใช้เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งคลังมหาสมบัติและธุรกิจของสถาบันพระ มหากษัตริย์ (กษัตริย์ที่ร่ำรวยเป็นอันดับหนึ่งของโลก) กฎหมายหมิ่นฯ ในประเทศไทยเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพยิ่งในการปฎิมากรรมภาพลักษณ์ ‘ดินแดนแห่งรอยยิ้ม’ เครื่องมืออันเหี้ยมโหดที่พวกนักการทูตทั้งหลายชื่นชม และเหล่าทุนฉลามข้ามชาติทั้งหลายชื่นชอบ เพราะจะได้ใช้มันเป็นเครื่องมือสำหรับคนเหล่านี้ ประเทศไทยคือสรวงสวรรค์

ในศตวรรษที่ 21 เค้ารางแห่งสงครามกลางเมืองได้เริ่มโพล่ขึ้นมา ณ ริมขอบฟ้าของประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อันเป็นสุดยอดปรารถนาของมนุษย์ทั่วโลก มันจะต้องมีชนวนที่ยิ่งใหญ่มากจริงๆ ถึงทำให้มันเกิดขึ้นมาได้

ในทุกแวดวงการรวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิกฤติการเมืองใน ประเทศไทย  สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของการถกเถียง ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพื่อจะบอกว่า วังและคณะองคมนตรีกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ ที่ไม่ได้เกิดเพราะคนจนส่งเสียง แต่เกิดจากสิ่งที่พวกเขาทำ

ประเทศไทยต้องการพระมหากษัตริย์ และคนไทยต้องการรักในหลวงและรักราชินี และก็ควรจะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต่อเมื่อพระมหากษัตริย์ ตระหนักว่าพระองค์จะต้องส่งเสริมระบบประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งชีวิตใน พระราชวังจะผ่อนคลายความตึงเครียดลงไปได้อย่างมหาศาล ถ้าสถาบันทำเช่นนั้น

ในโลกยุคสมัยใหม่ รัฐบาลเผด็จการทหารไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหนก็ตามต่างก็ถูกก่นประณามและสาป แช่ง รัฐบาลเผด็จการเป็นปรากฏการณ์แห่งผู้นำที่ปัญญาอ่อนและน่ารังเกียจอย่าง แท้จริง

ประชาชนชาวอาเซียนทั้งหลายจะปล่อยให้ความรุ่งเรืองแห่งอนาคตต้องตกอยู่ ภายใต้อุ้งมือของระบบเผด็จการทหารที่ต้องการกุมอำนาจเอาไว้ตลอดกาล กระนั้นหรือ?

สู้เพื่อประชาธิปไตย

การขยายใหญ่โตของท่าเรือในกรุงเทพไม่ใช่อุบัติเหตุ และหนึ่งในผู้ที่ได้รับประโยชน์มหาศาลคือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหา กษัตริย์ เจ้าที่ดินที่มั่งคั่งที่สุดในโลก

ไม่มีใครต้องการให้การปะทะกันระหว่างเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงในกรุงเทพ นำพาประเทศจมลึกลงไปในปลักโคนตรมมากยิ่งขึ้นไปอีก ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าถ้ามันรุนแรงถึงขั้นกลายเป็นสงครามกลางเมือง

ทั้งคนจนในชนบทและคนจนในเมืองต่างก็พากันส่งเสียงว่า “พวกเราสุดทนแล้ว…ที่จะเห็นชีวิตของพวกเราตกต่ำลงไปเรื่อยๆ พวก เราจะไม่ยอมลงคะแนนเสียงเพียงเพื่อที่จะดำรงไว้ซึ่งความอยู่ดีมีสุขของคน ชั้นกลางในเมืองกรุง ทำไมเราต้องลงคะแนนเสียงเพื่อพวกเขาล่ะ?”

นักวิชาการและสื่อมวลชนจำนวนไม่น้อยในกรุงเทพ ต่างก็มีความเชื่อและจินตนาการเอาเองว่าเสียงของพวกเขาเท่านั้น ที่มีสิทธิ์ชี้นำการพัฒนาของประเทศ

ทำไมคนจนต้องทนกับการถูกเลือกปฏิบัติสองมาตรฐานที่ปรุงแต่งเติมรสใน กรุงเทพ โดยอภิสิทธิ์และพรรคประชาธิปัตย์ เพียงเพราะว่าพรรคประชาธิปัตย์รู้ดีว่าไม่สามารถเอาชนะจากหีบบัตรเลือกตั้ง ได้กระนั้นหรือ?

ทำไมเกษตรกรรายย่อย เส้นเลือดแห่งชนบทที่หล่อเลี้ยงประเทศไทย และลูกหลานของพวกเขาที่ทำงานเป็นทาสอยู่ตามนิคมอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ในเขตการค้าเสรี จะต้องยอมอยู่นิ่งเฉยเพราะวาทกรรมที่บิดเบือนแห่ง ‘เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ’? เส้นเลือดแห่งชนบทของไทยคือประเทศไทย ถ้าปราศจากซึ่งชุมชนชนบทที่มั่งคั่ง เข้มแข็ง มีประสิทธิภาพและมีความสุขแล้วละก็ ประเทศไทยก็ไร้ซึ่งความหมาย เป็นดังเช่นกล่องเปล่าที่ผูกริบบิ้นสีเหลืองเท่านั้นเอง

พวกเราต่างก็จำเป็นต้องคุ้มครองตัวของพวกเราให้รอดพ้นจากการครอบงำของ วิถีแห่งทุนเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ ทั้งนี้ด้วยนิยามในตัวของมันเอง มันได้ตั้งธงเรื่อง ‘เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ’ ไว้เหนือกว่า ‘สวัสดิการประชาชน’ และภายใต้คำโฆษณาชวนเชื่อว่า ‘เพื่อประชาธิปไตยและเสรีภาพ’ แต่บ่อยครั้งที่พวกเขากลับรอคอยโอกาสที่จะได้เข้าร่วมงานปาร์ตี้กับคณะ องคมนตรีและขยิบตาให้กับรัฐบาลเผด็จการทหาร

วิกฤติเศรษฐกิจทางการเงินในปัจจุบันเกิดจากความล้มเหลวของหลายสถาบันการ เงินข้ามชาติ สิ่งนี้เป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่าจะเกิดขึ้น และจำเป็นต้องเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ประชาชนจากทั่วมุมโลกได้มีโอกาสมานั่ง วิเคราะห์ และประเมินวิถีแห่งเศรษฐกิจและการเมืองแนวเสรีนิยมกันใหม่  จากล่างขึ้นบน แม้ว่ามันยังไม่เป็นจริง แต่การเคลื่อนไหวต่อสู้ของกลุ่มประชาชนผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลายใน ประเทศไทยจำเป็นจะต้องเป็นที่รับรู้ในหมู่ประชาคมโลก ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงใดใดก็ตามในประเทศไทย จะส่งผลสะเทือนทางการเมืองไปยังทุกประเทศในคาบสมุทรอินโดจีนด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่คนสิบกว่าล้านคนเท่านั้น แต่สำหรับคนยากคนจนนับร้อยล้านคน ที่กำลังถูกผลักใสให้อพยพลี้ภัยสงครามและความยากจน พากันเดินทางออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองพื่อไปตายเอาดาบหน้า ในภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจเช่นในปัจจุบันนี้ ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ได้ว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร แต่ในนามแห่งสันติภาพ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ในนามแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน  การท้าทายกับความอยุติธรรมแห่ง ‘การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน’  และโครงสร้างสามเหลี่ยมปิรามิดของระบบทุนนิยมจำเป็นจะต้องถูกคว่ำบาตร

จริงๆแล้ว ทักษิณได้ทำสิ่งที่มีประโยชน์บ้างเหมือนกัน เขาล้มเพราะตัวเองนั่นโทษใครไม่ได้ แต่ทักษิณจะได้รับการจดจำในฐานะที่ทำให้คนจนรู้ว่าพวกเขามีตัวตน และเป็นคนที่มีความสลักสำคัญคนหนึ่ง และสำหรับการเปิดทางให้เกิดคลื่นลูกใหม่ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านอำนาจของรัฐบาล เผด็จการ ก็ต้องขอบคุณเขาด้วยเช่นกันในเรื่องนี้

โฉมหน้าของการต่อสู้ของคนจนในประเทศไทยครั้งนี้จึงสำคัญยิ่ง  ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมเท่านั้น แต่เพราะว่าเศรษฐกิจแห่งโลกอนาคตนั้นขึ้นอยู่กับเรื่องความมั่นคงทางอาหาร และการลงทุนในอุตสาหกรรมอินทรีย์ ดังนั้นการเคลื่อนไหวใดๆ ในประเทศ  ไทยอันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมและธรรมเนียมวิถีของชาวชนบทไทยและองค์ความรู้ ที่เกษตรกรรายย่อยและชาวประมงพื้นบ้านได้รับการถ่ายทอดและสั่งสมต่อเนื่องมา อย่างยาวนาน จึงเป็นขุมทรัพย์ที่มีมูลค่ายิ่ง และสามารถส่งผลกระทบต่อวิถีวัฒนธรรมและความหลากหลายแห่งระบบนิเวศน์ตลอด คาบสมุทรอินโดจีน  ดังนั้นภูมิภาคนี้จึงเป็น หนึ่งในพื้นที่เพียงไม่กี่แห่งที่เหลืออยู่ในโลกนี้ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางนิเวศน์เอาไว้ได้มากมายมหาศาล  มันเป็นพื้นที่แห่งความหวังของโลกอนาคตของทุกสรรพชีวิต

เพื่อการดำรงอยู่สืบไปของประเทศไทย(และของสถาบันพระมหากษัตริย์) มันจำเป็นอย่างยิ่งที่ชุมชนในชนบท คนงานหญิงชายที่ทำ งานอยู่บนพื้นดินอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้  จะทำหน้าที่ผู้พิทักษ์‘สวนครัวของโลก’ จำเป็นอย่างยิ่งที่พวกเขาจะต้องยืนหยัด และไม่ยอมศิโรราบให้กับพันธมิตรและพรรคที่มีชื่อผิดไปจากความหมายที่แท้จริง ของอภิสิทธิ์ เช่นพรรคประชาธิปัตย์

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงในประเทศไทย ที่ได้ลุกขึ้นต่อสู้มาหลายครั้งตลอดช่อง 70-80 ปีที่ผ่านมา จำเป็นจะต้องเป็นที่รับรู้ ได้รับการสนับสนุน และได้รับการสมานฉันท์จากขบวนการคนงานและเครือข่ายเกษตรกรรายย่อยจากทั่วทุก มุมโลก

ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยยังเต็มไปด้วยหญิงชายที่เป็นคนสื่อสัตย์สุจริต ผู้นำจะก่อเกิดขึ้นมาทำหน้าที่อย่างไม่ขาดสาย เพื่อลุกขึ้นมา ทำความสะอาดและปัดกวาดยากไย่แห่งความชั่วร้าย และขยะที่ถูกทิ้งขว้างจากการไขว่คว้าหาวิถีชีวิตตามค่านิยมอเมริกัน  เพื่อที่จะฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นคนกลับคืนมาอีกครั้ง คนทั้งประเทศจำเป็นต้องจับมือกันต่อสู้เพื่อสร้างเศรษฐกิจของโลกใหม่ ที่เป็นเศรษฐกิจอินทรีย์ มีความยั่งยืน และเป็นการวางรากฐานของวิถีเกษตรกรอย่างแท้จริง

วันที่พวกเรายอมประนีประนอมหลักการแห่งสิทธิมนุษยชน เพื่อเปิดทางให้กับกลลวงแห่งแนวคิดเรื่อง ““เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ”  ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองแนวคิดอย่างผิดๆ จำต้องถึงคราวยุติ

พวกข้าราชการและชนชั้นกลางที่อยู่อย่างมีเกียรติในสังคม จำเป็นต้องเข้าใจว่าพวกเขามาถึงจุดที่ต้องตัดสินใจแล้วว่า จะยอมแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเกษตรกรและกรรมกรคนงาน (ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชีวิตของพวกเรา) หรือจะต้องเผชิญหน้ากับสงครามกลางเมืองซึ่งพวกเขาไม่มีวันชนะ

เพื่อการได้มาซึ่งการเคารพตัวเอง คนไทยจำต้องสร้างรากฐานประชาธิปไตยให้แข็งแกร่งให้ได้ก่อนเป็นอันดับแรก การเมืองครึ่งสุกครึ่งดิบของประเทศไทยได้ผลิตผลออกมาเป็นพันธมิตร 70:30 (หรือว่า 74:26?)  หรือข้อเสนออย่างเช่นการขอนายกพระราชทานเพื่อมาแทนที่นายกที่มาจากการเลือก ตั้ง ขยะเหล่านี้ต้องถูกแตะโด่งกลับไปยังที่ที่มันถูกเก็บออกมา  กลับคือไปอยู่กับกระดาษห่อไอติมและเศษชนมปังในถังขยะ

พวกเราตระหนักดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนในปี 2540 ยังห่างไกลจากการที่จะเรียกได้ว่าสมบูรณ์แบบ ตัวอย่างเช่น ขบวนการแรงงานได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อให้แก้ไขมาตรา  ที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ที่กำหนดเงื่อนไขว่าผู้ได้รับปริญญาตรีหรือสูงกว่าเท่านั้นที่มีสิทธิลง สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และยังมีมาตราอื่นๆ อีกที่ต้องแก้ไข

ประชาธิปไตยไม่ใช่เป็น‘นวัตกรรมตะวันตก’ ในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใด ประชาธิปไตยก่อเกิดมาพร้อมกับประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ ไม่ในระดับใดก็ในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะเมื่อไดหรือจะที่ไหนก็ตามไม่ว่าจะอยู่ในทะเลทรายกาลาฮารี หรือในลุ่มน้ำอเมซอน กลางธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ หรือที่ราบสูงธิเบต หรือแม้แต่ในหมู่บ้านที่อีสานของประเทศไทย มนุษย์ทุกคนต่างก็มีสิทธิที่จะใช้ชีวิตที่ปลอดเผด็จการทหาร

ประชาธิปไตยคือพัฒนาการที่เป็นไปตามครรลองแห่งธรรมชาติของพัฒนาการทาง จิตสำนึกของมนุษย์ ประชาธิปไตยไม่ใช่ดอกผลของความละโมบของทุนนิยม มันคือพัฒนาการของการเติบโตในการสร้างทางเลือกการปกครองที่ไม่ใช่ระบอบ เผด็จการ  ประชาธิปไตยค่อยๆ พัฒนาและเติมโตขึ้นมาและเป็นผลผลิตจากการที่ประชาชนต้องหันหน้ามาปรึกษาและ ลงมติกันเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งปัญหาการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร จะทำอย่างไรที่จะทำให้ประชากรอ่านออกเขียนได้ จะรณรงค์กันอย่างไรเพื่อให้คนในสังคมยุติการใช้อุปกรณ์ต่างๆ ที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ จะลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้อย่างไร เป็นต้น โดยเนื้อแท้แล้วจิตสำนึกของพวกเราต่างก็ร่ำร้องเรียกหาสันติภาพ และต้องการสร้างความเป็นปึกแผ่นของสังคม สร้างสังคมเกษตรกรรมที่เจริญก้าวหน้า

ไม่มีทางที่เราจะหลีกเลี่ยงที่จะไม่ปฏิบัติตามวิถีแห่งประชาธิปไตยในศตวรรษที่ 21 เช่นนี้ และเราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหลีกเลี่ยงมัน

ในโลกที่มนุษย์ส่วนใหญ่รู้จักนึกคิดและอ่านออกเขียนได้ มนุษย์จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน และเพื่อการก้าวเดินหน้าไปสู่อนาคตด้วยกันพร้อมกับความหวัง แบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างกันอย่างสื่อสัตย์ “รัฐสภาแห่งประชาชน” ไม่สามารถที่จะหลบเลี่ยงหรือหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไปแล้ว

สัญลักษณ์แห่งประมุขของชาติ ชะตาของฟ้าดิน และผู้นำทหาร ไม่จำเป็นจะต้องกลัว “รัฐสภาประชาชน” ถ้าพวกเขามีความกล้าหาญทางจริยธรรม มีความจริงใจ และมีภูมิปัญหาหยั่งรู้ว่าจำต้องเคารพในมติมหาชนอย่างแท้จริง

บทส่งท้าย

กว่า 70 ปี ที่ประชาธิปไตยระบบรัฐสภาไทยอยู่ในสภาพคล้ายกับคนที่ขาทั้งคู่ถูกผูกติดกัน กระโดดก้าวหน้าหนึ่งก้าวถอยหลังสองก้าว “กระโดดโลดเต้นไปกับเหล่านายพล” ในสภาพที่ทุลักทุเลและน่าสมเพช

วันนี้คนไทยจึงจำต้องลุกขึ้นมาทำตัดเครื่องพันธนาคารที่ปิดกั้นไม่ให้พวก เขาสามารถเติบโตไปสู่ศตวรรษที่ 21 ภาพชายหนุ่มผมยาวผู้บ้าบิ่นที่กระโจนขึ้นไปยังรถถังและยื้อแย่งปืนกับทหารใน ขณะที่รถถังวิ่งอยู่กลางถนนด้วยสองมือเปล่าและไม่ได้สวมเสื้อผู้นั้น(ไม่ว่า เขาจะมีสีอะไรก็ตาม) มันเป็นเครื่องสะท้อนความจริงว่าโลกในทุกวันนี้ คนที่มีการศึกษา ประชาชนตาสีตาสา และเหล่าทหารชั้นผู้น้อยต่างก็รังเกียจพฤติ กรรมการสั่งให้ปราบปราบประชาชน

คนไทยต่างก็เอือมระอากับวิถีอำนาจแบบแบ่งแยกและปกครอง ปวดแปลบในหัวใจเมื่อได้ฟังเรื่องราวของผู้คนที่ถูกกดขี่ที่พยายามลุกขึ้นสู้ แต่ถูกตีพ่าย ครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่จะว่าเมื่อใดหรือที่ไหนก็ตามที่พวกเขาพยายามกู่ก้องเรียกหาความยุติธรรม สังคมไทยต่างก็รู้สึกอดสู และละอายใจที่ทำอะไรไม่ได้มากไปกว่าการต้องทนเห็นภาพความเจ็บปวดของเหล่า ผู้คน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรรายย่อย หรือชาวมุสลิม หรือชนเผ่าต่างๆ หรือคนงานหลายล้านคนในโรงงาน หรือคนงานพม่ากว่า 2 ล้านคน ใน ประเทศไทย ที่ได้รับการเลือกปฏิบัติราวกับเป็นพลเมืองชั้นสอง ถูกเก็บ รักษาเอาไว้ประหนึ่งเป็นเครื่องยืนยันหรือเครื่องประดับของความสำเร็จ ของระบบอำนาจนิยมของชนชั้นสูงในสังคมไทย

มันจะไม่มีทางที่ประเทศไทยจะเกิดสันติสุข หรือมีเสถียรภาพ และมีจิตใจและจิตวิญญาณที่เติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้เลย ตราบใดที่สถาบันพระมหากษัตริย์ ยังไม่สามารถกระจายการใช้อำนาจและความมั่งคั่งไปยังคนยากคนจน เหล่านายพลทั้งหลายที่ปลุกปั้นและสถาปนาสถาบันพระมหากษัตริย์จนเข้มแข็งหลัง จากสิ้นสุดสงครามโลก ด้วยเงินช่วยเหลือหลายร้อยล้านดอลลาร์จากสหรัฐอเมริกา ต่างก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง ที่จะถ่วงดุลอำนาจของสองสุดยอดปรารถนาของปวงชนชาวไทย อันได้แก่ การมีพระมหากษัตริย์ที่พวกเขารัก และมีระบบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง

พฤติกรรมของนักการเมืองที่มุ่งเพียงการชิงชัยกันด้วยเล่ห์เหลี่ยมอัน แพรวพราว ไร้ซึ่งมโนธรรมและความด้านอาย และแสนสกปรก และฉ้อฉลในสังคมไทยในปัจจุบัน กำลังฉีกประเทศออกเป็นชิ้นๆ สัญญาณแห่งสงครามใต้ดินอันยืดเยื้อ ปั่นป่วนไปทั่วเมืองและอาจจะส่งผลกระทบไปทั้งอาเซียน ได้เริ่มปรากฏเค้ารางขึ้นแล้ว ณ ตรงเส้นขอบฟ้า

อะไรนิด อะไรหน่อย ก็คิดแต่จะถวายฎีกา บรรดานักวิชาการผู้ทรงภูมิในประเทศไทยได้ชะลอความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาและ เติบโตเป็นผู้ใหญ่เอาไว้ตลอดกาล พวกเขาจำเป็นต้องเติบโตเพี่อที่จะรู้จักกับความรับผิดชอบ ที่จะต้องลุกขึ้นมารับผิดชอบต่อปัญหาความยากจนที่คนจนนับสิบๆ ล้านคนในประเทศไทยที่ยังคงติดอยู่ในวังวน  ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเรียกร้องให้นักวิชาการออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อความ โหดร้ายป่าเถือนของการปราบปราบประชาชนบนท้องถนนตลอด 80 ปีที่ ผ่านมา ที่ไม่เคยมีใครต้องแสดงความรับผิดชอบ

ใครกันที่จะต้องรับผิดชอบต่อการปราบปราบความฝันของคนจน ความฝันที่จะได้รับการยอมรับความฝันที่จะได้เห็นความ ยุติธรรม? พวกจักรวรรดินิยม หรือพวกนายทุกหน้าเลือดที่มาจากโลกภายนอก หรือว่าอำนาจอันลึกลับบางอย่าง ใครกันหรือ? หรือว่าคนไทยทั้งหลายที่จะต้องรับผิดชอบกับความทุกข์ทรมานของตัวเอง?

สิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นไทย”  ที่พวกเรากำลังปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันนี้มันคืออะไรกันแน่  มันคือการให้ใบอนุญาต ในบางครั้งบางคราว ที่ดูประหนึ่งจะกลายเป็นพิธีกรรมไปแล้ว ให้เข่นฆ่าคนสัก 10 หรือ 40 หรือ 100 คน ได้ในบางครั้งในบางคราว ด้วยคำกล่าวอ้างว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียที่อาจจะมีจำนวนมากกว่านี้ มากมายนัก

นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยเรียกว่าประชาธิปไตยหรือ? นี่คือ “ความเป็นไทย” ที่เราอยากจะบอกกับคนอื่น หรืออยากจะให้คนอื่นได้รับรู้กระนั้นหรือ?

ธรรมเนียมปฏิบัติของรัฐและกลไกข้าราชการที่ยินยอมให้ข้าราชการบางคนที่ ฉ้อฉล ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับชาติ สามารถแอบอ้างชื่อสถาบันพระมหากษัตริย์ในการสร้างความชอบธรรมที่จะเอารัดเอา เปรียบและกดหัวคนยากคนจนเอาไว้ใต้ฝ่าเท้าจำต้องถูกทำให้หมดไปจากสังคมไทยโดย เร็วที่สุด ซึ่งก็ด้วยการทำให้กลไกรัฐสภามีความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง นี่จึงเป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้คนไทยสามารถปกป้องศักดิ์ศรีของความ เป็นคนไทย ไม่ให้กลายเป็นตัวตลกในสายตาของประชาสังคมโลก ถ้าเราไม่กลายเป็นประเทศที่ล้มละลายทางการเมืองไปเสียก่อน

รัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยไม่มีความชอบธรรม         ประเทศไทยจำต้องมีการจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยทันที แต่นายกรัฐมนตรีรักษาการอภิสิทธิ์รู้ตัวดีกว่าเขาไม่อาจเอาชนะในสนามเลือก ตั้งได้ จึงจะพยายามทำทุกวิถีทางที่จะทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่เลื่อนออกไปให้ ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อที่เขาจะมีเวลาในการ ใช้สื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล และการเตรียมการใช้ช่องโหว่ และกลไกของรัฐที่สั่งสมมาจากการฉ้อฉลและคอรัปชั่นมาอย่างยาวนาน เป็นเครื่องมือ  จะกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งก็คือ อภิสิทธิ์และพวกชนชั้นสูงทั้งหลายกำลังซื้อเวลา เพราะมีความเชื่อว่า ยิ่งเวลาเนิ่นนานออกไปได้นาน เท่าใด เสียงของผู้ประท้วงก็จะยิ่งอ่อนล้า และแผ่วเบาลงไปมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น

และมันก็จะเกิดปรากฎการณ์อีกครั้งหนึ่งที่ผู้มีสิทธิหย่อนบัตรเลือกตั้ง ในประเทศไทย คนจน คนทำงานจะได้พบเห็นเป็นขวัญตากับการโกงการเลือกตั้งอย่างเป็นบูรณาการ เป็นการคอรัปชั่นทั้งรัฐบาล

ในประเทศไทย มันไม่ใช่รัฐบาลที่กำลังเน่าเหม็น แต่คือขบวนการต่อสู้ของประชาชนที่กำลังถูกโดดเดี่ยวต่างหาก ที่ต้องการความช่วยเหลือจากประชาคมโลก จากขบวนการสหภาพแรงงานโลก จากนักสิทธิมนุษยชนทั่วโลก ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นอาจจะต้องสลัดภาพความทรงจำเก่าๆ อันสวยหรูเกี่ยวกับประเทศไทยทิ้งไปบ้าง และหันกลับมามองความจริงที่เกิดขึ้นบนท้องถนนใหม่อีกครั้ง และเชื่อมโยงภาพความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นจริงบนท้องถนนในประเทศไทยกับ เสถียรภาพทางการเมืองและความอยู่ดีมีสุขของประชาชนทั่วทั้งภูมิภาค

ประชาคมอาเซียนล้มเหลวในการช่วยเหลือคนพม่า และไม่สามารถที่จะล้มเหลวได้อีกแล้วในกรณีของประเทศไทย

สถาบันพระมหากษัตริย์กำลังอยู่ตรงศูนย์กลางของความเป็นไปได้อันน่าสะพรึง กลัวที่จะเกิดการปะทะกันอย่างบ้าคลั่งและรุนแรง ความหวังอันยิ่งใหญ่ที่สามารถมีได้ตอนนี้คือสำนักพระราชวังจะก้าวไปยัง ทิศทางแห่งแสงสว่างของวันพรุ่ง และใช้ทุกวิถีทางที่ทำได้เพื่อปรามคณะ องคมนตรีให้อยู่ในร่องในรอย และสนับสนุนให้มีการนำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนกลับมาบังคับใช้ใหม่ และอนุญาตให้จัดการเลือกตั้งอย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม ก่อนที่สงครามเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงซึ่งคณะองคมนตรีมีส่วนเกี่ยวข้องในการ สร้างขึ้นมา จะทำให้สถานการณ์ในบ้านเมืองมันเลวร้ายเกินกว่าจะหยุดยั้งได้

ในศตวรรษที่ 21 “เสถียรภาพ” รออยู่ที่ตรงด้านหน้าของประตูนั่นเอง ซึ่งเรียกกันว่าปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รัฐบาลของอภิสิทธิ์ไม่สามารถกระทำในสิ่งที่สุภาษิตไทยเรียกว่า “ปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ”

คนไทยจะไม่ยอมอีกต่อไป คนเสื้อแดงจะไม่กลายเป็นสีเหลือง และโลกก็จะไม่หยุดเฝ้าจับตาดูพฤติกรรมของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยที่ มั่งคั่งกับเหล่านายทหารทั้งหลายในคณะองคมตรี

คนไทยต้องการที่จะรักในหลวงและจะยังคงรักต่อไป ถ้าบรรดาเหล่านายพลจะทำตัวเป็นสุภาพบุรุษที่น่านับถืออย่างที่ควรจะเป็น และปล่อยให้ประชาชนทำหน้าที่ฟื้นฟูสถาบันประชาธิปไตย และปล่อยให้สำนักพระราชวังดูแลกิจการของสำนักพระราชวัง  และนำเสนอแบบอย่างของการเป็นประมุขของชาติ ที่มีคุณธรรม มีเมตตาธรรม มีความอดทน อดกลั้น และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากกองทหารอีกต่อไป

++++++++++++++++++

การอ้างอิงแหล่งที่มาของการเขียนบทความชิ้นนี้ยาวเป็นหางว่าว จนผู้เขียนตัดสินใจไม่เอามาใส่ในหนังสือเล่มนี้ เพราะหลายเรื่องราวเป็นสิ่งที่ไม่เคยลืมเลือนหายไปจากความทรงจำของผู้รัก ประชาธิปไตย และครอบครัว
ผู้สูญเสีย เพียงแค่คลิกหาคำตอบจากกูเกิล และหนังสืออีกสองสามเล่ม ผู้อ่านก็จะเจอกับข้อมูลเช่นเดียวกับผู้เขียน

+++++++++++

ถ้าไร้ประชาธิปไตยที่ทำให้ทุกกลไกและทุกสถาบันในประเทศเคารพประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ประเทศไทยจะไม่มีทางที่มีเสถียรภาพและพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน

เสถียรภาพไม่สามารถได้มาด้วยกำลังอาวุธ แต่ด้วยการเคารพในทุกเสียงในสังคม

——————

[1] ผู้เขียนใช้คำว่า “รัฐประหาร 2475” แทนจะใช้คำว่า “ปฏิวัติ” เช่นที่นักประวัติศาสตร์ในประเทศไทยใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากว่า ผู้เขียนเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 นั้นเป็นทำในรูปแบบการทำรัฐประหารแห่งชาติ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองในบางระดับเท่านั้น แต่ไม่ได้เป็นการปฏิวัติทางการเมืองอย่างเบ็ดเสร็จสมบูรณ์เช่นที่กระทำใน นานาประเทศ ซึ่งการปฏิวัติทางการเมืองก่อการโดยมหาประชาชน การปฏิวัติการเมืองสู่ระบบประชาธิปไตยที่แท้จริงของประเทศไทยจึงถือว่ายัง ไม่เกิดขึ้น และก็หวังว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะทำให้การปฏิวัติประชาธิปไตยใน ประเทศไทยเป็นจริงขึ้นมาได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ตัวปรีดีเองก็ได้ตระหนักในเรื่องนี้และยอมรับว่า “”….ในปี ค.ศ. 1925 (พ.ศ. 2468) เมื่อเราเริ่มจัดตั้งกลุ่มแกนของพรรคอภิวัฒน์ในปารีส ข้าพเจ้ามีอายุเพียง 25 ปีเท่านั้น หนุ่มมาก หนุ่มทีเดียว ขาดความจัดเจน แม้ว่าข้าพเจ้าได้รับปริญญาแล้ว และได้คะแนนสูงสุด แต่ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าทางทฤษฎี ข้าพเจ้าไม่มีความจัดเจน และโดยปราศจากความจัดเจน บางครั้งข้าพเจ้าประยุกต์ทฤษฎีอย่างนักตำรา ข้าพเจ้าไม่ได้นำความเป็นจริงในประเทศของข้าพเจ้ามาคำนึงด้วย ข้าพเจ้าติดต่อกับประชาชนไม่พอ ความรู้ทั้งหมดของข้าพเจ้าเป็นความรู้ตามหนังสือ ข้าพเจ้าไม่ได้เอาสาระสำคัญของมนุษย์มาคำนึงด้วยให้มากเท่าที่ข้าพเจ้าควรจะ มี… ในปี ค.ศ. 1932 (พ.ศ. 2475) ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี พวกเราได้ทำการอภิวัฒน์ แต่ข้าพเจ้าก็ขาดความจัดเจน… และครั้นข้าพเจ้ามีความจัดเจนมากขึ้น (พ.ศ. 2489 – 90) ข้าพเจ้าก็ไม่มีอำนาจ”  (ปรีดี พนมยงค์ ให้สัมภาษณ์นิตยสาร เอเชียวีก ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2523 ก่อนถึงอสัญกรรมไม่ถึง 3 ปี)