เพื่อร่วมรำลึกวันจักรี: ย้อนประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยสายตาของไพร่

เพื่อร่วมรำลึกวันจักรี: ย้อนประวัติศาสตร์สมบูรณาญาสิทธิราชย์ด้วยสายตาของไพร่

โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ
6 เมษายน 2555

บทความนี้เขียนเผยแพร่ครั้งแรก 6 เมษายน 2554 แต่ขอนำมาเผยแพร่ในปีนี้อีกรอบ

6 เมษายน 2555 นี้ เป็นวันครบรอบ 230 ปี แห่งราชวงศ์จักรี เป็นวันสถาปนาปฐมบรมราชาแห่งราชวงศ์จักรี ตามที่เราท่านได้ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เกิดขึ้นในวันเดียวกันหลังจากที่เจ้าพระยาจักรีทำรัฐประหารและประหารชีวิตพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช พร้อมทั้งครอบครัว และขุนนางที่จงรักภักดีทั้งหลาย

การโค่นราชวงศ์หนึ่งแล้วตั้งราชวงศ์ใหม่เกิดขึ้นตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยในยุคสมัยสมบูรณาณาสิทธิราชย์ และราชวงศ์จักรีก็ไม่ได้มีประวัติแห่งการก่อกำเนิดที่แตกต่างจากราชวงศ์อื่นๆ เช่นกัน

ดังนั้นในการร่วมรำลึกวันจักรี ในฐานะประชาชน เราควรร่วมรำลึกอย่างมีสติ ด้วยการพยายามเข้าใจวิถีคิดและจิตวิทยาการเมืองแห่งราชวงศ์จักรี เพื่อสืบสานและรักษาอำนาจให้คงอยู่คู่ฟ้า

ราชวงศ์จักรีได้สืบทอดแนวคิดและจิตวิทยาการบริหารบ้านเมืองตามระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจากราชอาญาจักรอยุธยา และราชอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในอดีต และปฏิบัติตาม “โองการสวรรค์” ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

วิถีการรักษาอำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มักอิงแอบแนบชิดกับนายทหารเสนาบดี ควบคู่ไปกับส่งเสริมค่านิยมความเชื่อในเรื่อง “ความเป็นสมมุติเทพ” ที่ดำรงต่อเนื่องมาเนิ่ินนานหลายพันปีแห่งประวัติศาสตร์มหาราชา อันเป็นยุทธศาสตร์แห่งการดำรงอยู่และขยายราชอาญาจักร และเป็นยุทธศาสตร์เพื่อการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับในหมู่ประชาชนว่า การเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ขึ้นเป็นผู้ปกครองแว้นแคว้นนั้นๆ นั้นเป็นโองการจากสวรรค์ ทั้งมหาจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ของจีน พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งมหาอาณาจักรขอมที่ยิ่งใหญ่ หรือแม้แต่พระเจ้าจอห์นแห่งอังกฤษที่ฉีกสัญญาประชาคมที่ทำไว้กับขุนพลจากเมืองต่างๆ เมื่อกว่า 800 ปีที่ผ่านมา (แม้ว่าสุดท้ายก็ต้องยอมทำสัญญาแมคนาคาร์ตาในปลายรัชกาลก็ตาม) ต่างก็อ้างว่าพระองค์ได้รับการแต่งตั้งจากสวรรค์

นั่นมันเนิ่นนานมามากแล้ว หลายร้อยปีมาแล้ว สถาบันกษัตริย์ในหลายประเทศปลาสนาการไปในช่วง 229 ปี

ภาพการประหารชีวิตพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ด้วยเครื่องกิโยติน 21 มกราคม 1793 (พ.ศ. 2336)

พระราชวงศ์พระเจ้าซาร์ นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย ทุกพระองค์ถูกสังหารโหดในวันที่ 17 กรกฎาคม 1918 (2461)



ภาพการปฏิวัติรัสเซียพ.ศ. 2460


ในช่วงเวลาหลายร้อยปีนี้ ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่างก็ทยอยถูกโค่นล้มโดยประชาชนในทั่วทุกมุมโลก สำหรับกษัตริย์ที่ชาญฉลาดต่างก็รู้ว่าจำต้องปรับตัวลงมาอยู่ร่วมกับประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญ

กษัตริย์ที่บ้าอำนาจที่ไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญต่างก็ถูกโค่นอย่างถอนรากถอนโคน และถูกประหารชีวิต (ชัดเจนที่สุดได้แก่ กรณีพระเจ้าหลุยส์ที่ 16 ของฝรั่งเศส พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 ของรัสเซีย หรือร่วมสมัยในกรณีของพระเจ้าคยาเนนทราของเนปาล ที่ถูกโค่นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่รัฐบาลทักษิณถูกโค่นด้วยรัฐประหาร 2549 ของคณะปฏิรูปการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (หรือในอีกนัยยะหนึ่งก็คือรัฐประหาร โดยคณะรัฐประหารอ้างว่า เพื่อดึงอำนาจกลับไปสู่สถาบันพระมหากษัตริย์))

สมบูรณาญาธิราชย์แบบไทยไทย

ถ้ามองย้อนคร่าวๆ ไปยังบันทึกการเมืองสมัยอยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์ พวกเราจะเห็นการฆ่าฟันแย่งชิงกันขึ้นสู่อำนาจตลอดเวลา เกือบทุกรัชสมัย เกิดมาพร้อมกับวรรณกรรมเพื่อการกล่อมเกลาสังคม อาทิ ลิลิตโองการแช่งน้ำ ที่ใช้ประกอบการทำพระราชพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเพื่อสาบานตนต่อพระมหากษัตริย์ ที่ใช้มาตั้งแต่องค์ปฐมกษัตริยแห่งราชอาณาจักรอยุธยา และสืบสานต่อเนื่องมาจนถึงกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ และจนถึงปัจจุบัน

แม้จะมีการพูดเรื่องทศพิธราชธรรมของระบอบสมฐุรณาญาสิทธิราช แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า การเมืองระบอบกษัตริย์ ไม่รู้จักกับคำว่า (หรือไม่มีนิยามคำว่า) “ความยุติธรรม” มีแต่เพียงคำว่า “พระราชอำนาจ”“พระราชโองการ” และ/หรือ “พระราชดำริ” เป็นต้น

ระบบสมบูรณาณาสิทธิราชย์เพื่อการเมืองที่กดหัวคน จึงเป็นระบบการเมืองที่เหน็ดเหนื่อย ที่ไม่มีเสถียรภาพ ไม่ยั่งยืน เพราะมันต้องอยู่กับความหวาดระแวง ชิงไหวชิงพริบ ต่อสู้แย่งชิงอำนาจ ระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา

ประวัติศาสตร์เจ้าจึงเป็นประวัติศาตร์แห่งเขตแดนที่ไม่เคยอยู่นิ่ง – ประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยสงครามและการนองเลือดแห่ง . .

==> การรักษาอำนาจและอาณาเขตแดน (ของเจ้า) ==> การขยายอาณาเขต ==>การกู้แผ่นดิน==>การแย่งชิงในราชสำนัก ==>เกิดราชวงศ์ใหม่

เป็นวัฎจักรหมุนวนกันอย่างนี้ ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น จนกว่าจะเจ้าจะยอมรับในระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ที่ทุกคนได้รับการปฎิบัติอย่างเท่าเทียมกัน

การเมืองกษัตริย์จึงเป็นการเมืองของศักดินาชนชั้นสูง การเมืองของกษัตริย์ อุปราช และเสนาบดีกลาโหม

เป็นการเมืองที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น – ทั้งขึ้นทั้งล่อง – หรือที่สุภาษิตว่าไว้ว่า “เมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกราญ” เป็นการเมืองที่แน่นอนว่าประชาชนต่างก็ไม่พอใจ และต่างก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ประชาชนต้องเสี่ยงชีวิตในฐานะทหาร เสียชีวิตจากการปล้นสะดมภ์ ขาดอาหาร และถูกจับเป็นเชลยข้ามเขตแดนกันไปมา ตามแต่ว่าศึกครั้งนี้มหาราชองค์ไหนคือผู้ชนะ

ในระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ไม่มีคำว่า “ประชาชน” มีแต่คำว่า ไพร่ ทาส เลก ที่ไม่มีอธิปไตยของชีวิตตัวเอง เป็นเพียงกำลังแรงงาน สนมนางกำนัล เครื่องบำเรอความใคร่ และกองกำลังทหารที่หล่อเลี้ยงความมั่งคั่งแห่งเมืองหลวง

ในระบบศักดินาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เจ้าศักดินาคนไหนก็ตามที่เริ่มมีอิทธิพลและมีไพร่ทาสมากเกินไป จะถูกจับตามอง และถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพของพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่ฉ้อฉลคน อื่น พวกเขามักจะถูกกำจัดทิ้งอย่างง่ายดาย ฆ่าเรียบ เผาเรียบ พร้อมกับยึดไพร่ ทาส มาเแจกจ่ายระหว่างกลุ่มที่ชนะ

นี่คือการเมืองแห่งอำนาจของลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตลอดหลายร้อยปีที่ผ่านมาใน ประวัติศาสตร์ไทย เป็นการเมืองแห่งการรบราฆ่าฟัน จี้ปล้น แย่งชิง เผาบ้าน เผาเมือง กันอยู่ตลอดเวลา มันโหดร้ายยิ่งนัก

ด้วยเหตุนี้ลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่ดำรงตนด้วยการบ่มเพาะความเชื่อว่ากษัตริย์คือโอรสสวรรค์ จึงถูกท้าทายจากพลังประชาชนควบคู่มาพร้อมกับประวัติศาตร์ราชสำนัก เพราะในตัวลัทธิแนวคิดนี้ มันขัดแย้งกับธรรมชาติของมนุษย์ที่มีความรักอิสรภาพ รักสงบ และรักความเป็นไท ประชาชนทั่วไปต่างก็ต้องการดำรงชีวิตด้วยความเข้าใจและเคารพในธรรมชาติ พึ่งตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน รวมทั้งลงแรงช่วยเหลือกันและกันในเทือกสวนไร่นา ดังนั้นพวกเขาไม่ต้องการเป็นข้า ไพร่ หรือทาสของใครทั้งนั้น

การลุกขึ้นโค่นเผด็จการและกษัตริย์ในโลกปัจจุบัน

ลัทธิการปกครองระบบกษัตริย์ และเผด็จการทหารที่อยู่รอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่างก็กำลังอยู่ในภาวะอกสั่นขวัญหาย อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในหลายประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศในอาฟริกา และตะวันออกกลางที่การเปลี่ยนผ่านได้เกินอายุขัยมานานร่วมศตวรรษ จนอยู่หลงยุค หลงสมัย และกลายเป็นตัวตลกในหมู่ประชาคมโลกมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งประชาชนในประเทศเหล่านั้นก็รู้ดี และกำลังลุกขึ้นสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและยุติหลายศตวรรษแห่งชีวิตที่ ถูกกดขี่ภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์และเผด็จการทหาร

ความร้ายกาจแห่งอำนาจอาจนุ่มนวลขึ้นบ้าง ไม่ใช่ “ไม่พอใจใครก็สั่งตัดหัวเสียบประจาน” แห่งระบบสมบูรณาญาสิทธิราชอันบริบูรณ์ แต่เป็นวิธีเชือดนิ่มๆ ครอบงำการเมืองด้วยวิถีการฑูตราชสำนัก หรือจะเรียกว่ายุทธวิธีแห่ง “น้ำผึ้งเคลือบยาพิษแห่งลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ซึ่งจริงๆ แล้วมันก็็โหดร้ายป่าเถื่อนไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันและก็ไม่เคยปรานีคนที่คิดต่างเช่นกัน

ประเทศที่ปกครองด้วยลัทธิมหาราชเอกบุรุษ และเผด็จการทหารหรือเผด็จการรัฐสภา ที่อยู่รอดมาถึงปัจจุบัน (เหลืออยู่น้อยเต็มที่) ต่างก็อยู่่เกินอายุขัย และต่างก็พยายามอย่างหนัก และทุ่มเทงบประมาณของรัฐ(อันจำกัด) จำนวนมากมายมหาศาล ไปกับการสร้างภาพและปลูกฝังความคิดแห่ง “สมมติเทพ” และ “ความศักดิ์สิทธิ์” ให้กับองค์พระมหากษัตริย์กันอย่างบ้าคลั่ง ทั้งพัฒนากลไกที่ซับซ้อนและวิจิตรบรรจงมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งพัฒนาการแห่งเครื่องประดับอาภรณ์และพระราชธรรมเนียมต่างๆ

บทเรียนของกษัตริย์ฆวน คาร์ลอส คือบทเรียนแห่งการปรับตัวของสถาบันกษัตริย์ในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญอย่างน่าชื่นชม กระนั้นคนสเปนจำนวนไม่น้อยก็ไม่ต้องการระบบกษัตริย์เป็นประมุข

สุรเสียงพระเจ้าฆวน คาร์ลอส ที่ ๑ แห่งสเปน มีพระราชดำรัสปฏิเสธการรัฐประหาร 2521

ประวัติศาสตร์ไพร่

การลุกขึ้นสู้ของประชาชนที่อาฟริกาตอนเหนือและตะวันออกกลางในช่วงปลายปีที่่ผ่านจนถึงขณะนี้ คือประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของประชาชนแห่งยุคสมัยปัจจุบัน

ภาพการประท้วงกษัตริย์บาร์เรน กุมภาพันธ์ 2554

ประชาชนอียิปต์ลุกขึ้นขับไล่เผด็จการมูบารัค 25 มกราคม 2554 ทั้งประเทศและต่อเนื่อง จนมูบารัคต้องยอมลาออกในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2554

จากศรีปราชญ์ถึงณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ

เราจะเห็นได้ว่า แม้ประวัติศาสตร์มักจะเขียนโดยชนชั้นสูงเพื่อชนชั้นสูงเป็นส่วนใหญ่ มันก็ยังทิ้งเรื่องราวให้เราอ่านระหว่างบันทัดได้อยู่บ้างจากบันทึกเหล่านี้ อาทิ มันได้บันทึกจิตวิญญาณอิสระของมนุษย์คนหนึ่งไว้เช่นกันเมื่อร่วมสี่ร้อยปี ที่ผ่านมา จิตวิญญาณของมหากวีแห่งยุคสมัยพระเจ้านารายณ์ “ศรีปราชญ์” ที่ยิ่งใหญ่จนแม้แต่นักประวัติศาสตร์ราชสำนักก็ไม่อาจไม่บันทึกความยิ่งใหญ่ของเขา ที่ตอบโต้ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมของพระนารายณ์ ที่กล่าวหาศรีปราชญ์ว่า . .

หะหายกระต่ายเต้น   ชมจันทร์
มันบ่เจียมตัวมัน        ต่ำต้อย
นกยูงหางกระสัน       ถึงเมฆ
มันบ่เจียมตัวน้อย     ต่ำต้อยเดียรฉาน

ศรีปราชญ์ย้อนตอบ . .

หะหายกระต่ายเต้น    ชมแข
สูงส่งสุดตาแล           สู่ฟ้า
ระดูฤดีแด สัตว์สู่       กันนา
อย่าว่าเราเจ้าข้า       อยู่พื้นเดียวกัน

การตอบโต้ครั้งนี้ระหว่างศรีปราชญ์ มหากวีแห่งยุคสมัยกับพระสนมของพระนารายณ์ ทำให้เขาติดคุกหลวงและถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราชจนถูกประหารชีวิต ซึ่งเขาได้เขียนบทกลอนในวันประหารชีวิตไว้ว่า . .

ธรณีนี่นี้                     เป็นพยาน
เราก็ศิษย์อาจารย์    หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร  เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง    ดาบนี้คืนสนอง

นี่เป็นบทกวีแห่งเสรีชนเมื่อร่วมสี่ร้อยปีที่ผ่านมา. .

สำหรับการร่วมรำลึก 229 แห่งราชวงศ์จักรี ข้าพเจ้าขอนำคำปราศรัยของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ที่หน้ารัฐสภา เป็นคำปราศรัยที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นคำปราศรัยแห่งประวัติศาสตร์ร่วมสมัย มาบันทึกปิดท้ายบทความ เพื่อเป็นบันทึกแห่งยุคสมัยของหน้าประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้เพื่อ ประชาธิปไตยของประชาชนไทย

เราเกิดบนผืนแผ่นดิน เราโตบนผืนแผ่นดิน เราก้าวเดินบนผืนแผ่นดิน เมื่อเรายืนอยู่บนดิน เราจึงห่างไกลเหลือเกินกับท้องฟ้า … พี่น้องครับ…

เมื่อเรายืนอยู่บนดิน ต้องแหงนคอตั้งบ่า แล้วเราก็รู้ว่า … ฟ้าอยู่ไกล…
เมื่อเราอยู่บนดิน แล้วก้มหน้าลงมา เราจึงรู้ว่า … เรามีค่า เพียงดิน …
แต่ผมแน่ใจว่า … ด้วยพลังของคนเสื้อแดง ที่มันจะมากขึ้น ทุกวัน ทุกวัน ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทุกนาที ทุกนาที

แม้เรายืนอยู่บนผืนดิน แม้เราพูดอยู่บนผืนดิน แต่จะได้ยินถึงท้องฟ้า แน่นอน!

เสียงไชโยโห่ร้องของเราในยามนี้ จากคนที่มีค่าเพียงดิน จากคนที่เกิดและเติบโตบนผืนแผ่นดิน จะได้ยินถึงท้องฟ้า แน่นอน!

คนเสื้อแดง จะบอกดิน บอกฟ้าว่า … คนอย่างข้า ก็มีหัวใจ…!
คนเสื้อแดง จะบอกดิน บอกฟ้าว่า … ข้าก็คือคนไทย…!
คนเสื้อแดง จะถามดิน ถามฟ้าว่า … ถ้าไม่มีที่ยืนที่สมคุณค่า…!
จะถามดิน ถามฟ้าว่า… จะให้ข้าหาที่ยืนเองหรืออย่างไร…!
เสียงไชโยโห่ร้องของคนเสื้อแดง จะได้ยินถึงดิน ถึงฟ้า…!

ไม่มีบทจบไหนจะงดงามและจุดประกายแห่งความหวังของการต่อสู้ให้ได้มาซึ่งสังคม ที่เท่าเทียมและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ยิ่งไปกว่านี้อีกแล้ว ในวาระครบรอบ 229 ปีแห่งรัตนโกสินทร์

จากเวบไซด์กลุ่มนิติราษฎร เมื่อฆวน คาร์ลอสปฏิเสธรัฐประหาร – ปิยบุตร แสงกนกกุล