“ประเทศไทยโชคดีที่มีในหลวง แต่โชคร้ายที่มีประชาธิปไตย”

โดย จรรยา ยิ้มประเสริฐ
9 พฤศจิกายน 2554

วันนี้มีประเด็นให้นำมา แตกหน่อ และนำเสนอเพื่อการถกเถียงอีกประเด็น คือ การตีความลัทธิการเมืองต่างๆ ที่ถกเถียงกันใต้ภาพ “ประเทศไทยโชคดีที่มีในหลวง แต่โชคร้ายที่มีประชาธิปไตย”

ทำให้นึกย้อนไปยังคำกล่าวที่มีชื่อเสียงมากของอดีตประธานาธิบดีแม็คซิโก Porfirio Diaz (1876-1911) ที่ว่า “Poor Mexico, So Far From God, So Close To The United States” หมายความว่า “ประเทศแมกซิโกที่น่าสงสาร อยู่ห่างไกลจากประเจ้าเหลือเกิน แต่อยู่ใกล้อเมริกาเกินไป”

ซึ่งเป็นคำกล่าวที่ขบวนการประชาชนในลาตินอเมริกานำมากล่าวถึงกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ประท้วงการทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ของประเทศลาตินอเมริกากับสหรัฐอเมริกา

พอมานึกถึงสลิ่มที่พูดประโยคนี้  “ประเทศไทยโชคดีที่มีในหลวง แต่โชคร้ายที่มีประชาธิปไตย” ซึ่งเป็นประเด็นที่นำมาซึ่งการถกเถียงอภิปรายกันต่อได้หลายแง่มุม

อาทิข้อถกเถียงที่คู่มากับประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยเมืองไทย คือ “เมืองไทยไม่พร้อมกับลัทธิประชาธิปไตย” หรือมีการนำเสนอว่า ระบบสมบูรณาญาสิทธิราช หรือระบบคอมมิวนิสต์ น่าจะเป็นทางเลือกของเมืองไทยที่ดีกว่าหรือเปล่า? เป็นต้น

ก็เลยขอนำมาแตกประเด็นต่อ เพื่ออธิบายคำจำกัดความลัทธิการเมืองเหล่านี้ ตามความเข้าใจของตัวเอง ทั้งนี้ เป็นการนำเสนอจากมุมมองและข้อคิดเห็นของผู้เขียน โดยไม่ได้ไปเปิดพจนานุกรมฉบับ “ราชบัณฑิตยสถาน” มาใช้ประกอบในการตีความ

สมบูรณาญาสิทธิราช
มาจาก “สมบูรณ์ + อาญา + สิทธิ + ราชา”

หมายถึง อำนาจและสิทธิในการตัดสินใจเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง หรือตัดสินคดีความประชาชน หรือชี้เป็นชี้ตายในสังคม ขึ้นอยู่กับองค์พระมหากษัตริย์แต่เพียงผู้เดียว การเจริญรุ่งเรืองหรือเสื่อมถอยของบ้านเมืองจึงขึ้นอยู่กับพระปรีชาชาญของกษัตริย์

คอมมิวนิสต์
มาจากคำว่า “คอมมูน (ชุมชนหรือสังคมที่คนอยู่ร่วมกัน) + นิสต์ (ผู้นิยม)

หมายความว่า ลัทธิการเมืองของผู้ที่นิยมในการอยู่ร่วมกันเป็นชุมชน ที่ตั้งอยู่บนความเสมอภาค และการใช้ทรัพย์สินส่วนกลางร่วมกัน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ

ในหลักการเป็นสิ่งที่ดีมาก คือ  “ร่วมกันทำ + แบ่งกันกิน + แบ่งกันใช้” ทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่มีชนชั้น ไม่มีอภิสิทธิชน ทุกคนในคอมมูนตัดสินใจร่วมกันในเรื่องกฎกฎิกาการปกครองและแบ่งปันระหว่างกัน

แต่ ณ ถึงปัจจุบัน ยังไม่เคยมีประเทศใด สามารถประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามลัทธินี้ เพราะระบบคอมมิวนิสต์ ท้ายที่สุดก็ต้องขึ้นอยู่กับการวางกฎกติกาตามระบอบ “ประชาธิปไตยที่เคารพเสียงคนทุกคน”

ที่ผ่านมามันล้มเหลวเพราะระบบ ”คอมมิวนิสต์” ถูกนำเสนอผ่านทาง “เผด็จการ และ/หรือกำลังทหาร” และไม่สามารถจัดการการคอรัปชั่น(ทั้งทางอำนาจและทางนโยบาย) ได้ มันจึงถูกเรียกกันในตามผู้นำ อาทิ ระบบเลนินนิสต์ ระบบสตาลินนิสต์ ระบบเหมาอิสต์ ฯลฯ ไป

ประชาธิปไตย
มาจากคำว่า  “ประชา + อธิปไตย”
หมายความว่า ทุกคน มีอธิปไตยเป็นของตัวเอง

แต่เมื่อมาร่วมอยู่ในคนกลุ่มใหญ่หรือคนหมู่มาก หรือในประเทศ จึงจำต้องเคารพกฎกติกา แม้จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทั้งหมดก็ตามในวิถีระบบ “ประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ทุกคนมีสิทธินำเสนอดำรงหรือเสนอแนวคิดในหลักอธิปไตยของตัวเองทั้งทางตรงหรือทางผ่านตัวแทน และในขณะเดียวกันจำต้องรับฟังหรือยอมรับอธิปไตยของคนอื่นๆ ได้บ้าง ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า “เสียงส่วนใหญ่ตัดสิน เสียงส่วนน้อยมีความหมาย”

ท้ายที่สุด ถ้าไม่ได้ยอมรับกันด้วยเหตุผล ก็ต้องยอมรับในการลงมติ แล้วก็หาทางนำเสนอหรือดันเหตุผลที่ตัวเองคิดและเชื่อผ่านกลไกสภาหรือรัฐสภา

ขออนุญาตฉายภาพนี้ซ้ำอีกครั้งหนึ่ง

ทั้งนี้ระบอบประชาธิปไตยยังถูกตีความและพ่วงท้ายมากมาย

อาจจะตีความได้ว่า มันเป็นระบบที่เปิดให้คนถกเถียงมากที่สุด มีเสรีภาพในการตีความมากที่สุด (นี่พูดในแง่บวก และในฐานะของคนที่เลือกระบบประชาธิปไตย)

ประชาธิปไตยทางตรงน่าจะเป็นประชาธิปไตยในอุดมคติมากที่สุด คือ แต่ละคนมาร่วมกันวางกฎ กฎิกา หรือเขียนกรอบรัฐธรรมนูญร่วมกัน แต่มีข้อจำกัดคือไม่คล่องตัวและทำได้ในหน่วยสังคมที่ไม่ใหญ่มากเกินไป

จริงๆ ระบบ อบต. ควรจะเป็นหน่วยสังคมที่ส่งเสริมให้สร้างกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงทั้งในเรื่องการเลือกตั้งและการพิจารณาแผนการทำงานให้มากที่สุด – ถ้าระดับ อบต. เป็นประชาธิปไตยอย่างมากที่สุด กลไกประชาธิปไตยระดับชาติก็จะเข้มแข็งมากขึ้น

ในระดับชาติ เนื่องจากสังคมนั้นใหญ่เกินกว่าจะให้ทุกคนมาร่วมลงคะแนนได้ทุกประเด็น จึงต้องใช้ระบบผ่านตัวแทน หรือพรรคการเมืองตัวแทน “หรือประชาธิปไตยในระบบรัฐสภาตัวแทนประชาชน”

ซึ่งประเด็นนี้ “เป็นหัวใจสำคัญ” การที่จะทำให้ประเทศนั้นเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงหรือผสมเผด็จการ ก็คือการทำให้ระบบ โปร่งใส เคารพกติกา ปราศจากคอรัปชั่น ไม่เผด็จการ เคารพในเสรีภาพ ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมของประชาชน ฯลฯ

ณ ปัจจุบันอีกเช่นกัน แทบจะเรียกได้ว่า มีประเทศที่บอกว่าเป็นระบอบ “ประชาธิปไตย” จำนวนไม่น้อยที่มีสร้อยต่อท้าย โดยเฉพาะประเทศโลกใต้ที่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนทิ้งช่วงห่างมาก (เมืองไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างกันสูงมากถึง 15 เท่า)

ในประเทศเหล่านี้ สถาบันต่างๆ โดยเฉพาะสถาบันทางการเมือง ใช้เล่ห์เลี่ยมระหว่างกันทุกช่องทาง เพื่อผลคะแนนเสียง ทั้งการกีดกั้น ซื้อเสียง ติดสินบน สร้างนโยบายที่ไม่เป็นจริง ตัดแข้งตัดขาคู่แข่ง หรือไม่ยอมให้มีการตั้งพรรคแนวคิดซ้าย (ผลพวงของสงครามเย็น)

รวมทั้งการที่รัฐบาลไม่สามารถจัดการปัญหาคอรัปชั่นที่สูงในทุกสถาบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงเบื่อหน่าย และแสวงหารการเมืองรูปแบบอื่นๆ อาทิ การหวนหาลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราช ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิทหาร และ/หรือลัทธิเผด็จการ เป็นต้น

ดังนั้นเราจึงดูแค่ปรากฎการณ์ทางการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูประวัติศาสตร์ และที่มาที่ไปด้วย . .

ในเมืองไทย พรรคการเมืองเดียวที่อยู่มาได้โดยไม่ถูกยุบจนถึงปัจจุบันคือพรรคประชาธิปัตย์ ที่ก่อตั้ง 6 เมษายน 2489  ก่อนเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ในหลวงอานันท์ 2 เดือน

นับตั้งแต่ปี 2490 เมืองไทยปกครองด้วยพระประมุของค์เดียว (65 ปี) แต่มีนายกรัฐมนตรีถึง 27 คน (นายกที่อยู่นานเป็นจอมพลหรือพลเอกเกือบทั้งหมด ทั้งจอมพล ป. ( 9 ปี) จอมพลสฤษดิ์ (6 ปี) จอมพลถนอม (10 ปี) และพลเอกเปรม (8 ปี)

นายกที่มาจากการเลือกตั้ง จะอยู่กันได้เพียงแค่ ต้นเทอม-กลางเทอม-และปลายเทอม นายกที่มาจากการเลือกตั้งที่อยู่ครบเทอม (ที่ไม่ใช่ทหารที่ขึ้นสู่อำนาจจากผลพวงของการปฏิวัติ) ตลอดรัชสมัย ที่ไม่ถูกรัฐประหารหรือถูกบีบให้ยุบสภาเสียก่อน เห็นจะมีเพียงสมัยทักษิณ 1 (2544-2548) เท่านั้น

ดั้งนั้นการจะดูว่าประเทศเป็น “ประชาธิปไตย” หรือไม่ ก็ต้องเริ่มด้วยการดูว่าระบบการเลือกตัวแทน และสิทธิในการเสนอตัวแทน หรือสิทธิในการจดทะเบียนพรรคเพื่อเป็นตัวแทน นั้นวางอยู่บนกรอบที่ยอมรับสิทธิของทุกคนในการมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือไม่? ด้วยประการนี้และหลายเหตุผลที่กล่าวมา “ประเทศจึงไม่ใช่ประเทศประชาธิปไตยที่แท้จริง”

ปัจจุบันนี้จึงต้องมีขบวนการ “สังเกตุการณ์เลือกตั้งจากประเทศต่างๆ เข้าไปช่วยสอดส่องและดูการเลือกตั้งในประเทศที่ประชาธิปไตยมีปัญหาอยู่ เพื่อร่วมตรวจสอบและกดดันให้กระบวนการประชาธิปไตยในประเทศนั้นโปร่งใส (ในระดับที่ยอมรับได้)

การยอมรับความคิดเห็นหรือทฤษฎีการเมืองที่แตกต่างเป็นหัวใจของประชาธิปไตย

ในปัจจุบัน ประเทศไทยยังอยู่ในภาพความโหดร้ายของการปราบปรามประชาชนที่คิดต่าง  และยังคงหวาดกลัวลัทธิการเมืองฝ่ายซ้าย ที่ถูกอัดฉีดทั้งทางความรุนแรง และการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อล้างสมองกันอย่างบ้างคลั่ง ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีแห่งช่วงสงครามเย็น (ประมาณ 2490 – 2523) และมันได้ถูกถ่ายทอดจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ สู่รุ่นลูกรุ่นหลาน

รวมทั้งกฎหมายเมืองไทยก็กีดกันพรรคสังคมนิยมและพรรคที่มีแนวคิดฝ่ายซ้าย

พรรคคอมมิวนิสต์ ไม่สามารถจดทะเบียนได้ตามกฎหมาย และใครที่ฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ถือว่าทำผิดกฎหมาย (ตามที่ทราบ)

ประเด็นการถกเถียงจึงอยู่ที่ว่า จะทำให้สังคมดำรงไปด้วยกันได้อย่างสันติโดยที่ไม่จำเป็นต้องยอมรับ ไม่จำเป็นต้องรับฟัง หรือไม่จำเป็นต้องเลือกตัวแทนหรือพรรคที่มีแนวคิดที่แตกต่าง แต่ต้องยอมรับว่าแต่ละคนคิดต่างกันได้ ได้อย่างไร?

ผู้คนในสังคมทั้งคนเมืองเทพ และคนชนบทกลางทุ่ง จะตระหนักร่วมกันได้อย่างไรว่า “คนคิดต่างไม่ใช่ศัตรู” ที่จะต้องถูกฆ่าฟันให้ตายไป และพวกเขาไม่มีสิทธิไปข่มขู่ ทำร้าย เข่นฆ่า จับกุม คุมขัง เนรเทศ คนที่ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์หรือคนที่ไม่รักในหลวง ฯลฯ”

เพราะการใช้ความรุนแรง คือ การกระทำของพวก “ลัทธิเหยียดคนอื่น (Racism)” และถ้ารุนแรงมากถึงขั้นปลุกระดมให้คนใช้กำลังทำร้ายกัน หรือสังหารหมู่ มันก็กลายเป็นพวก “ลัทธิคลั่งหัวรุนแรง (Fundamentalism)“ ไป และนี่ก็เป็นประเด็นที่มาของการจำเป็นที่จะต้องหาข้อโต้แย้งด้วยเหตุผลต่อตรรกะมั่วๆ และไร้ความรับผิดชอบ ของสลิ่มกันให้เพิ่มเติมมากขึ้น

ลองเอาคำกล่าวว่า  “ล้านคนก็ล้านความคิด” มาใส่แนวคิดทฤษฎีการเมืองแบบง่ายๆ ดู . .

พวกคลั่ง

ต้องฆ่าคน 999,999 คนให้หมด เพราะฉันคิดถูกอยู่คนเดียว เรามีตัวอย่างที่เลวร้ายมากมาย ขอยกตัวอย่างแค่ 2 คน

  • ฮิตเลอร์ ต้องฆ่ายิวให้หมดทุกคน (ผลคือคนเสียชีวิตเพราะสงครามโลกครั้งที่สองกว่า 40 ล้านคน)
  • สตาลิน ต้องฆ่าพวกเจ้าและอภิสิทธิชนให้หมด (ผลคือคนเสียชีวิตเพราะลัทธิสตาลินกว่า 30 ล้านคน ทั้งถูกสังหารและอดตาย)

เผด็จการ

จะทำยังไงให้ไอ้ล้านคน มันคิดได้แต่ทำไม่ได้ และถ้ามันคิดจะทำจริง จะจัดการอย่างไร (ตั้งแต่ระดับอ่อนไปจนระดับรุนแรงที่สุด)

กษัตริย์

ถ้าความคิดนั้นๆ ไม่อยู่ในขอบเขตที่บันทอนพระราชอำนาจ ก็ปล่อยไปก่อน อย่างน้อยมันยังทำงาน “เข้าเดือน-ออกเดือน” ให้หลวงอยู่ แต่ถ้ากระด่างกระเดื่องเมื่อไร ก็ “เอาไปตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร” หรือส่งกองทัพไปตีเมือง

ทุนนิยม

ฝ่ายไหนเป็นลูกค้าที่สำคัญกว่ากัน เราจะเลือกฝ่ายที่มีอำนาจจ่าย และเราได้กำไรมากที่สุด โดยลงทุนน้อยที่สุด

เสรีนิยม

ฉันไม่สนหรอกว่าคุณจะคิดอย่างไร อย่ามาสนว่าฉันคิดอย่างไรก็พอ

คอมมิวนิสต์

คุณก็ไปหาคอมมูนอื่นที่คิดเหมือนคุณอยู่ไป ถ้าคุณอยู่กับเราไม่ได้  หรือว่าไปสร้างคอมมูนของตัวเอง

ประชาธิปไตย

ผมอาจจะไม่เห็นด้วยกับคุณ แต่ผมจะปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณด้วยชีวิตของผม

ฯลฯ

เมื่อคุณคิดฆ่าคนทั้งโลก เพราะดำรงความถูกต้องของคุณไว้คนเดียว คุณคือพวกคลั่งหัวรุนแรงและเป็นอันตรายต่อมนุษย์คนอื่นๆ ในโลกด้วย

สลิ่มหัวรุนแรงก็จัดอยู่ในกลุ่มคลั่งมากขึ้นเรื่อยๆ  และก็อันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ

คำเตือน

เนื่องจากเป็นการเขียนจากความเข้าใจและการวิเคราะห์ของผู้เขียนเอง ยังไม่ได้ทำการวิจัยอย่างละเอียด ขอให้โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน