(ถอดความจากไลฟ์) คุกสยองแห่งทวีวัฒนา

ติดตามชมวีดีโอต้นฉบับได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=zCAxqP_xwt4

เริ่มก่อตั้งคุกทวีวัฒนา

วังทวีวัฒนานี้สร้างขึ้นในปลายทศวรรษ 2540 โดยมีวัตถุประสงค์ให้เป็นที่ประทับของหม่อมศรีรัศมิ์ ภายหลังมีการสร้างคุกภายในเขตพระราชฐานเพิ่มเติม และมีประกาศจากกระทรวงยุติธรรมให้เป็นเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑลในปี 2555 (รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) มีพืันที่ 30 ตารางวา ภายใต้การควบคุมของเรือนจำคลองเปรม

ที่ตั้งปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่าที่ตั้งของเรือนจำอยู่ในเขตวังทวีวัฒนา แต่ปัจจุบันไม่มีเจ้าหรือหม่อมประทับอยู่ (อย่างเป็นทางการ) ที่วังนี้แล้ว นอกจากนี้ ภายในรั้ววังแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ซึ่งใช้สำหรับอบรม (ล้างสมอง) ข้าราชการหรือนายทหารชั้นผู้ใหญ่

มีเรื่องเล่าด้วยว่าในเขตวังทวีวัฒนา ยังมีเมรุเผาศพ และบ่อจระเข้ ไว้สำหรับทำลายศพ ทั้งยังมีเรื่องของห้องทรมานนักโทษ ซึ่งข่าวลือเช่นนี้ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันได้ว่าจริงหรือไม่

โรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ มีการเปิดรับสมัครทหารราชองครักษ์เพิ่มขึ้นอีก 4-5 พันนาย ทำให้หน่วยทหามหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์เข้มแข็ง และมีอิทธิพลขึ้นอย่างมาก

ในช่วงปลายสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ได้มีคำประกาศแต่งตั้งฉบับสุดท้ายที่เป็นคำสั่งแต่งตั้งสุทิดา ให้เป็นผู้บังคับการโรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ โรงเรียนแห่งนี้มีความสำคัญต่อฐานอำนาจของกษัตริย์ เพราะใช้เป็นที่อบรมสั่งสอนทหาร และข้ารับใช้ทุกคนที่จะเข้ามาทำงานใกล้ชิดกับกษัตริย์

ราชินีบอดี้การ์ด

เริ่มต้นในปี 2553 จากตำแหน่งนายทหารยุทธการ ภายใน 4 ปีจากพันตรีสู่พลตรีในตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ โดยที่ผ่านการฝึกในโรงเรียนนี้ด้วยตัวเอง ทำให้เธอมีอำนาจในโรงเรียนแห่งนี้ และเหล่าทหารที่ได้รับการอบรมจากโรงเรียนแห่งนี้มาก และในปี 2560 ก็ได้เป็นถึงพลเอกพิเศษอย่างรวดเร็ว

การฝึกที่เข้มงวด

การฝึกฝนในโรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์มีเสียงร่ำลือว่าเข้มงวดมาก และที่น่าทึ่งคือเราสามารถเห็นภาพการฝึกฝนได้จาก Google map ซึ่งเป็นภาพถ่ายได้จากดาวเทียม เราจะเห็นทหารจำนวนสองกองที่กำลังตั้งแถวอยู่ กองที่เล็กกว่าทางด้านขวามือดูจะเป็นระเบียบกว่ามาก ซึ่งคาดว่ากองเล็กนี้คือนายทหารยศสูงที่ถูกส่งมาฝึกพิเศษ

ในหลักสูตรสามเดือนสำหรับทหารชั้นผู้ใหญ่ จะมีคู่มือการฝึกสี่เล่มที่ได้รับคำแนะนำจาก ร.10 ตั้งแต่สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งเจ้าฟ้า ในปัจจุบันคู่มือฝึกสี่เล่มนี้ถูกนำไปบังคับใช้กับโรงเรียนตำรวจ และทหารเหล่าทัพอื่นด้วย

นี่แสดงให้เห็นว่ากษัตริย์ไทยนั้นให้ความสนใจกับการทหารมาก แต่น่าเสียดายที่เขาไม่มีความสนใจให้กับงานด้านอื่นเลย และไม่แยแสด้วยซ้ำว่าประชาชนไทยต้องการอะไร แม้แต่ราชินีที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งก็ยังขึ้นมาดำรงตำแหน่งควบคุมกองกำลังทหาร

เส้นทางลัดสู่การเลื่อนยศ

ไม่ใช่แค่เหล่าสาวๆ ที่ได้รับการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็ว แต่ยังรวมถึงบรรดาทหารคนโปรดที่กษัตริย์อยากจะแต่งตั้งหรือถอดยศอะไรเมื่อไหร่ก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องทำตามขั้นตอนราชการที่มีระเบียบกำหนดทั่วไป ดังที่เราได้เห็นจากพระราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งพลตรี พิชิต อ่อนอินทร์ ให้เลื่อนเป็นพลโท ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการโรงเรียนทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ตำแหน่งเก่าของราชินีนุ้ย) โดยอาศัยความตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 15 ที่อนุญาตให้การจัดระเบียบราชการในพระองค์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย (แต่ตั้งหรือถอดยศตามใจชอบ) ประกอบกับพระราชบัญญัติดังนี้

  1. มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์พ.ศ. 2560 การจัดระเบียบบริหารราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย
  2. มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์พ.ศ. 2560 งานต่างๆ ที่เคยรับผิดชอบโดยสำนักพระราชวัง กรมราชองครักษ์ ทหารรักษาพระองค์ ตำรวจราชสำนัก เมื่อโอนมาเป็นส่วนราชการในพระองค์ ให้ดำเนินการต่อไป
  3. มาตรา 10 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์พ.ศ. 2560 ข้าราชการในพระองค์ได้แก่ข้าราชการดังต่อไปนี้ (๑)
    1. องคมนตรี
    2. ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายพลเรือน
    3. ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายทหาร
    4. ข้าราชการในพระองค์ฝ่ายตํารวจ
  4. มาตรา 13 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์พ.ศ. 2560 เว้นแต่ข้าราชการในพระองค์ในตําแหน่งองคมนตรี การให้ข้าราชการในพระองค์ผู้ใดปฏิบัติงานในส่วนราชการในพระองค์หน่วยใด และดํารงตําแหน่งใด รวมทั้งการโอนการย้าย และการให้พ้นจากตําแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้จะทรงกําหนดหรือทรงมอบหมายให้ข้าราชการในพระองค์ผู้ใด เป็นผู้ลงนามในคําสั่งเกี่ยวกับการดํารงตําแหน่งของข้าราชการในพระองค์ดังกล่าวก็ได
  5. มาตรา 15 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์พ.ศ. 2560 การดําเนินการเกี่ยวกับราชการในพระองค์และการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย เพื่อการนี้จะทรงกําหนด หรือทรงมอบหมายให้ข้าราชการในพระองค์ผู้ใด เป็นผู้ลงนามในหมายรับสั่งเพื่อรับผิดชอบในการนําไปปฏิบัติต่อไปก็ได้
  6. มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติยศทหารพุทธศักราช 2479 ผู้ใดจะเป็นทหารสัญญาบัตรยศชั้นใดได้นั้น จะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้น เว้นแต่ผู้ที่มียศเป็นทหารสัญญาบัตรอยู่แล้วรับราชการประจําในสังกัดใหม่กองทัพใด หากยศไม่ตรงกับสังกัดกองทัพนั้น ก็ให้มียศตามกองทัพที่สังกัดใหม่ในชั้นเดียวกับยศเดิมได้ ตั้งแต่วันที่มีคําสั่งให้รับราชการประจําในสังกัดใหม่
  7. มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติยศทหารพุทธศักราช 2479 ผู้ใดที่จะเป็นทหารสัญญาบัตรนั้นต้องเป็นผู้ที่มีวิทยฐานะตามที่กระทรวงกลาโหมกําหนดไว้ เว้นแต่ผู้ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพิเศษ

จะเห็นได้ว่านี่คือช่องทางที่เปิดทางให้เกิดการแต่งตั้งผ่านเส้นทางลัดมากมาย โดยที่ผู้เข้ารับตำแหน่งไม่จำเป็นต้องมีความรู้ความสามารถ หรือเหมาะสมกับตำแหน่งใหม่เลย ขอเพียงแค่เป็นคนโปรด จะไปอยู่ที่ไหน ตำแหน่งใด กินเงินเดือนเท่าไหร่ จะควบกี่ตำแหน่งก็ได้ “ตามพระราชอัธยาศัย” และคนพวกนี้ก็ได้กระจายตัวไปควบคุมหน่วยงานสำคัญต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว

สมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เริ่มขึ้น(อีกครั้ง)

ไม่สำคัญว่าเราจะเชื่อว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เพราะตอนนี้หน่วยงานราชการถูกรวมศูนย์อำนาจไว้ที่กษัตริย์ และคนใกล้ชิดของเขาหมดแล้ว ทหารทั้งสามเหล่าทัพ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และแม้แต่ตำรวจ ก็ตกอยู่ภายใต้พระเดช และพระคุณ เพราะพวกเขาถูกแต่งตั้ง และปรนเปรอด้วยยศ พร้อมทรัพย์สินมหาศาล และหากทำงานพลาด จะถูกลงโทษอย่างหนักหนาสาหัส และคุกทวีวัฒนาก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พระเดชส่วนนี้อยู่มาก

บรรดาคนใกล้ชิดของวชิราลงกรณ์ก็ได้ขยายอำนาจภายในครอบครัวเช่นกัน อย่างเช่นตระกูลภูริเดช จักรภพ ภูริเดช  (เริ่มต้นอาชีพทหารในกองทัพอากาศ แต่ปัจจุบันกลายเป็นทหารบก เพื่อดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์) น้องชายของจักรภพชื่อ จิรภพ ภูริเดช ก็เป็นผู้บังคับการกองปราบปราม ส่วนน้องเขย ชื่อ ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ก็เป็นรองผู้บัญชาการทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

นอกจากตระกูลภูริเดชแล้ว ยังมีกลุ่มของสุขวิมล (สถิตย์พงศ์ สุขวิมล และ ต่อศักดิ์ สุขวิมล) ที่น่าจับตามอง ทั้งนี้นายทหารคนสนิทไม่ได้เพียงทำหน้าที่รับใช้ในส่วนของการทหารหรือตำรวจเท่านั้น แต่ยังเข้าไปเป็นนอมินีในการควบคุมกิจการส่วนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ดังที่เราจะได้เห็นจากรายชื่อกรรมการบริษัทเอกชนที่มีนายทหารเข้าไปเป็นกรรมการ และผู้ถือหุ้นอยู่มากมาย เช่น “สถิตย์พงศ์ สุขวิมล” “สมชาย กาญจนมณี” “ปวิตร รุจิเทศ” “ธรรมนิธิ วนิชย์ถนอม” “ภักดี แสง-ชูโต” (อ่านเพิ่มเติมที่นี่)

วังทวีวัฒนามีความสำคัญในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมของเหล่าทหารที่จะมารับใช้ใกล้ชิดวชิราลงกรณ์ เพื่อให้ซึมซับแนวคิดที่จะปกป้องและถวายความจงรักภักดีให้กับกษัตริย์ จะเห็นได้ว่าทหารยศใหญ่ๆ ที่คุมกองกำลังอยู่ในปัจจุบันล้วนผ่านการฝึกหลักสูตรพิเศษสามเดือนในค่ายทวีวัฒนามาแล้วทั้งสิ้น

แม้ว่าจะมีทหารที่ขึ้นตรงกับหน่วยทหารรักษาพระองค์จะมีมากถึง 7 หมื่นนาย แต่การที่กษัตริย์แต่งตั้งคนของตัวเองมาคุมกองทัพบกก็ทำให้หน่วยทหารบกทั้งประเทศถูกควบคุมโดยกษัตริย์ได้เช่นกัน

หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ออกมาเพียงไม่ถึงหนี่งเดือน พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ก็ถูกออกตามมาในเดือนเดียวกัน โดยรวมเอากองกำลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทหารตำรวจรักษาพระองค์ และราชสำนัก รวบมาไว้เป็นข้าราชการในพระองค์ที่จะควบคุม แต่งตั้ง ปลดออกได้ตามใจ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนหรือการตรวจสอบใดๆ จากกระทรวงหรือกรมแต่เดิม

ปัจจุบันมีข้าราชการในพระองค์ทั้งสิ้นเกือบ 9 พัน 5 ร้อยคนที่ไม่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายหากกษัตริย์จะสั่งให้ลงโทษ (เพราะมีพรบ.ระเบียบบริหารราชการครอบคลุมไว้) หรือนำไปขังไว้ในคุกวังทวีวัฒนา โดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่อาจจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือหรือตรวจสอบได้เลย โดยตอนนี้ข่าวจากในวังคือ การลงโทษวินัยข้าราชบริพาร ก็คือการส่งไปที่คุกวังทวีวัฒนาสถานเดียว

ตัววังทวีวัฒนาเองก็ใช้งบประมาณสูงมาก มีการปรับปรุง แต่งเติม ก่อสร้างอยู่ตลอดทุกปี และงบประมาณก็สูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่มีใครสามารถตรวจสอบได้ ภายในวังถูกล้อมรอบด้วยรั้วไฟฟ้า และมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ให้ติดต่อภายนอกไม่ได้ สภาพของวังทวีวัฒนาจึงไม่ต่างกับคุก

นักโทษการเมือง

ในปัจจุบันจำนวนผู้ต้องขังด้วยข้อหาคดีการเมืองมีอยู่กว่าสามพันราย โดยที่รายงานของผู้ต้องขังคดี 112 ไม่ปรากฎข้อมูลในเวบไซต์ของกรมราชทัณฑ์ราวกับจงใจปิดบัง (รายงานคดีอื่นมีข้อมูลเผยแพร่ถูกต้อง) นี่แสดงให้เห็นความมืดดำของกระบวนการยุติธรรม ที่เกิดขึ้นกับผู้คนที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม

คนกลุ่มแรกๆ ที่เป็นที่รู้จัก และถูกคุมขังที่เรือนจำทวีวัฒนาคือคนที่ใกล้ชิดอดีตหม่อมศรีรัศมิ์ เช่น มนตรี โสตางกูร และกลุ่มคนที่รับใช้ ร.9 อย่างตระกูลวัชโรทัย ไม่เพียงแค่ทหารหรือข้าราชการยศสำคัญ ทหารยศเล็ก หรือประจำการอยู่ไกลเมืองหลวง หากทำให้กษัตริย์ขุ่นเคืองใจก็ถูกส่งมาลงโทษที่คุกทวีวัฒนาได้เช่นกัน บางคนก็เสียชีวิตระหว่างถูกลงโทษก็มี เช่น พันโท กฤษณพล โภชนดา

ในหลายๆ กรณี สาเหตุหรือคดีที่ก่อให้เกิดการลงโทษหนัก ก็เป็นเพียงแค่คดีเล็กๆ แต่ขัดใจวชิราลงกรณ์ โดยที่ข้าราชบริพารรอบตัวก็ไม่กล้าเอ่ยเตือน เพราะกลัวจะตกเป็นนักโทษเช่นคนเหล่านี้

จุมพล มั่นหมายก็เป็นอีกคนที่ถึงแม้จะมีตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง และเป็นถึงอดีตรอง ผบ.ตร. แต่เขามีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับทักษิณ ชินวัตร เขาจึงกลายเป็นเพียงหมากตัวหนึ่งที่ถูกลงโทษเพื่อเป็นสัญญาณให้ทักษิณเห็นว่าเครือข่ายของเขาถูกทำลายล้างหมดแล้ว  สุดท้ายนี้เราขอทิ้งท้ายไว้กับปฎิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่วชิราลงกรณ์ละเมิดแทบจะทุกข้อ